โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis)

 


 



 


โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) และอาการของโรค

ท่านทราบหรือไม่ว่า มีเด็กไทยที่อายุต่ำกว่า 14 ปี จำนวน 9 – 16 คนในทุก ๆ 100 คนเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่เรียกว่า Atopic Dermatitis ซึ่งโดยทั่วไปประมาณ 50% ของผู้ป่วยจะมีอาการเห่อครั้งแรกภายในขวบปีแรกและประมาณ 80 – 90 % ของผู้ป่วยจะมีอาการเห่อครั้งแรกภายใน 5 ขวบปีแรก โชคดีที่ความรุนแรงของอาการต่าง ๆ จะดีขึ้นเมื่อเด็กเติบโตขึ้น อย่างไรก็ตาม ประมาณหนึ่งในสามของผู้ป่วยจะมีอาการของโรคต่อเนื่องจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่


สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่ากรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้อง เด็กที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังประมาณ 50% มีโอกาสที่จะเป็นโรคหอบหืดต่อไป (โดยเฉพาะเด็กที่มีอาการของโรครุนแรง) และประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยจะเป็นโรคแพ้อากาศร่วมด้วยเมื่อเด็กโตขึ้น

ผื่นของโรคนี้มักจะขึ้นอย่างสมดุล ซ้าย – ขวา ในเด็กทารกจะพบผื่นอักเสบบริเวณแก้ม ลำคอ บริเวณด้านนอกของแขนและขาทั้ง 2 ข้าง ในเด็กอายุหลัง 2 – 3 ขวบขึ้นไปจะพบผื่นอักเสบกระจายบริเวณลำตัวข้อพับแขน ข้อพับขาทั้ง 2 ข้าง ส่วนในผู้ใหญ่จะพบผื่นอักเสบบริเวณมือและเท้า และผื่นมักไม่รุนแรงเท่าในเด็ก


 



การรักษาและการบรรเทาอาการ

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค รวมทั้งโรคนี้เป็นโรคผิวหนังอักเสบแบบเรื้อรัง ปัจจุบันจึงยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แนวทางการรักษาจึงเป็นการรักษาผิวหนังที่อักเสบให้กลับมาเป็นผิวหนังที่ปกติและป้องกันการเห่อช้ำของผื่น ด้วยการรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนังอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน เพราะจะทำให้ผิวยิ่งแห้งและยิ่งคัน ใช้สบู่อ่อน ๆ หรือเลือกสบู่ที่มีส่วนผสมของไขมันมากหน่อย หลังอาบน้ำควรใช้โลชั่นบำรุงผิวทาภายใน 3 นาที และต้องใช้เป็นประจำ ส่วนเสื้อผ้าควรเลือกที่ทำจากใยฝ้าย ไม่ควรใช้ใยสังเคราะห์ หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นการเห่อของผื่น เช่น ความเครียด ความร้อนหรือความเย็นมากเกินไป ไรฝุ่น อาหารบางชนิด เช่น นม ไข่ ถั่วลิสง หากสังเกตว่าปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผื่นเป็นมากขึ้น

หากมีอาการของผื่นอย่างรุนแรงอาจใช้ยาทาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ แต่ไม่ควรใช้ต่อเนื่องนาน ๆ เพราะอาจมีผลข้างเคียง เช่น ผิวบาง ผิวแตกลายงา หรือมีผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้เมื่อยาถูกดูดซึมเข้าไปมาก ๆ เช่นกดการเจริญเติบโตของเด็ก เมื่ออาการของผื่นทุเลาลงควรเปลี่ยนมาใช้ยากลุ่มที่ไม่ไช่ สเตียรอยด์ เช่น Calcineurin Inhibitors แทน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการผื่นระดับน้อยถึงปานกลาง แต่ถ้ามีการติดเชื้อมีตุ่มหนอง คราบน้ำเหลือง ควรรักษาด้วยยาปฎิชีวนะ ซึ่งควรให้แพทย์เป็นผู้ตัดสินใจ อาจใช้ยาแก้แพ้ชนิดรับประทานเพื่อบรรเทาอาการคันร่วมด้วย



การป้องกันการกำเริบของผื่นอักเสบ (เห่อ)

ในรายที่เป็นเรื้อรังและมีการเห่อซ้ำบ่อย ๆ อาจทายากลุ่ม Calcineurin Inhibitors เมื่อเริ่มมีอาการและอาการแสดงของผื่นภูมิแพ้ผิวหนังปรากฏขึ้นเช่น ผิวหนังแห้งตึง คันยุบ ๆ ยิบ ๆ มีอาการแสบ ๆ คัน ๆ ซึ่งจะช่วยหยุดหรือทำให้ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังลามช้าลง และลดหรือป้องกันการกำเริบของผื่น (อาการเห่อ) ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการควรคุมโรคระยะยาวดีขึ้น

ปัจจุบันทางเลือกใหม่ในการรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่ไม่ใช่ยาทาสเตียรอยด์ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคภูมิแพ้ โรคผิวหนัง หรือกุมารแพทย์



 



ข้อมูลอ้างอิง
1. Ellis C and Luger T. International Consensus Conference on Atopic Dermatitis II [ICCAD II]: clinical update and current  treatment strategies. British Journal of Dermatology 2003;148 [Suppl.63]:3-10
2. Vitchyanond P et al. Prevalence of asthma, rhinitis and eczema in children from the Bangkok area using the ISAAC [International Study for Asthma and Allergy in Children] questionnaires. J Med Assoc Thai 1998;81:157-84
3. 
www.eczema.org


 


 


 


ภาพจาก Virtual Children's Hospital


 


อ้างอิงจาก http://www.vibhavadi.com/web/health_detail.php?id=72


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์