ธรรมะ กับ ความรัก


ธรรมะ กับ ความรัก

มีข่าวมากมาย ที่น่าเศร้าใจ น่าหดหู่ใจ อันเกี่ยวเนื่องกับความรัก เรา..จะทำอย่างไรให้มีความสุขกับความรัก ทำอย่างไรให้ความรักนั้นไม่นำมาซึ่ง..ความทุกข์

ธรรมะ คำสอนทั้งหมด จาก สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างมาก และได้ถูกแปลความจากพระสงฆ์ ผู้ศึกษา ผู้ปฏิบัติ ทำให้เกิดคำคมที่แฝงพระธรรม วันนี้ เรา..ขอนำ คำคมธรรมะ ข้อคิด ข้อเตือนจิตใจ ที่จะทำให้เราเข้าใจ

และนำมาปฏิบัติ ให้คู่กับคำ ที่เราเรียกว่า “ความรัก” (◡‿◡✿)

ขอเริ่มต้น ธรรมะ กับ ความรัก จาก ท่าน ว. วิชรเมธี


ธรรมะ กับ ความรัก


 จากคำคมของท่าน ทำให้เราได้เห็นถึง แนวทางของความรัก..... รักโดยไม่ครอบครอง นี่คงเป็นเพราะ ท่านไม่ต้องการให้เรายึดติด

ทุกสิ่ง ทุกชีวิต เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง และ ที่สุดของการให้ คือ ให้โดยไม่หวังผล นี่ก็เพราะท่านต้องการให้เรามีความสุข เพราะหากได้ช่วยเหลือ หรือ ให้ กับคนที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นใคร หรือ กับคนที่เราไม่ได้รัก คือ จะรู้สึกเฉยๆ หรือจะรู้สึกไม่ชอบ หรือ เกลียด หรือ แม้กระทั้งสิ่งมีชีวิตอื่นๆ การให้ และ การให้ที่แท้จริง จะนำมาซึ่งความสุข ซึ่งท่านก็จบด้วย เป็นคนธรรมดาที่มีความสุข นั่นเอง

วันนี้ ไปเจอบทความหนึ่ง ซึ่งน่าสนใจมากที่เดียว ผู้เขียนเป็นคุณหมอ หัวข้อมีอยู่ว่า “ ทุกข์ที่สุด จะหลุดได้อย่างไร ”

อย่ากลัวว่า ความทุกข์นั้น จะมีตลอดไป... อย่าคิดว่าไม่มีทางแก้ไข... หนทางที่เร็วที่สุด คือ เปลี่ยนอารมณ์... เมื่อเราเกิดมาย่อมได้รับทั้งสุขและทุกข์ แต่เมื่อทุกข์ที่สุด จะทำอย่างไร

ปัจจุบันเราได้ยินข่าวเรื่อง การฆ่าตัวตายบ่อยมาก ในชีวิตของความเป็นหมอ ก็เจอคนที่ฆ่าตัวตายบ่อยมาก ทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ หมอได้พูดได้คุยกับคนเหล่านี้มากมาย คำถามที่น่ารู้ก็คือ...การฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ควรกระทำหรือไม่ และเราควรจะทำอย่างไรดี

บทความนี้จะไม่สนใจว่าการกระทำอย่างนั้นจะมีผลในอนาคตอย่างไร ทำลายตนเองจะบาปมากแค่ไหน ต้องเกิดมาฆ่าตัวตายใช้กรรมอีก 500 ชาติจริงหรือ เพราะถ้าบอกไป ต้องใช้ความเชื่อและศรัทธาในตัวศาสนามาพูดคุยกัน แต่ต้องการจะบอกว่า การทำลายตนเอง เป็นสิ่งที่น่าเสียดายนัก เสียดายโอกาสที่จะได้รับสิ่งที่ดีอีกมากที่จะตามมา และเสียดายแทนญาติมิตรที่เกี่ยวข้องที่จะต้องได้รับผลกระทบกายและใจตลอดไป

ในเรื่องความทุกข์ที่สุดนี้ ธรรมะในพระพุทธศาสนาสอนให้เราแก้เรื่องนี้ได้ทันที ด้วยความเข้าใจ ด้วยความรู้ที่เราไตร่ตรองเองได้ และด้วยประสบการณ์ในอดีตของเราทุกคน ในกาลามสูตรพระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้เชื่อ ด้วยเหตุ 10 อย่าง เช่นด้วยเหตุผลว่าผู้สอนเป็นครูของเรา และอื่นๆ รวมสิบประการ แต่จะให้เชื่อก็ต่อเมื่อไตร่ตรองรู้ได้ด้วยตนเองจึงเชื่อ การจะไตร่ตรองให้รู้ได้ด้วยตนเอง จะมีได้ก็ต่อเมื่อเรามีประสบการณ์ในเรื่องนั้นมาแล้ว ดังนั้นประสบการณ์ในอดีตจึงเป็นธรรมะที่เราตรึกตรองได้เช่นกัน

เมื่อความทุกข์ที่สุดมาถึง สิ่งที่ควรระลึกถึงมีสองสามอย่าง คือ

  1. อย่ากลัวว่าความทุกข์นั้นจะมีตลอดไป เพราะมันจะไม่คงอยู่ตลอดไป เดี๋ยวมันก็จางไป
  2. อย่าคิดว่าไม่มีทางแก้ไขให้ดีขึ้นได้ เพราะจะมีทางแก้ไขเสมอ เพียงแต่ตอนนี้ยังนึกไม่ออกเท่านั้น
  3. อย่านึกว่าต่อไปนี้เราจะไม่ได้รับสิ่งดีๆ อีก เพราะเมื่อทุกข์ผ่านไป เราจะยังมีความสุข สนุกสนาน ได้อย่างเดิมแน่นอน
  4. สุดท้าย คือ ให้นึกถึงคนข้างหลัง ที่เขาจะต้องเศร้า ได้รับการกระทบกระเทือน จากการกระทำด้วยอารมณ์ของเรา

    ผู้เขียนขอเสริม คุณหมออีก 1 ข้อ คือ
  5. ให้นึกถึง คนอื่นๆ ที่เขาทุกข์กว่าเรา หากเรามีกิน มีใช้ ให้นึกถึงคนที่ไม่มี คนที่ลำบาก ตรากตรำ หากเราไม่มี แต่มีอวัยวะครบถ้วน ให้นึกถึง คนอื่นๆ ที่เขาบกพร่อง ไม่ครบถ้วน หากเราไม่ครบถ้วน ให้นึกว่า ดีที่ได้เกิดมาเป็นคน

ธรรมะ กับ ความรัก


เมื่อทุกข์ที่สุดมาถึง สิ่งที่เราต้องทำทันที ในขณะที่ยังตั้งตัว ปรับใจไม่ทัน ก็คือ รีบหาทางเปลี่ยนอารมณ์ เมื่อเราไปเจอคนอื่นทุกข์ สิ่งที่ต้องทำอันดับแรก คือ ช่วยเปลี่ยนอารมณ์เขาก่อน จากนั้นสติจึงจะตามมา

ความทุกข์ที่มากสุดจะแก้ได้เร็วและง่ายที่สุด ด้วยการเปลี่ยนอารมณ์ ดึงอารมณ์ออกจากสถานการณ์นั้นก่อน อาจง่ายๆ เพียงแค่ทำอะไรที่ชอบ ฟังเพลง ดูหนัง หาของอร่อยกิน ชวนเพื่อนไปเที่ยว ชวนคุยเรื่องอื่น ลืมเรื่องทุกข์ไปชั่วคราวก่อน บางทีก็เบาบางได้เอง ที่สำคัญ ถ้ามีเพื่อนดี จะเบาบางไปได้มากที่สุด ที่ไม่ควรทำ คือ ดื่มสุรา หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ควรหันไปดื่มเหล้าเบียร์ เพราะการกินเหล้าก็ดับทุกข์ได้ระดับหนึ่งเท่านั้น แต่จะมีข้อเสียกว่า คือ จะยิ่งโกรธง่าย น้อยใจง่ายและโมโหง่ายกว่าเดิม และไม่มีสติยับยั้งความโกรธ หรืออารมณ์ที่รุนแรงเหล่านั้น เมื่อเปลี่ยนอารมณ์ได้ ใจจะเข็มแข็งมากพอที่จะแก้ในขั้นต่อไป

ขั้นต่อไป คือ พยายามตั้งใจใช้สติคิดว่าจะแก้ได้อย่างไร อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล สายไปแค่ไหนแล้ว และแก้ได้หรือไม่ ทำให้ดีขึ้นได้หรือไม่ ถ้าแก้ไม่ได้ ขั้นสุดท้ายคือ ทำให้ใจของเรายอมรับสิ่งนั้นให้ได้ ใจของเราจะยอมรับได้ คิดได้ ปลงตกได้ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ

ท่านพุทธทาสภิกขุ สอนว่า โดยสรุปรวมในธรรมะของพระพุทธเจ้า อาจสรุปเป็นแบบหนึ่งได้ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ถือมั่น นั่นเป็นเพราะในความเป็นจริง สิ่งทั้งหลายย่อมไม่ได้ดั่งใจเรา มีความไม่เที่ยง แปรเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา ด้วยเหตุและปัจจัย จึงไม่สมควรที่จะไปหลงยึดมั่นหมายว่า เป็นเรา เป็นตัวเรา หรือ เป็นของของเรา สิ่งทั้งหลายไม่ได้ดั่งใจทั้งนั้น ไม่ว่าเราจะเป็นใคร รวยเพียงใด อำนาจล้นฟ้าขนาดไหน ต่างก็มีความทุกข์ประจำตัวประจำอยู่ทุกคนทั้งสิ้น

เมื่อคนคนหนึ่งประสพอุบัติเหตุขาขาดสองข้าง เขาจะรู้สึกอยากตายไม่อยากอยู่ จะรู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่มีอะไรเหลืออีกแล้ว แต่ผ่านไปสักสองปี ไปดูอีกทีกำลังหัวเราะอยู่เพราะดูละคร ส่วนเรื่องขาขาดก็นั่งรถเข็นเอา และก็ชินเสียแล้ว ไม่เสียใจมากเหมือนตอนขาขาดใหม่ๆ

บางคนแฟนตายไปเสียใจแทบตายตาม ผ่านไป 3 ปี มีแฟนใหม่แล้ว มีความสุขดีมากเลย ความทุกข์จึงเป็นของไม่เที่ยงเสมอ เช่นเดียวกับความสุข เพียงแต่ว่าตอนทุกข์ ให้ผ่านวันเวลาไปได้ ไม่ด่วนตายไปเสียก่อน เมื่อทุกข์ผ่านไป จะมีสิ่งดีๆ ตามมาได้แน่นอน
และเมื่อมองย้อนไป ความทุกข์เหล่านั้นมันก็เท่านั้นเอง เมื่อเราอ่านมาถึงตอนนี้ ก็ขอให้ลองใช้เวลานี้ นึกถึงอดีตที่มีทั้งทุกข์และสุขของเราดู อดีตนั่นแหละที่จะสอนตัวเราในความจริงแห่งธรรมะ ในกาลามสูตรพระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้เชื่ออะไรง่ายๆ แต่สอนว่าเมื่อเราพิจารณาได้เองว่า นี้เป็นสิ่งดีหรือไม่ดีแก่จิตใจจึงค่อยเชื่อ การจะพิจารณาได้อย่างนั้น จะต้องมีประสบการณ์ในความรู้สึก แบบนั้นในอดีตมาก่อน อดีตจึงเป็นธรรมะที่สอนใจได้เป็นอย่างดี

ทุกข์ที่สุดจะเกิดจาก ความยึดมั่นถือมั่นที่สุด สิ่งใดที่เรารักมากยึดมากว่าเป็นตัวเราหรือของเรา สิ่งนั้นถ้าขาดหายไปจะทำให้ทุกข์ถึงที่สุด ถ้าเรารักความสวยงาม เมื่อเสียโฉมจะทุกข์ที่สุด ถ้าเรารักสามีหรือภรรยา เมื่อเขานอกใจ หรือเสียเขาไปจะทุกข์ที่สุด ถ้ารักลูก ลูกหายหรือพิการหรือตายจะทุกข์ที่สุด ถ้ารักยศถาบรรดาศักดิ์เมื่อสูญเสียจะทุกข์ที่สุด ถ้ารักตนเอง เมื่อทราบว่าตนป่วยเป็นมะเร็ง เป็นเอดส์ หรือโรคที่รักษาไม่หายก็จะทุกข์ที่สุด

แต่ถ้าเราไม่มีสิ่งนั้นเลย ก็ไม่มีอะไรจะทุกข์กับสิ่งนั้น ไม่มีลูกก็ไม่ทุกข์กับลูก ไม่มีแฟนก็ไม่มีทุกข์จากแฟน ไม่มีทรัพย์สิน ก็ไม่ทุกข์กับทรัพย์สิน หรือ ถ้าเรามีแต่ทำใจไว้เสมือนไม่มี หรือ ทำใจไว้ว่าของที่มีมันไม่เที่ยง ย่อมแปรปรวนไป ก็จะทุกข์น้อยลง ยิ่งยึดมั่นได้น้อยลงเท่าไร ก็ทุกข์น้อยลงเท่านั้น เป็นสัดส่วนไป เมื่อไม่ยึดมั่นก็ไม่ทุกข์เลย หมายความว่าไม่มีอะไรทำให้ทุกข์ใจได้อีกเลย แต่ความเจ็บปวดยังมีตราบเท่าที่มีสังขารร่างกายอยู่ เพียงแต่ความทุกข์กายอันนั้น จะไม่สามารถมากินใจให้ทุกข์ใจได้เลย

ความทุกข์ที่เกิดขึ้น มักเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนคิดจะทำความดี เพราะธรรมชาติของเราจะหลงลืมและเพลินในสุข ซึ่งความสุขส่วนมากที่เราชอบ มักจะตั้งอยู่บนความไม่เที่ยงทั้งสิ้น พระพุทธองค์เห็นข้อนี้จึงสละทุกสิ่งออกบวชแสวงหาธรรมะ แต่อย่างเราๆ มักจะไม่คิดเรื่องนี้จนกว่าจะทุกข์ เสียก่อน เราจึงพบว่าคนจำนวนมาก ได้ประพฤติธรรมะ ได้ทำสิ่งดีๆ แก่ตนและผู้อื่นเพราะประสพกับความทุกข์มาแล้ว ดังนั้นเมื่อมีทุกข์นั่นคือเราได้อยู่ใกล้ธรรมะแล้ว ถ้าผ่านช่วงนี้ไปได้ก็มักจะมีสิ่งดี โอกาสดี และเราเองก็จะดำรงอยู่ในความดีมากขึ้น ความทุกข์และความสุขเป็นของคู่โลกเช่นนี้มาตลอด เมื่อเราทุกข์หรือพบคนที่ทุกข์ อย่าลืมเปลี่ยนอารมณ์ ตั้งสติหาทางแก้ไข ใช้ความดีเอาชนะสิ่งไม่ดี ทุกข์ย่อมไม่เที่ยง ย่อมผ่านไป เป็นธรรมดา และเราก็มีโอกาสที่จะได้รับสิ่งที่ดี ได้ปรับปรุงตนเป็นคนดีเสมอ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่าน

ขอขอบคุณ คุณหมอที่เขียนบทความ ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และขอขอบคุณเว็บไซต์ วัดธาตุทอง ที่เราได้ไปเจอบทความนี้มา

ขอให้ผู้อ่านทุกท่าน มีความสุข กับ ความรัก ด้วยความเข้าใจในหลักความจริง คือ ความไม่เที่ยง ด้วยความรู้สึกแห่งความสุข หรือ
ความไม่ทุกข์ ในสิ่งที่เป็น ในสี่งที่อยู่ และในสิ่งที่เกิด และจบไป หรือ ดับไปนั่นเอง.....

ใครมีเรื่องราวดีๆ ขอเชิญชวน มาร่วมแชร์กัน ในช่องความคิดเห็น ซึ่งเรื่องราวดีๆ ของท่าน จะเป็นเรื่องที่ดียิ่งๆ ขึ้น สำหรับผู้อ่านท่านอื่น ต่อไป

ผึ้ง สารพัดธรรม


ธรรมะ กับ ความรัก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์