...ปัญญาพาสุข...

...ปัญญาพาสุข...


เมื่อพูดถึงสุขภาวะหรือความปกติสุข
คนทั่วไปมักนึกว่าเป็นเรื่องทางกายเท่านั้น
แต่ในความเป็นจริง
สุขภาวะทางกายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสุขภาวะทั้งหมดของมนุษย์


มนุษย์นั้นมีทั้งกายและใจ
นอกจากนั้นเราแต่ละคนยังมีชีวิตอยู่ท่ามกลางผู้คน
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ส่งผลถึงสุขภาวะของเราทุกคน


ด้วยเหตุนี้สุขภาวะจึงมีอย่างน้อย ๓ ด้าน
คือ สุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางใจ และสุขภาวะทางสังคม

อย่างไรก็ตามเนื่องจาก ใจ นั้นยังสามารถแบ่งได้เป็น ๒ ส่วน
คือ จิต และปัญญา
จิตนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก
ส่วนปัญญา เกี่ยวข้องกับความรู้และความคิด
ดังนั้นสุขภาวะทางใจนั้น
จึงสามารถจำแนกได้เป็นสุขภาวะทางจิต และสุขภาวะทางปัญญา


สุขภาวะทางปัญญา หมายถึง ความสุขที่เกิดจากการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา
ปัญญาในที่นี้นอกจากหมายถึงความรู้แล้ว
ยังครอบคลุมถึงความคิดความเชื่อ และความเห็น ที่ก่อประโยชน์เกื้อกูล
ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น ๓ ด้านคือ คิดดี คิดเป็น และเห็นตรง


๑. คิดดี หมายถึง การมีความคิดความเชื่อ
และความเห็นที่ถูกต้องดีงามหรือมีเหตุผล
เช่น เห็นว่า การทำความดีเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น
หรือเห็นว่าคุณค่าของชีวิตอยู่ที่การทำความดี
มิใช่การสะสมวัตถุ ชื่อเสียง หรืออำนาจ

๒. คิดเป็น หมายถึง รู้จักคิดหรือพิจารณา
ทำให้เห็นความจริง สามารถแก้ปัญหาหรือทำกิจต่างๆ ให้สำเร็จได้
เช่น คิดเป็นเหตุเป็นผล สามารถสืบสาวหาสาเหตุ
และมองเชื่อมโยงถึงผลที่อาจเกิดขึ้น ไม่ถูกครอบงำด้วยอารมณ์
หลงตามสิ่งเย้ายวน หรือเอนเอียงตามอคติ

๓. เห็นตรง หมายถึง มีความเห็นที่ตรงตามความเป็นจริง
ทำให้วางใจได้อย่างถูกต้อง ไม่ก่อหรือซ้ำเติมให้เกิดทุกข์
เช่น มองเห็นว่า มีความสุขอย่างอื่นที่ลึกซึ้งกว่าความสุขทางวัตถุ
หรือเห็นว่า สุขหรือทุกข์ที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ใจของตน
มิได้ขึ้นอยู่กับวัตถุภายนอก
และมองเห็นสิ่งทั้งหลายว่าแปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย
ไม่มีความเที่ยงแท้ยั่งยืน และไม่ขึ้นอยู่กับความปรารถนาของเรา

ในปัจจุบัน คิดดี คิดเป็นและเห็นตรง
กำลังกลายเป็น ต้นทุนที่ขาดแคลนอย่างยิ่งในทุกระดับ
ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงสังคม
นำไปสู่ปัญหาต่างๆ มากมาย อาทิ คอร์รัปชั่นแพร่ระบาด
อาชญากรรมเกลื่อนเมือง อบายมุขทุกมุมเมือง
สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ครอบครัวหย่าร้าง วัยรุ่นเสียคน โรคเครียดลุกลาม

ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมา เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยหลายประการ
รวมทั้งปัจจัยทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ
แต่หากกล่าวจำเพาะปัจจัยทางด้านทัศนคติ
หรือความคิดความเชื่อของผู้คนแล้ว จะพบว่ามี
ทัศนคติสำคัญ ๔ ประการที่นำไปสู่ปัญหาดังกล่าว ได้แก่


๑. การคิดถึงแต่ตนเองเป็นสำคัญ
คือ ถือเอาความต้องการและความคิดเห็นของตนเองเป็นใหญ่
โดยไม่เปิดใจรับฟังความเห็นที่ต่างไปจากตน
และไม่สนใจว่า การกระทำของตนจะก่อผลกระทบต่อผู้อื่น
หรือส่วนรวมอย่างไรบ้าง ดังนั้นจึงก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท
เบียนเบียน และเอารัดเอาเปรียบกันได้ง่าย
นอกจากนั้นทัศนคติดังกล่าวยังถือว่า ความถูกใจ สำคัญกว่า ความถูกต้อง
จึงนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เพียงก่อปัญหาแก่ผู้อื่นเท่านั้น
แต่ยังเป็นโทษต่อตัวเองด้วย เช่น เอาแต่เที่ยวเตร่ จนไม่เป็นอันเรียนหนังสือ
หรือเล่นการพนันจนเป็นหนี้สินมากมาย

๒. การยึดติดกับความสุขทางวัตถุ
คือ ถือว่าความสุขจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการเสพและครอบครองวัตถุเท่านั้น
จึงหมกมุ่นกับการแสวงหา ครอบครอง และเสพวัตถุ แม้ได้เท่าไรก็ไม่รู้จักพอ
เพราะคิดว่ายิ่งมีมากเสพมาก ก็ยิ่งเป็นสุขมาก
ทัศนคติดังกล่าวทำให้เห็นว่า เงินเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต
นอกจากนำไปสู่การแย่งชิงและเอาเปรียบกันแล้ว
ยังก่อให้เกิดความร้าวฉานในครอบครัวและความทุกข์ในตนเอง
เนื่องจากไม่มีเวลาให้แก่กันและกัน
อีกทั้งไม่สนใจที่จะแสวงหาความสุขสงบในจิตใจ หรือความสุขที่ประณีต

๓. การหวังลาภลอยคอยโชคและมุ่งทางลัด
คือ ความปรารถนาที่จะบรรลุความสำเร็จโดยไม่ต้องเพียรพยายาม
แต่อาศัยการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และโชควาสนา
เมื่อไม่เห็นว่า ความเพียรของตนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการกำหนดชีวิตของตน
จึงมีความคิดที่พร้อมจะใช้วิธีการใดๆ ก็ตามที่ลัดสั้น แม้เป็นวิธีการที่มิชอบ
เพียงเพื่อให้บรรลุความต้องการโดยเฉพาะความมั่งคั่งร่ำรวย
ผลก็คือ ไม่เพียงไสยศาสตร์เฟื่องฟูและการพนันแพร่ระบาด
หากยังเกิดการคอร์รัปชั่นในทุกวงการ รวมไปถึงการทุจริตในการสอบ
การกระทำใดที่ใช้ความเพียรหรือน้ำพักน้ำแรงของตน
อย่างถูกต้องชอบธรรมถูกมอง ว่าเป็นวิธีการที่ไม่ฉลาดและพึงหลีกเลี่ยง

๔. การคิดอย่างไม่ถูกวิธี
คือ การไม่สามารถคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล
หรือวิเคราะห์วิจัยเพื่อเข้าใจความจริงทุกแง่มุม
แต่มองแบบเหมารวมตีขลุม ลัดขั้นตอน
หรือตัดสินไปตามความชอบความชัง
จึงตกอยู่ภายใต้อำนาจของอารมณ์และอคติ
นอกจากทำให้มองความเป็นจริงอย่างคลาดเคลื่อนแล้ว
ยังทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่างๆ ได้สำเร็จ
หรือแก้ปัญหาของตนให้ลุล่วงไปได้
กลับทำให้ปัญหาลุกลามขยายตัว
เพราะคิดแต่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ผ่านพ้นไปเป็นคราวๆ เท่านั้น
การขจัดทุกข์ และสร้างสุขจะเกิดขึ้นได้ในสังคม
ก็ต่อเมื่อมีทัศนคติ ๔ ประการมาแทนที่ ได้แก่


๑. การคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง
การ คิดถึงแต่ตนเอง ทำให้จิตใจคับแคบ
อัตตาหรือตัวตนใหญ่ขึ้นทำให้ถูกกระทบหรือเป็นทุกข์ได้ง่าย
ขณะเดียวกันก็เป็นคนสุขยากเพราะได้เท่าไรก็ไม่พอใจเสียที
ในทางตรงข้ามการคิดถึงผู้อื่นช่วยให้ตัวตนเล็กลง
เห็นความทุกข์ของตนเองเป็นเรื่องเล็กน้อย
ยิ่งช่วยผู้อื่นมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความสุขเพราะได้เห็นผู้อื่นมีความสุขด้วย
กล่าวอีกนัยหนึ่งความสุขของเราย่อมไม่แยกจากความสุขของผู้อื่น


๒. การไม่พึ่งพิงความสุขทางวัตถุอย่างเดียว
วัตถุนั้นให้ความสุขเพียงชั่วคราว แต่ก่อให้เกิดภาระทางจิตใจต่าง ๆ มากมาย
การยึดติดความสุขทางวัตถุทำให้ชีวิตเต็มไปด้วยความทุกข์
แท้จริงที่มาแห่งความสุขนั้นมีอยู่มากมาย
และสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องใช้เงิน
เช่นความสุขจากมิตรภาพ จากความสัมพันธ์ที่ดีงามกับผู้อื่น
จากการทำงาน จากการทำความดี และจากสมาธิภาวนา เป็นต้น
การตระหนักว่าความสุขมีหลายมิติ
และสามารถเข้าถึงความสุขที่ไม่อิงวัตถุ
จะช่วยให้มีสุขได้ง่ายขึ้นและเป็นสุขที่ยั่งยืน

๓. การเชื่อมั่นในความเพียรของตน ไม่หวังลาภลอย คอยโชค
การหวังลาภลอย คอยโชค หรือการหวังความสำเร็จโดยไม่ต้องเหนื่อย
เป็นที่มาแห่งความทุกข์ทั้งในระดับบุคคลและสังคม
การหันมาตระหนักว่า ความสุขเกิดขึ้นได้จากความเพียรพยายามของตน
ทำให้ความสุขอยู่ในอำนาจของเราเอง
และทำให้เราสามารถพึ่งตนเองได้ ไม่หวังพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โชควาสนา
หรือหันเข้าหาวิธีการที่เป็นโทษ เช่น อบายมุข การพนัน และการฉ้อโกง

๔. รู้จักคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นประโยชน์เกื้อกูล
แม้คนทุกวันนี้จะคิดเก่ง แต่ก็มักเอาอารมณ์เข้ามาเจือปน
ทำให้มองคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
และโน้มเอียงไปในทางเข้าข้างตนเอง
การพิจารณาสิ่งต่างๆ โดยคำนึงถึงเหตุผล ยิ่งกว่าอารมณ์
จะช่วยให้มองสิ่งต่างๆ ได้อย่างรอบด้าน
สามารถแยกแยะถึงความแตกต่างระหว่าง ถูกใจกับ ถูกต้อง ได้
ซึ่งช่วยให้สามารถคิดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อส่วนรวม
อีกทั้งยังสามารถลดทอนอคติ นำไปสู่การเป็นอยู่ด้วยปัญญา
และสามารถแก้ทุกข์ได้ด้วยตนเอง

ทัศนคติทั้ง ๔ ประการเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเร่งปลูกเร่งสร้างในทุกระดับ
ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงสังคม
มิใช่ด้วยการเทศนาสั่งสอนหรือรณรงค์เท่านั้น
แต่ยังต้องอาศัยการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองให้เกื้อกูลด้วย
อย่างน้อยก็ต้องเร่งปรับปรุงสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม
รวมทั้งสื่อมวลชน ให้ดีขึ้นกว่านี้

โดยพระไพศาล วิสาโล
ที่มา : dhammathai

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์