ป่วยแต่ไม่ทุกข์ (ก็ยังได้)

ป่วยแต่ไม่ทุกข์ (ก็ยังได้)



"ใจ เป็นนาย กายเป็นบ่าว" ภาษิตบทนี้คนไทยแต่ก่อนคุ้นเคยกันดี แต่คนสมัยนี้ชักจะลืมแล้ว ยิ่งกว่านั้นบางคนถึงกับค้านว่า ถ้าถูกตีหัว แล้วทำใจไม่ให้เจ็บจะได้ไหม



ป่วยแต่ไม่ทุกข์ (ก็ยังได้)



ถ้าตอบลอยๆ ว่า "ได้" ก็ดูจะง่ายเกินไป คงไม่ค่อยมีใครเชื่อเท่าไร แต่ข่าวคราวเมื่อเร็วๆ นี้เป็นหลักฐานยืนยันว่า ความเจ็บนั้นอยู่ที่ใจเป็นสำคัญ ถ้าใจไม่สนใจความเจ็บ แผลที่กายก็ทำอะไรไม่ได้หรือทำได้น้อยมาก


ข่าวคราวที่ว่าไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับการทิ่มแทงตัวเองในประเพณีกินเจที่ภูเก็ต แต่เป็นเรื่องการทดลองรักษาผู้บาดเจ็บเพราะไฟไหม้ในต่างประเทศ เป็นที่รู้กันดีว่า ความน่ากลัวประการหนึ่งของแผลไฟไหม้ก็คือ ความรู้สึกปวดแสบปวดร้อน ซึ่งสร้างความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วยมาก ทุกวันนี้ปัญหานี้ยังแก้ไม่ตก แม้จะผลิตยาระงับปวดมาหลายขนานแล้วก็ตาม ก็ไม่สามารถบรรเทาปวดได้อย่างชะงัด


แต่ไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์ผู้หนึ่งลองใช้วิธีใหม่ แทนที่จะคิดค้นตัวยาที่ควบคุมแทรกแซงระบบประสาท หรือการส่งข้อมูลความเจ็บปวดไปที่สมอง เขาหันมาทำงานกับจิตของผู้ป่วย โดยเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ป่วยไปยังภาพที่ทำให้รู้สึกเย็นสบายและเพลิดเพลิน วิธีการก็คือให้ผู้ป่วยใส่แว่นคอมพิวเตอร์ แว่นนี้จะทำให้ผู้ป่วยเห็นภาพเหมือนจริงจากจอคอมพิวเตอร์ราวกับอยู่ในเหตุการณ์จริงๆ ภาพเหมือนจริงที่ว่าก็คือภาพภูเขาซึ่งปกคลุมไปด้วยหิมะ ใช่แต่เท่านั้น ภาพนั้นยังเคลื่อนไหวขึ้นอยู่กับการควบคุมคันบังคับในมือของผู้ป่วย แว่นนี้สามารถทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกราวกับกำลังเล่นสกีหิมะ อยู่ในบรรยากาศที่เย็นเฉียบ



ป่วยแต่ไม่ทุกข์ (ก็ยังได้)




ผลที่เกิดขึ้นก็คือความรู้สึกปวดแสบปวดร้อนจากแผลไฟไหม้ลดลงไปมาก ยิ่งกว่านั้นแผลยังหายเร็วกว่าปกติ กรณีนี้น่าสนใจก็เพราะว่า สมองของผู้ป่วยยังรับรู้ความเจ็บปวดอยู่ เพราะระบบประสาทยังถ่ายทอดความเจ็บปวดเหมือนเดิม แต่ตัวผู้ป่วยกลับรู้สึกเจ็บปวดน้อยมาก นั่นเป็นเพราะใจของผู้ป่วยไปสนใจกับสิ่งที่น่าเพลิดเพลิน พูดง่าย ๆ คือ ใจไม่มีที่ว่างให้ความเจ็บปวดแทรกเข้ามาได้ จะเรียกว่าจิต "วาง" ความเจ็บปวดเอาไว้ชั่วคราวก็ได้


การระงับปวดด้วยการแก้ที่ใจ แทนที่จะไปจัดการกับระบบประสาท (หรือมิติทางกายภาพ) เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับการแพทย์แผนใหม่ แม้วิธีระงับปวดด้วยแว่นคอมพิวเตอร์จะแพงและไม่สามารถเอาไปใช้ให้แพร่หลายได้ แต่มันก็มีคุณค่าอย่างมากตรงที่ชี้ว่า สุขภาวะกับจิตใจนั้นเป็นเรื่องที่ไม่อาจแยกจากกันได้ ความเกี่ยวโยงนั้นไม่ได้อยู่ตรงที่จิตใจอาจเป็นสาเหตุแห่งความเจ็บป่วยเท่านั้น แม้แต่ความทุกข์จากความเจ็บป่วยก็ยังขึ้นอยู่กับจิตใจด้วย นั่นหมายความว่าถึงจะป่วย (กาย) แต่ไม่ทุกข์ (ใจ) ก็ได้ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ผู้ป่วยมะเร็งเป็นอันมาก มีความสุขมากกว่าคนปกติเสียอีก


ทุกวันนี้มีความเจ็บป่วยมากมายหลายชนิดที่ยังรักษาให้หายไม่ได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าแพทย์จะ "จนตรอก" ยังมีบางสิ่งที่แพทย์ทำได้บางสิ่งที่ว่านี้ ไม่ได้หมายถึงการยืดลมหายใจของผู้ป่วยท่ามกลางความทุกข์ทรมาน ที่สำคัญกว่านั้นก็คือช่วยให้เขาไม่ทุกข์ ด้วยการใส่ใจกับจิตใจของเขา หรือสนับสนุนให้เขาสามารถดูแลจิตใจตนเองได้ จนความเจ็บป่วยทางกายทำอะไรเขาไม่ได้.




สนับสนุนข้อคิดนานาสาระ:
โดย พระไพศาล วิสาโล



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์