คนประหลาด

คนประหลาด


คนประหลาด (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)


เรื่องวาจา

“คำว่าพูดเป็นธรรม มิได้หมายความว่า พูดเรื่องธรรม
แต่หมายความว่า พูดถูกต้อง มีเหตุผล
ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียน แต่เป็นไปเพื่อเกื้อกูล”


การสังวรวาจา

เมืองหนึ่งมีคนแปลกประหลาด คือมีปากเป็นขวาน
เมื่อไม่ชอบผู้ใด ก็ใช้ขวานที่ปากฟันผู้นั้น
แต่ก็มีข้อแปลกประหลาดคือฟันไม่ถูกที่ร่างกาย
แต่ไปถูกที่จิตใจที่ทำให้เจ็บยิ่งกว่าร่างกาย
คนที่ถูกฟันก็มีขวานที่ปากอีกเหมือนกัน
ก็ฟันตอบเข้าบ้างและก็ถูกที่ใจอีกเหมือนกัน


เมื่อใช้ปากขวานฟันกันไปฟันกันมา
ก็มีคนมารุมดูกันมากมาย สนับสนุนข้างโน้นบ้างข้างนี้บ้าง
บางที่ก็เข้าช่วยตะลุมบอนกันเป็นสองฝ่าย

เพราะต่างฝ่ายก็มีปากเป็นขวานอยู่ด้วยกันและมีแปลกประหลาดอีกอย่างหนึ่ง
คือนอกจากเป็นขวานที่ฟันไม่ถูกร่างกายของใครถูกแต่ใจแล้ว
ยังเป็นขวานที่เมื่อเหวี่ยงออกไปที่ใครอื่นแล้ว
ยังหมุนมาถูกตัวเจ้าของขวานเองอีกด้วย

บางคราวมีผู้วิเศษมาเป่ามนต์ลงไปว่าน้ำลม ลมน้ำ
อำนาจมนต์ทำให้ขวานหลุดจากปาก หมดอำนาจที่จะฟาดฟันกันต่อไป

เมืองที่มีคนปากขวานแปลกประหลาดนี้ สมมุติขึ้นตามพระพุทธภาษิตในพระสูตรหนึ่งที่ว่า “ขวานเกิดที่ปากของคน ผู้เกิดมาแล้ว เป็นเครื่องตัดตนเองของคนโฉดผู้ชั่วร้าย ผู้ใดสรรเสริญผู้ที่ควรติเตียน หรือติเตียนผู้ที่ควรสรรเสริญ ผู้นั้นย่อมก่อโทษขึ้นด้วยปาก ย่อมไม่ได้ความสุขเพราะโทษนั้น ความเล่นการพนันเสียทรัพย์หมดสิ้น พร้อมทั้งตัวเองล้มละลาย โทษนี้แหละใหญ่ยิ่งกว่านัก”

พระพุทธภาษิตนี้ ตรัสสอนให้คนสังวรปาก สังวรวาจา เพื่อที่จะไม่ใช้วาจาฟาดฟันใครด้วยความคะนอง เพราะวาจานั่นเองจะกลับมาเป็นขวานฟันตัวเองเข้าให้ ข้อที่ว่า “ขวานเกิดที่ปาก” เป็นข้อเตือนด้วยว่า เมื่อว่าเขาได้ก็เป็นเหตุให้เขาว่าตอบเข้าบ้าง เพราะเท่ากับปากของตนเองเป็นขวาน ที่หวนกลับมาฟันตนเอง

เรื่องของความคะนองวาจา
ถึงจะไม่ไปทำอันตรายทางร่างกายแก่ใครๆ
แต่ก็ไปทำให้คนที่มุ่งจะว่า เกิดความเจ็บใจหรือทุกข์ใจขึ้นได้แม้อย่างสาหัส
ทั้งอาจจะเป็นชะนวนแห่งความวิวาทแตกร้าว ตลอดถึงเหตุรุนแรงอื่นๆ
ดังที่มีตัวอย่างเป็นอันมาก


พูดไม่ดีหน่อยเดียวก่อให้เกิดผลร้ายมากมาย หรือพูดดีไม่กี่คำ ก่อให้เกิดผลดีเป็นอันมาก ผู้วิเศษที่มาช่วยเป่ามนต์นั้น คือใครก็ตามที่จะช่วยเตือนสติ หรือแม้สติของตนเองที่เกิดเตือนใจว่า วาจาที่พูดนั้นเป็นเพียงลมปากหรือน้ำลาย เพื่อผู้ที่จะพูดจะได้สงบลมปากของตน หรือระงับน้ำลายไว้ ไม่เป่าไม่พ่นออกไปแก่ใครและผู้ที่ฟังจะได้คิดว่าเพียงแต่ลมปากหรือเพียงแต่น้ำลาย

ถ้าตัวเองไม่รับเอาลมหรือน้ำลายมาปรุงปนขึ้นให้เป็นตัว ก็ไม่เป็นเรื่องเป็นราวเป็นพิษสงอะไรทั้งนั้น แต่ถ้ารับมาปรุงมาแต่ง มาปรุงมาปั้นเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นแล้ว ลมปาก็กลายเป็นลมกรดแรงยิ่งกว่าพายุ น้ำลายก็กลายเป็นน้ำที่มีระลอกคลื่นยิ่งกว่าน้ำในมหาสมุทร

จึงอยู่ที่ใจนี้เอง “ความสงบระงับสังขาร (ความปรุงแต่งใจนี่แหละ) เสียได้เป็นสุข”


: ธรรมจักขุ มกราคม ๒๕๕๑ (๑๕-๑๖)
: พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


ขอบคุณบทความจากธรรมจักรดอทเน็ต


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์