100 ปี สถานีหัวลำโพง Positive Chaos : ความอลหม่านที่มีเสน่ห์


"หัวลำโพง" สถานีรถไฟสุดคลาสสิกจะมีอายุครบ 100 ปี ภายในปี 2559 ในยุคที่ "ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย" เตรียมลดบทบาทสถานีหัวลำโพงเหลือแค่เดินรถไฟสายใต้จากแม่กลอง-นครปฐม กับเป็นศูนย์รวมเชื่อมต่อการเดินทางรถไฟฟ้าใต้ดินสายปัจจุบัน "สายสีน้ำเงิน" และส่วนต่อขยายใหม่เท่านั้น

โดยทันทีที่รถไฟสายสีแดง "บางซื่อ-รังสิต" สร้างเสร็จในปี 2560 จะยกระดับสถานีกลางบางซื่อเป็น "หัวลำโพง 2" ชุมทางเดินรถไฟแทน ทั้ง "รถไฟทางไกล-รถไฟฟ้า-รถไฟความเร็วสูง"

200 ล้านชุบชีวิตใหม่หัวลำโพง

ทั้งนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าของสถานีในเชิงประวัติศาสตร์และการใช้ประโยชน์ให้เต็มที่บนเนื้อที่ 120 ไร่ทั้งภายในและโดยรอบ เพื่อให้ "หัวลำโพง" เป็นมากกว่าสถานีรถไฟ รวมทั้งคงไว้ซึ่งสถาปัตยกรรมอันทรงเสน่ห์คลาสสิกสไตล์อิตาเลียนผสมผสานกับศิลปะยุคเรเนสซองซ์ที่ว่ากันว่าคล้ายคลึงกับสถานีรถไฟเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี โดย "ประภัสร์ จงสงวน" ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ระบุว่า โครงการชุบชีวิตใหม่ให้สถานีหัวลำโพง เบื้องต้นใช้เงิน 200 ล้านบาท

ทุกอย่างเป็นไปตามนโยบายนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ย้ำให้สถานีหัวลำโพงเป็นต้นแบบการยกระดับการบริการของรถไฟโดยมี "TCDC ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ" และ "อ.พันศักดิ์ วิญญรัตน์" ประธานที่ปรึกษานโยบายเศรษฐกิจนายกรัฐมนตรี เป็นแม่งานร่วมกับกระทรวงคมนาคม นำโมเดลของประเทศญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ

แนวคิด "เซอร์วิสดีไซน์"

สอดรับกับแนวคิดบิ๊กคมนาคม "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ระบุว่า จะนำร่องสถานีหัวลำโพงเป็น "เซอร์วิสดีไซน์" โครงการพัฒนาการบริการขั้นพื้นฐานระบบรถไฟ จากนั้นจะขยายผลไปยังสถานีของรถไฟทางคู่ และไฮสปีดเทรน เช่น สถานีนครปฐม เชียงใหม่"ชัชชาติ" บอกว่า ใช้เวลาปรับปรุง 1-3 ปียึดหลักการตามที่ TCDC เสนอ อาทิ ความปลอดภัย, มีสิ่งอำนวยความสะดวก, ผู้โดยสารเชื่อมั่นในบริการ, เชื่อมต่อการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางสุดท้าย

จุดเด่นคือสร้างประโยชน์จากอลวนไร้ระเบียบ กับสร้างความได้เปรียบจากเสน่ห์ความเป็นไทย ตลอดจนนำความเจริญคืนสู่ท้องถิ่น เช่น มีสินค้าโอท็อปจำหน่าย หรือใช้ตกแต่งขบวนรถ

ตามแผนงานทำทันทีใน "1 เดือนแรก" ด้วยการทาสีอาคารด้านหน้า ซ่อมอุปกรณ์ห้องน้ำที่ชำรุด เปลี่ยนน้ำยาทำความสะอาดเป็นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เพิ่มเก้าอี้นั่งพักรอบชานชาลา เพิ่มรถขนสัมภาระ สิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการ บนรถไฟจะซ่อมอุปกรณ์ที่มีน้ำรั่วชำรุดทั้งหมด พร้อมกับเปลี่ยนรูปแบบการออกตั๋ว

"ช่วง 3 เดือนถัดไป" ปรับปรุงทางเข้าด้านข้างคลองผดุงกรุงเกษม ทางออกจากสถานีรถไฟใต้ดินและรถโดยสาร เปลี่ยนพื้นที่ฟู้ดคอร์ตด้านข้างโถงพักคอยฝั่งถนนรองเมือง สร้างห้องน้ำให้เพียงพอประมาณ 70 ห้อง และโถปัสสาวะชาย 30 ที่

ขณะที่ชานชาลาจะเปลี่ยนหลังคาเป็นฉนวนกันเสียง ความร้อน เพิ่มระบบแสงสว่าง เพิ่มพัดลมระบายอากาศ ปรับปรุงรูปแบบร้านค้า ระบบเว็บไซต์ใหม่ติดตามขบวนรถพร้อมที่นั่งเหลือบนรถไฟ

ปรับใหญ่สิ่งอำนวยสะดวก

"ช่วง 6 เดือน" จะทาสีเต็มอาคาร เพิ่มไฟส่องอาคารภายนอก และโถงพักคอยจัดระบบการใช้พื้นที่เป็นสัดส่วน เปลี่ยนหลังคา เพิ่มที่พักคอยผู้โดยสาร ปรับปรุงระบบปรับอากาศ เพิ่มห้องสูบบุหรี่ ส่วนบนรถไฟจะเพิ่มพื้นที่วางสัมภาระ ปรับปรุงห้องน้ำในรถไฟ มีบริการซื้อตั๋วล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์ ปรับปรุงป้ายภายนอกทั้งหมด

สุดท้าย "ช่วง 1-3 ปี" จะแก้ปัญหาจุดที่ไม่พอเพียง เช่น ย้ายพื้นที่ส่วนบริการและงานระบบเดิมออกจากพื้นที่โรงแรมราชธานีเดิม จะสร้างอาคารใหม่สำหรับส่วนบริการต่าง ๆ ด้านฝั่งคลองผดุงกรุงเกษมติดชานชาลา จะมีพื้นที่มากกว่าอาคารเดิม 2 เท่าหรือ 5,000 ตารางเมตร

โดยจะรวมงานห้องเครื่องระบบวิศวกรรมหลักของอาคารไว้ทั้งหมด สร้างที่จอดรถเพิ่ม เปลี่ยนตำแหน่งป้ายรถเมล์ ปรับพื้นที่พลาซ่าด้านหน้าอาคารให้คงเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ ควบคู่ไปกับเพิ่มพื้นที่พาณิชยกรรมให้กับหัวลำโพงเพื่อสร้างรายได้

"โรงแรมราชธานีเดิมจะปรับปรุงเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมทั้ง 2 ชั้น และเปิดให้เอกชนมาบริหารพื้นที่เพื่อสร้างรายได้ให้กับการรถไฟฯในอนาคต รวมถึงจะมีการอนุรักษ์อาคารเก่าไว้เป็นคุณค่าหลักของหัวลำโพง"

ทั้งหมดรองรับในวันที่หัวลำโพงเปลี่ยนบทบาทจากศูนย์กลางการเดินรถไฟที่มีขบวนรถวิ่งเข้าออก 236 ขบวน/วัน มาสู่การเป็นอาคารทางประวัติศาสตร์เชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวที่มีความสำคัญระดับประเทศต่อไป


100 ปี สถานีหัวลำโพง Positive Chaos : ความอลหม่านที่มีเสน่ห์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์