เมา-เจ็บ-ตาย-เสียตัว! ลอยกระทง นับวันจะยิ่ง หลงทาง

เมา-เจ็บ-ตาย-เสียตัว! ลอยกระทง นับวันจะยิ่ง หลงทาง



ตามปฏิทินจันทรคติไทย ในคืนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (หรือเดือนยี่-เดือนที่ 2 ตามปฏิทินจันทรคติล้านนา) ถูกกำหนดเป็นคืนวันแห่งประเพณี “ลอยกระทง” ประเพณีที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อทำสิ่งที่ดี 
 
แต่ยุคหลัง ๆ มาจนปัจจุบัน...นับวันชักจะ “ไม่ดี”
 
กลายเป็นคืนวันแห่งการ “เมา-เจ็บ-ตาย-เสียตัว”

 
ทั้งนี้ ลอยกระทงเป็นวัน-เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวไทยส่วนใหญ่ มีการ “ลอยกระทง” ตามสายน้ำ โดยมีคติความเชื่อหลายอย่างคือ... เพื่อเป็นการ “สะเดาะเคราะห์” เพื่อเป็นการ “ขอขมาต่อพระแม่คงคา” เพื่อเป็นการ “บูชารอยพระพุทธบาท” ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที เพื่อเป็นการ “บูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก” โดยประเพณีลอยกระทงมีการจัดขึ้นแทบจะทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ที่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง  แหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็จะมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป
 
เชื่อกันว่าประเพณีลอยกระทงเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในสมัย พ่อขุนรามคำแหง และ “นางนพมาศ” เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นครั้งแรก โดยแต่เดิมเรียกว่าพิธี “จองเปรียง” ที่ลอยเทียนประทีป และนางนพมาศได้นำดอกโคทมซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือน 12 มาใช้ใส่เทียนประทีป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีบางหลักฐานบ่งชี้ว่าประเพณี ลอยกระทงนี้ต้นกำเนิดอาจจะไม่เก่าแก่กว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพจิตรกรรมการสร้างกระทงแบบต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
 
ลอยกระทงในยุคหลัง ๆ เป็นเทศกาลสำคัญของไทยที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยเองและชาวต่างประเทศท่องเที่ยวตามสถานที่จัดงานเป็นจำนวนมาก

ซึ่งวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 มักจะตกอยู่ในราวเดือน พ.ย. และในปี 2551 นี้ก็ตรงกับวันที่ 12 พ.ย. โดยในช่วงเทศกาลลอยกระทงนี้ก็ถือเป็นช่วงที่กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยรายได้ด้านการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี พร้อม ๆ ไปกับการสืบสานประเพณีไทย ขณะเดียวกัน เทศกาลนี้ก็น่าจะเป็นช่วงโอกาสที่ดีในการเผยแพร่สิ่งที่ดี ๆ ที่สวย ๆ งาม ๆ อวดชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ศิลปะ-วัฒนธรรมไทย ตลอดจนขนบธรรมเนียมต่าง ๆ พร้อม ๆ ไปกับความอิ่มเอมใจของคนไทยเองที่ร่วมกันทำกิจกรรมดี ๆ ในช่วงเทศกาลลอยกระทง 
 
แต่ยุคปัจจุบันนี้...ลอยกระทงกลับเป็นอีกช่วง “โชว์เสื่อม”
 
เรื่องร้าย ๆ เรื่องไม่ดี เกิดขึ้นมากในเทศกาลลอยกระทง !!

 
“50.1% มีความตั้งใจจะร่วมเฉลิมฉลองลอยกระทงปีนี้ กิจกรรม ที่ตั้งใจทำมากที่สุดคือ ลอยกระทง ชมการประกวดกระทง ประกวดนางนพมาศ การแสดงบนเวที การทำบุญตักบาตร ทั้งนี้ 44.1% ระบุว่าตั้งใจ  มีกิจกรรมต่อหลังการลอยกระทง อันดับแรกคือ นั่งรถเที่ยวชมสถานที่ ต่าง ๆ 59%, ร้องเพลง-ฟังเพลง 28%, อยู่กับคนรักสองคน 14.1%, ดื่มแอลกอฮอล์ 11.5%, มีเพศสัมพันธ์ 5.4%, แข่งรถ 3% ...”
 
สำหรับความเชื่อเรื่อง “วัยรุ่นกับการมีเพศสัมพันธ์ในวันลอยกระทง” กลุ่มตัวอย่างถึง 44.3% เชื่อว่า “วันลอยกระทงเป็นวันที่วัยรุ่นนิยมมีเพศสัมพันธ์กัน”
 
...นี่เป็นข้อมูลที่ได้จากผลสำรวจในเรื่อง “ความคิดเห็นต่อเทศกาลวันลอยกระทงปี 51” โดยเอแบคโพล กับกลุ่มตัวอย่าง 2,411 คน ซึ่งเป็นอีกกระจกสะท้อน
“ความเสื่อมของเทศกาลลอยกระทง”
 
จากเดิมที่เป็นประเพณี-เป็นเทศกาลที่ขรึมขลัง-งดงาม มายุคนี้กลับปะปนคละคลุ้งด้วย การดื่มเครื่องดื่มมึนเมา, อุบัติเหตุเจ็บ-ตายจากสาเหตุเมาแล้วขับ, เจ็บ-ตายจากการเมาแล้วทะเลาะวิวาท, การก่อคดีทางเพศ ลวนลาม-ข่มขืน, การที่ผู้หญิงยอมเสียตัวให้ผู้ชายโดยที่ยังไม่ได้แต่งงานกัน
ฯลฯ
 
นี่ยังไม่นับรวมเรื่องเศร้ากรณี เด็กจมน้ำตาย ช่วงคืนวัน “ลอยกระทง” ซึ่งเมื่อปีที่แล้วทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่าในช่วงเทศกาลลอยกระทงเป็นช่วงเวลาที่เด็กไทยมีความเสี่ยงจะเสียชีวิตจากการจมน้ำสูงที่สุดในรอบปี โดยสถิติ 4-5 ปีที่ผ่านมา ในคืนวันลอยกระทงจะมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตทันทีเฉลี่ย 5 ศพ และในวันรุ่งของวันลอยกระทงจะพบเด็กเสียชีวิตอีกเฉลี่ย 8 ศพ หรือเฉลี่ยรวม 13 ศพ 
 
และยังไม่นับรวมเรื่องที่ไม่ควรเกิดแต่ก็เกิด คือการ บาดเจ็บ-เสียชีวิต-เพลิงไหม้...จากการเล่นประทัด-พลุ-ดอกไม้ไฟ อย่างประมาท-ขาดการระมัดระวัง ทั้งในส่วนของเด็กและผู้ใหญ่เอง โดยทางฝ่ายสาธารณสุขระบุไว้ว่าในช่วงเทศกาลลอยกระทงจะมีผู้บาดเจ็บจากพลุและดอกไม้ไฟจำนวนมาก รายงานตัวเลขตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมามีผู้บาดเจ็บรุนแรงเฉลี่ยปีละ 400-600 ราย ปี 2549 มี 560 ราย และเสียชีวิต 8 ราย 
 
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในแต่ละปีหลายหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับแต่ละปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลคืนวัน “ลอยกระทง” ก็ออกมารณรงค์ให้คนไทยระมัดระวังตัวเอง-บุตรหลาน ให้รื้อฟื้นความเป็นประเพณีอันดีงาม ไม่ใช้ลอยกระทงเป็นเทศกาลปล่อยตัว-ประพฤติตัวในทางเสื่อม หรือสนุกเกินเลย-เกินเหตุ ซึ่งก็พอจะบรรเทาปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ทั้งหมด และส่วนที่ยังเป็นปัญหาก็มิใช่กลุ่มเล็ก ๆ และยังเป็นปัญหาต่อเนื่องทุกปี
 
ปี 2551 นี้...สถิติในทางที่ไม่ดีช่วงลอยกระทงก็คงยังมีอีก
 
ณ ที่นี้...ก็กระตุ้นเตือนกันไว้อีกครั้ง-หวังว่าจะไม่มากนัก
 
“ลด-ละ-เลิก...ลอยกระทงแบบหลงทาง” กันเถอะ !!!.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์