***ปวดศีรษะ***

***ปวดศีรษะ***

            สาว ๆ หลายคนคงมักหงุดหงิดเวลามีอาการปวดศีรษะมั้ย  แล้วรู้มั้ยคะว่าเวลาปวดศีรษะนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร  ถ้าอยากรู้ตามไปดูเลย

            ปวดศีรษะ (headache) เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุดอย่างหนึ่ง นอกจากจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นร่วมกับโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นกันบ่อย ๆ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่แล้ว ปวดศีรษะยังจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีความวิตกกังวล มีความเครียด หรือ ผู้ที่ต้องทำงานหนักแข่งกับเวลา และวิถีชีวิตที่ต้องเร่งรีบในปัจจุบัน
            นอกจากนี้ปวดศีรษะยังมักจะเป็นอาการอย่างหนึ่งเสมอ ๆ ของโรคทางกายต่าง ๆ เพราะผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคทางกายต่าง ๆ ก็มักจะมีความวิตกกังวลและมีความเครียด ความกลัวว่าโรคที่เป็นอยู่จะทำให้เกิดความรุนแรงต่อตนเอง ซึ่งจะนำมาสู่ความปวดศีรษะด้วยเสมอ ๆ  อาการปวดศีรษะอาจมีความรุนแรงเพียงเล็กน้อย ไม่ทำให้ผู้ที่มีอาการปวดเดือดร้อนแต่ประการใด จนถึงมีอาการปวดมากที่สุดจนทุรนทุราย แต่ในบางครั้งอาการปวดศีรษะไม่ว่าจะมีอาการปวดรุนแรงมากน้อยเพียงใดก็ตาม อาจเป็นสาเหตุที่รุนแรงและมีอันตรายได้

            อาการปวดศีรษะในผู้สูงอายุ
            ส่วนน้อยที่จะเกิดจากปัญหาเส้นเลือด การหดตัวของกล้ามเนื้อและไมเกรน ส่วนใหญ่จะมีเรื่องของอาการมึนงง ซึ่งบางครั้งอาจจะให้ประวัติสับสนกับอาการปวดศีรษะ อาการเหล่านี้ในผู้สูงอายุมีสาเหตุมากมาย เช่น เรื่องของความดันเลือดต่ำขณะเปลี่ยนอิริยาบถ การทรงตัวไม่ดีเนื่องจากโรคของหู ตา หรือประสาทรับความรู้สึกเสียไป นอกจากนี้ผู้สูงอายุอาจมีอาการปวดบริเวณกล้ามเนื้อต้นคอ ซึ่งเกิดจากการเสื่อมของกระดูกบริเวณต้นคอเพิ่มขึ้น

            อาการปวดศีรษะในผู้หญิง
            จะพบได้ค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะไมเกรนซึ่งมักเกิดร่วมกับการมีประจำเดือนหรือการหมดประจำเดือนได้ ส่วนรายที่ตั้งครรภ์อาการปวดศีรษะเพราะไมเกรนดีขึ้นเมื่อตั้งครรภ์เกิน 3 เดือนไปแล้ว อย่างไรก็ตามหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการปวดศีรษะควรพบแพทย์เพราะมีโรคทำให้ปวดศีรษะกำเริบขึ้นเมื่อตั้งครรภ์

            อาการปวดศีรษะในเด็ก
            ถ้าอาการปวดศีรษะเป็นเรื้อรังและเป็นเรื่อย ๆ ส่วนมากจะมาจากความผิดปกติของเนื้อสมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เนื้องอกต่าง ๆ ส่วนเด็กที่ปวดศีรษะเป็น ๆ หาย ๆ อาจเกิดจากไมเกรนได้


            ทฤษฎีปวดศีรษะที่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาทสมอง
            นักวิจัยกำลังมุ่งความสนใจไปที่วิถีของเส้นประสาทคู่ที่ 5 หรือที่เรียกว่าไทรเจมินัล และสารเคมีในสมองชื่อซีโรโตนิน ที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุของอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง การปวดศีรษะอาจเป็นผลมาจากการเสียสมดุลของสารเคมีในสมอง กล่าวคือเมื่อปวดศีรษะ ระดับซีโรโตนินในสมองจะลดต่ำลง ทำให้เกิดการกระตุ้นผ่านเส้นประสาทไทรเจมินัลไปยังหลอดเลือดที่เยื่อหุ้มสมองด้านนอก ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัวจนบวมและอักเสบ

            ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว
            เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุดในชีวิตประจำวัน เกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น อดนอน เครียด ใช้สมองหรือสายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ฯลฯ การปวดมีลักษณะตึง ๆ ตื้อ ๆ บางคนอาจปวดจี๊ดๆ ร่วมด้วย ร้าวจากขมับไปกลางศีรษะ จนถึงท้ายทอย อาจปวดข้างเดียว หรือสองข้างก็ได้ ส่วนใหญ่อาการปวดมักจะเริ่มตอนสาย ๆ หรือบ่าย แล้วมักจะปวดต่อไปทั้งวัน เวลาหายก็มักหายไม่สนิทเป็นปลิดทิ้ง คือจะยังตื้อ ๆ อยู่บ้างเล็กน้อย ซึ่งต่างจากไมเกรนที่ปวดรุนแรง แต่เวลาไม่ปวดก็จะหายเป็นปลิดทิ้ง

            ปวดศีรษะไมเกรน
            ปัจจุบันพบว่า ion-transport gene เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคไมเกรน โดยระบบประสาทของผู้ที่เป็นไมเกรนไวต่อการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย และสิ่งแวดล้อมมากกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นไมเกรน เมื่อระบบประสาทมีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงจะทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเลือด และเส้นประสาทรอบ ๆ สมอง นอกจากนี้ยังพบความผิดปกติที่ระดับสารเคมีในสมอง การสื่อกระแสในสมอง หรือการทำงานที่ผิดปกติไปของหลอดเลือดสมองอีกด้วย


***ปวดศีรษะ***

            แนวทางการวินิจฉัยหาสาเหตุ
            1.ลักษณะของอาการปวดศีรษะเป็นอย่างไร 
            2.ปวดที่ตรงไหน ปวดบ่อยแค่ไหน 
            3.ปวดครั้งสุดท้ายเมื่อไร ปวดครั้งแรกเมื่อไร 
            4.ปวดแต่ละครั้งนานแค่ไหน 
            5.มีการเปลี่ยนแปลงอาการปวดศีรษะหรือไม่ อย่างไร 
            6.มีอาการอื่นร่วมหรือไม่ เช่น อาเจียน มึนงง บ้านหมุน 
            7.การนอนหลับ 
            8.ปัจจัยที่กระตุ้นให้ปวดศีรษะ 
            9.ประวัติการเจ็บป่วย ประวัติการได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ

            ลักษณะเฉพาะบางประการ
            1.ระยะเวลาที่มีอาการเจ็บปวด เช่น มีอาการชั่วประเดี๋ยวเดียวก็หาย หรือมีอาการปวดศีรษะอย่างเดียว และเมื่อเข้านอนแล้วก็หายไป ถ้าเป็นเช่นนี้ มักจะไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่ร้ายแรง แต่หากมีอาการปวดศีรษะมากกว่า 24 ชั่วโมง หรือเป็นบ่อย ๆ เช่น 2-3 ครั้งในหนึ่งสัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และรับการรักษาต่อไป 
            2.ในกรณีที่มีประวัติได้รับอันตรายที่ศีรษะจากอุบัติเหตุ หรือมีอาการง่วงซึม อาเจียน แขนขาอ่อนแรง หรือมีอาการตาพร่า อาจเกิดจากภาวะเลือดออกในกระโหลกศีรษะ 
            3.หากมีไขัร่วมกับปวดศีรษะ ควรนึกถึงสาเหตุที่เกิดจากการติดเชื้อ อาจเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือปาราสิต ที่สำคัญต้องคิดถึงโรคติดเชื้อในระบบประสาทด้วยเสมอ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไข้สมองอักเสบ เป็นต้น 
            4.อาการผิดปกติทางสายตา เช่น ตาพร่ามัว แสงสว่างที่ทำให้ปวดเบ้าตา 
            5.ความเครียดหรือความวิตกกังวลในเรื่องต่าง ๆ ทั้งการงาน ครอบครัว และเรื่องส่วนตัวต่าง ๆ ที่ยังจัดการไม่เรียบร้อย ก็มีผลทำให้เกิดความปวดศีรษะได้เสมอ ๆ

            การตรวจเพิ่มเติม
            หลังจากได้ประวัติลักษณะอาการแล้ว  แพทย์ส่วนใหญ่จะให้การวินิจฉัยได้  บางรายอาจพิจารณาตรวจเพิ่มเติม  เช่น  ตรวจเลือด  ตรวจภาพรังสี  ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง  ตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์  ตามข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนและเหมาะสม

            การรักษา
            หลักสำคัญคือการพิจารณาให้การรักษาตามเหตุผล  โดยจะต้องติดตามผลอย่างใกล้ชิด


            เมื่อทราบอย่างนี้แล้วคราวหน้าเวลามีอาการปวดศีรษะก็ควรจะต้องไปพบแพทย์กันนะคะ...




ขอขอบคุณข้อมูลจาก  bangkokhealth.com
โดย นพ.วรวุฒิ  เจริญศิริ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์