ย้อนดู ธงชาติไทย ตั้งแต่ อดีต - ปัจจุบัน


ย้อนดู ธงชาติไทย ตั้งแต่ อดีต - ปัจจุบัน

คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันที่ 28 ก.ย. ของทุกปีเป็นวันพระราชทานธงชาติไทย และกำหนดให้เชิญและประดับธงชาติในวันดังกล่าวเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ ใน รัชกาลที่ 6 ที่ทรงพระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย

เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 59 ครม.มีมติเห็นชอบให้วันที่ 28 ก.ย.ของทุกปี เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย และกำหนดให้เชิญและประดับธงชาติในวันดังกล่าว เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ที่ทรงพระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของไทย

การประกาศให้เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day) จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2560 เป็นวันแรก โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ รวมทั้งกำหนดให้มีการชักธงและประดับธงชาติไทยในวันดังกล่าวด้วย เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

วิวัฒนาการของธงชาติไทย ในอดีตไทยเคยใช้ธงชาติหลายรูปแบบ แต่หลักฐานเริ่มตั้งแต่ก่อนปี 2325 ไทยเคยใช้ธงพื้นแดงเป็นสัญลักษณ์ เพื่อติดต่อการค้าตั้งแต่สมัยอยุธยา จากนั้นวิวัฒนาการของธงชาติไทย เริ่มเปลี่ยนรูปแบบมาจนถึงปี 2394 เริ่มใช้ช้าง สัตว์คู่บ้านคู่เมืองมาเป็นสัญลักษณ์ ปี 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2460 ลงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 โดยเรียกว่า "ธงไตรรงค์"ซึ่งการพระราชทานธงชาติไทย สะท้อนถึงความเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย ทั้งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์



ธงแดงเกลี้ยง สำหรับใช้เป็นที่หมายของเรือสยามโดยทั่วไป นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

ย้อนดู ธงชาติไทย ตั้งแต่ อดีต - ปัจจุบัน

"ธงช้างเผือก" ธงชาติสยามในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2398)

ย้อนดู ธงชาติไทย ตั้งแต่ อดีต - ปัจจุบัน

ธงไตรรงค์ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2460 เป็นต้นมา

*****************

ทั้งนี้ ธงไตรรงค์ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน แบ่งด้านยาวเป็น 5 แถบ แถบตรงกลางเป็นสีน้ำเงินแก่กว้าง 2 ส่วน ถัดจากแถบสีน้ำเงินแก่ทั้งสองข้างเป็นสีขาว กว้างข้างละ 1 ส่วน และต่อจากแถบสีขาวทั้งสองข้างเป็นแถบสีแดงกว้างข้างละ 1 ส่วน

ในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงกำหนดความหมายของสีธงไตรรงค์แบบไม่เป็นทางการในพระราชนิพนธ์ เรื่อง เครื่องหมายแห่งไตรรงค์ไว้ว่า สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีให้แก่ชาติ, สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา, และสีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์

ต่อในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯให้มีบันทึกเรื่องธงชาติ โดยให้ยึดเอาธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทยตั้งแต่นั้นมา และเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนกับต่างประเทศ และเพื่อที่ไม่ต้องเปลี่ยนธงชาติบ่อยๆ จึงกำหนดความหมายธงไตรรงค์ให้ชัดเจน ไว้ดังนี้ สีแดง หมายถึง ชาติ (ประชาชน), สีขาว หมายถึง ศาสนา (ไม่เน้นศาสนาใดเฉพาะ), สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์

ปัจจุบันทั่วโลก มี 54 ประเทศ ที่กำหนดให้มีวันธงชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร รัสเซีย และในอาเซียนเพื่อนบ้านของไทยมี ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งการกำหนดวันธงชาติของต่างประเทศ ล้วนอิงกับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ การสร้างชาติของแต่ละประเทศ สอดคล้องกับในอดีตของประเทศไทยซึ่งเคยใช้กลวิธีนี้ในการสร้างความสามัคคีของคนในชาติ เช่น สมัยจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ที่ได้ส่งเสริมความเป็นชาตินิยม


Cr::::: news.voicetv.co.th

ย้อนดู ธงชาติไทย ตั้งแต่ อดีต - ปัจจุบัน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์