ประกาศ 8 ทีมรถอัจฉริยะไร้คนขับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย  ภาควิชาเมคาโทรนิคส์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) และสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย จัดการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย จัดขึ้นเป็นครั้งที่สอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความคิด สร้างสรรค์ และความชำนาญ ในสาขาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและยานยนต์ ตลอดจนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว และสนับสนุนการทำกิจกรรมนอกหลักสูตร เตรียมความพร้อมให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทย ในการทำโครงการรถอัจฉริยะ
 
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับรายชื่อ 8 ทีมสุดยอดรถอัจฉริยะไร้คนขับ ที่ผ่านการแข่งขันรอบคัดเลือก
ได้แก่ 1.ทีมพลาสม่า ไอวี (Plasma IV) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รถวิ่งได้ระยะทาง 1,721.70 เมตร และเป็นทีมเดียวที่สามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ทั้ง 4 จุด 2.ทีมปา-ปา-ย่า (PA-PA-YA) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) รถวิ่งได้ระยะทาง 1,828 เมตร และสามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ 2 จุด 3.ทีมดาร์คฮอร์ส (Darkhorse) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รถวิ่งได้ระยะทาง 306.50 เมตร 4.ทีมเรียล (Real) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รถวิ่งได้ระยะทาง 279 เมตร
 
สำหรับอีก 4 ทีมที่เหลือที่ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้าย ประกอบด้วย 5.ทีมซิกแซ็ก (Zigzag)  มหาวิทยาลัยขอนแก่น รถวิ่งได้ระยะทาง 223.87 เมตร 6.ทีมเอ็มยูที ออโต้บ็อต (MUT Autobot) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร รถวิ่งได้ระยะทาง 143.60 เมตร 7.ทีมอไรว์ (Arrive) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รถวิ่งได้ระยะทาง 143.40 เมตร และ 8.ทีมบาร์ท แล็บ: เวฮิคูลัม (Bart Lab: Vehiculum) มหาวิทยาลัยมหิดล รถวิ่งได้ระยะทาง 117.10 เมตร โดยทีมรถอัจฉริยะไร้คนขับเหล่านี้ได้รับเงินสนับสนุนทีมละ 50,000 บาท เพื่อนำไปพัฒนาประสิทธิภาพของรถอัจฉริยะไร้คนขับ ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 4 มิ.ย.2551
 
นายมนูกิจ พานิชกุล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ ประเทศไทย 2551 กล่าวว่า จากผลของการแข่งขันในรอบคัดเลือกพบว่า ความสามารถของรถอัจฉริยะของนักศึกษาได้มีการพัฒนาขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเทียบกับผลของการแข่งขันปีที่แล้ว ทุก ๆ ทีมบังคับรถให้วิ่งเองแบบอัตโนมัติจริง ๆ คณะกรรมการได้คัดเลือก  8 ทีม ที่มีความสามารถสูงสุด เพื่อเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ 
 
ปธ.คณะกรรมการจัดการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ ประเทศไทย 2551 กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามสำหรับทีมที่อยู่ ในลำดับ 9 ถึง 15 ที่ได้มุ่งมั่นและแสดงการบังคับรถแบบอัตโนมัติ แต่ไม่สามารถทำระยะทางได้ดีเท่า 8 ทีมก่อนหน้านี้ คณะกรรมการได้มีมติเป็นเอกฉันท์เพื่อที่จะให้โอกาส 7 ทีมดังกล่าวได้มาพิสูจน์ฝีมืออีกครั้งหนึ่ง ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศด้วย พร้อมได้สนับสนุนเงินเพื่อพัฒนารถอัจฉริยะไร้คนขับ ทีมละ 10,000 บาท

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า กติกาการแข่งขันในรอบคัดเลือกปีนี้ เพิ่มความท้าทายแก่ผู้เข้าแข่งขัน โดยมีการเพิ่มความเร็วสูงสุดของรถจากเดิม 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และ เพิ่มระยะทางจากเดิม 1,100 เมตร เป็น 1,800 เมตร ที่สำคัญรถ ต้องสามารถบรรทุกผู้โดยสารจำลอง ที่มีน้ำหนักประมาณ 60 กิโลกรัมได้ ขณะที่รถเคลื่อนที่ นอกจากนี้อุปกรณ์ที่ติดตั้งในรถอัจฉริยะไร้คนขับ ยังเปิดกว้างมากขึ้นทั้งตัวเซ็นเซอร์ อุปกรณ์ควบคุมและรถที่ใช้แข่งขัน โดยผู้ประดิษฐ์รถสามารถตัดสินใจเลือกได้เองแทบทั้งหมด หลายๆ ทีมได้นำรถจริงมาดัดแปลง พร้อมทั้งมีการใช้เซนเซอร์ไฮเทค เช่น เรดาร์ กล้อง เลเซอร์ จีพีเอสความแม่นยำสูง เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้มีทั้งแบบแล็ปทอป แบบตั้งโต๊ะคอมพิวเตอร์อุตสาหกรรมรวมทั้งคอมพิวเตอร์แบบฝังตัว เป็นต้น

เเหล่งที่มา http://www.thaigoodzone.com

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์