อันตรายบารากู่

อันตรายบารากู่


บารากู่ หมายถึง ยาสูบที่นํามาใช้กับอุปกรณ์ที่ใช้เสพที่มีชื่อเรียกว่า ฮุกคา (hookah) อุปกรณ์นี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันหลายภาษา เช่น water pipe, narghile, shisha, hubble-bubble เป็นต้น

ประเทศไทยเรียกว่าเตาบารากู่ เป็นภาชนะโลหะทรงสูงปากแคบ ด้านล่างเป็นกระเปาะใส่น้ำคล้ายตะเกียงแบบอาหรับ จะมีการทำความร้อนกับยาสูบทำให้เกิดควัน และส่งผ่านควันออกมายังน้ำเพื่อกรองฝุ่นขี้เถ้าและลดความร้อน และมีสายยางต่อออกมาเพื่อดูดควันอีกที

การสูบบารากู่เป็นวัฒนธรรมแถบตะวันออกกลางมานานแล้ว

พบได้ในร้านอาหาร ภัตตาคารทั่วไป ใช้สูบหลังอาหารแทนบุหรี่ บางแห่งสูบกันในแหล่งที่ใช้เป็นที่สังสรรค์ ดูรายการยอดนิยม หรือดูกีฬาระดับชาติร่วมกัน ปัจจุบันแพร่หลายในแถบโลกตะวันตกด้วย


อันตรายบารากู่


สารที่นํามาใช้กับอุปกรณ์ฮุกคา ไม่จําเป็นต้องแห้งสนิท ที่มักใช้กันมีชื่อเรียกว่า โทบาเมล หรือ มาแอสเซล

ในไทยรู้จักกันในชื่อว่า บารากู่ เป็นส่วนผสมของใบยาสูบกับสารที่มีความหวานเช่น น้ำผึ้ง หรือกากน้ำตาล (molasses)
หรือผลไม้ตากแห้ง อาทิ แอปเปิ้ล สตรอว์เบอร์รี่ มะม่วง เมล็ดกาแฟ วานิลลา เชอร์รี่ องุ่น มะนาว มินต์ แม้กระทั่ง กุหลาบ หมากฝรั่งหรือสมุนไพรบางชนิด

เมื่อไม่นานมานี้หลายประเทศทั้ง สกอตแลนด์ อังกฤษ อเมริกาและแคนาดา ห้ามการสูบในที่สาธารณะ ส่วนในประเทศไทยการสูบบารากู่ต้องดูว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ มีส่วนผสมของยาสูบหรือไม่

ถ้ามีจะเข้าข่ายพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ มีกฎหมายครอบคลุม ห้ามจำหน่ายบุหรี่แก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามจำหน่ายในลักษณะการแจก หรือแถมตัวอย่าง ฯลฯ และพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ ที่กฎหมายกำหนด ห้ามสูบในที่สาธารณะ มีโทษปรับ 2,000 บาท


อันตรายบารากู่


อย่างไรก็ตาม จากการสุ่มตรวจของเจ้าหน้าที่พบว่าบารากู่ที่นำเข้ามาขายในไทยทุกยี่ห้อมีส่วนผสมของยาสูบ

อันตรายของบารากู่ต่อสุขภาพมีการศึกษาเกี่ยวกับการสูบยา พบว่า ถ้าใช้เวลาสูบนาน 45 นาที จะได้รับสารทาร์เป็น 36  เท่า คาร์บอนมอนอกไซด์เป็น 15 เท่า และนิโคตินเป็น 70 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้บุหรี่ 9 มวน โดยคํานวณว่าการสูบบุหรี่ 1 มวนใช้เวลา 5 นาที และมีโอกาสเป็นโรคเหงือกมากกว่าคนไม่สูบถึง 5 เท่า

นอกจากนี้วารสารเกี่ยวกับโรคทางช่องปากระบุว่า การสูบบารากู่นั้นจะมีสารพิษบางประเภทเจือปนอยู่

เนื่องจากตัวทำความร้อนที่มาจากโลหะ จะทำให้เกิดสารพิษได้แก่ ไนโตรซามีนและไฮโดรคาร์บอน รวมทั้งยังมีการพบว่าบางครั้งมีการใช้สารเคมีอันตรายบางชนิดเพื่อทำความร้อนให้ติดไฟได้ง่ายขึ้นด้วย โดยมีตัวเลขระบุว่า 30 %
ของผู้ที่สูบบารากู่ มีโอกาสจะติดโรคร้ายแรงในช่องปาก ขณะที่ผู้สูบบุหรี่จะมีโอกาสเป็นโรคในช่องปาก 24 % ส่วนคนที่ไม่สูบอะไรเลยนั้น 8 %


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์