อะอะ...ข้อมูลชี้ ผู้หญิงอยากรู้เรื่องอย่างว่ามากกว่าผู้ชาย

ไม่ว่าจะสงวนไว้ในพื้นที่ส่วนตัวอย่างไร เรื่องใน "ร่มผ้า" ก็มีการนำเสนออย่างโจ๋งครึ่มในสื่อต่างๆ เหตุผลหนึ่ง อาจเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ "ไม่มีความรู้ความเข้าใจ" ในเรื่องเพศอย่างถูกต้อง

เมื่อไม่รู้ก็ต้องถาม ถาม และถาม...

จากรายงานการวิจัยเรื่อง "คำถามยอดฮิต ในคอลัมน์ถามตอบเรื่องเพศ" ศึกษาย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2546-2550 ในสื่อ 3 ประเภท หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และอินเตอร์เน็ต จำนวน 6 สื่อ รวบรวมคำถามได้ทั้งหมด 4,409 ข้อ คำถามที่พบมากที่สุดคือ เพศสัมพันธ์ ร้อยละ 25 อนามัยเจริญพันธุ์ ร้อยละ 18 อวัยวะเพศหญิง ร้อยละ 18 ความสวยความงาม ร้อยละ 16 และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ร้อยละ 5

น.ส.ญาณาธร เจียรรัตนกุล ผู้วิจัย บอกว่า หลักฐานการสอบถามปัญหาเพศผ่านสื่อเริ่มในปี 2431 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งตลอด 120 ปีที่ผ่านมา

แนวคำถามจะวนเวียนอยู่ในปัญหาเดิมๆ สะท้อนว่า ประชาชนไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศที่ถูกต้อง และจากการวิจัยพบว่า ผู้หญิงเข้ามาสื่อสารในคอลัมน์ถามตอบเรื่องเพศ "มากกว่า" ผู้ชายถึงร้อยละ 69 ในขณะที่ผู้ชายเข้ามาสื่อสารร้อยละ 31

"ผู้หญิงยังมีความรู้น้อยมาก ยกตัวอย่างคำถามเรื่องคุมกำเนิด วัยรุ่นผู้หญิงคนหนึ่งเขียนจดหมายเข้ามาถามว่า หากมีเพศสัมพันธ์กับแฟน แล้วให้แฟนกินยาคุม จะท้องไหม เป็นคำถามที่บ่งบอกว่าเธอไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้เลย" ญาณาธรแจกแจง

เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ ผู้วิจัยบอกว่า มาจากระบบความเชื่อผิดๆ ของสังคมไทย ที่ตั้งบรรทัดฐานไว้ว่า ผู้หญิงที่พูดเรื่องเพศได้ ต้องแต่งงานแล้ว หรือเป็นผู้หญิงขายบริการเท่านั้น จึงยังเป็นปัญหาให้ผู้หญิงไม่กล้าสอบถามจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เพราะรู้สึกกระดากปาก และอายที่จะแสดงตัวตน จึงต้องแอบซ่อนหาความรู้ผ่านสื่อต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และอินเตอร์เน็ต

อะอะ...ข้อมูลชี้ ผู้หญิงอยากรู้เรื่องอย่างว่ามากกว่าผู้ชาย


มาดูกันดีกว่า "คนอยากรู้อะไรในเรื่องอย่างว่า" บ้าง

เริ่มที่ "ผู้หญิง" เรื่องที่อยากรู้มากที่สุด "อวัยวะเพศหญิง" มักถามข้อข้องใจเรื่อง ประจำเดือน (34%) ตกขาว (20%) มะเร็ง-พังผืด-ซีสต์-เนื้องอก-ฮอร์โมน (16%) รองลงมาคือ "อนามัยเจริญพันธุ์" ถามมากที่สุด คือ วิธีการคุมกำเนิด (43%) การตั้งครรภ์-การคลอด (25%) และภาวะมีบุตรยาก (19%)

อีกหัวข้อคำถามที่ผู้หญิงสนใจ เป็นเรื่อง "สังคมและวัฒนธรรม" จะถามเรื่อง ความเหมาะสม/ดอกฟ้ากับหมาวัด (24%) การมีคู่มากกว่า 1 คน (21%) พรหมจรรย์ (15%) และเขารักเราไหม (15%) อีกประเด็นเป็นคำถาม "ความรุนแรง" มีทั้งข่มขืน (62%) เพศพาณิชย์ (23%) และการใช้กำลังทำร้ายร่างกาย (15%) ปิดท้าย "ความสวยความงาม" คำถามส่วนใหญ่มีทั้งเรื่องอ้วน/ผอม (50%) ไม่พอใจในรูปร่าง (24%) และสิว/ฝ้า/หน้ามัน (11%)

สำหรับ "ผู้ชาย" คำถามยอดฮิตคือ "อวัยวะเพศชาย"

เรื่องที่พวกเขาอยากรู้ที่สุด คือ เรื่องของขนาดใหญ่หรือเล็ก / การฝังมุก (38%) การขริบ (33%) และรูปร่าง (19%) นอกจากนี้ยังถามเรื่อง "การช่วยตัวเอง" โดยส่วนใหญ่จะถามเรื่องผลกระทบ, วิธีการ และปริมาณที่เหมาะสม

ส่วนข้อสงสัยที่ทั้ง "ผู้หญิง-ผู้ชาย" ข้องใจเหมือนกัน อันดับแรกคือ "เพศสัมพันธ์" โดยผู้ชายจะให้ความสำคัญกับเรื่องสมรรถภาพเป็นหลัก (43%) ในขณะที่ผู้หญิงเน้นเรื่องผลข้างเคียงจากการมีเพศสัมพันธ์ (22%) อันดับต่อมาคือ "โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์" มักอยากรู้ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (52%) และโรคเอดส์ (48%)


ปิดท้าย เป็นคำถามจากกลุ่มเพศที่ 3 ประเด็น "อัตลักษณ์ทางเพศ" (ความหลากหลายทางเพศ) ส่วนใหญ่จะเป็นคำถามเกี่ยวกับกลุ่มชายรักชาย (52%) หญิงรักหญิง (32%) และรักสองเพศ (13%)

ข้อสงสัย "เยอะ" ขนาดนี้ ยิ่งตอกย้ำว่า เรื่องเพศไม่ใช่แค่เรื่องเพศสัมพันธ์อย่างเดียว

ญาณาธรบอกว่า สังคมไทยอาจคิดว่าสื่อไขปัญหาเพศเป็นเรื่องไม่งาม แต่ถ้ามองในมุมกลับ ในสังคมที่ยังไม่เปิดกว้างเรื่องนี้ และไม่มีข้อมูลความรู้ให้ประชาชนศึกษาอย่างเพียงพอ สื่อประเภทนี้มีประโยชน์ เพราะเป็นช่องทางระบายให้กับผู้ที่มีปัญหา และไม่สะดวกใจจะถามแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญโดยตรง

"อยากให้สังคมไทยเปลี่ยนทัศนคติเรื่องเพศใหม่ เปิดกว้างมากขึ้น ขีดเส้นแบ่งระหว่างลามกอนาจารกับสุขภาพ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เพศสัมพันธ์ แต่เป็นเรื่องสุขภาพทั้งหมดของมนุษย์"
ญาณาธรย้ำ

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์