ปัสสาวะเล็ด ปัญหาสตรีที่แก้ได้

ปัสสาวะเล็ด ปัญหาสตรีที่แก้ได้


วิจัยพบหญิงไทยวัยหมดประจำเดือนกว่าร้อยละ 80 ประสบปัญหาปัสสาวะเล็ด หลายคนอายไม่ยอมรักษา ถึงขั้นเก็บตัว ไม่ออกจากบ้าน เผยสาเหตุมาจากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อนสมรรถภาพจากการคลอดบุตร แนะ "ขมิบ" อย่างถูกวิธีทุกวัน เพื่อป้องกันก่อนสายเกินแก้ แถมยังช่วยให้เพศสัมพันธ์ดีขึ้นด้วย


รศ
.กรกฏ เห็นแสงวิไล หัวหน้าโครงการวิจัย เรื่อง "สร้างเสริมสุขภาพบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานในสตรีด้วยตนเอง" โดยการสนับสนุนของแผนเปิดรับทั่วไป สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า ปัญหากล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อนสมรรถภาพ ถือเป็นเรื่องที่พบในสตรีทั่วโลก โดยเฉพาะในวัยหมดประจำเดือน เช่น ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า พบว่าสตรีวัยหมดประจำเดือนร้อยละ 75.3  มีปัญหาการกลั้นปัสสาวะ

ขณะที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบว่า สตรีวัยหมดประจำเดือนร้อยละ 89.3
มีปัญหาเดียวกัน และร้อยละ 43.3 มีภาวะมดลูกหย่อนด้วย นอกจากนี้จากการสำรวจสตรีไทยในภาคเหนือตอนบน ช่วงปี 2542 - 2543 ยังพบว่าผู้หญิงช่วงอายุ 20 - 24 ปี พบปัญหากลั้นปัสสาวะถึงร้อยละ 41 และวัยหมดประจำเดือนอีกร้อยละ 48


ปัญหาที่ตามมาคืออาการปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ มดลูกหย่อน และเพศสัมพันธ์บกพร่อง เนื่องจากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่อ่อนแรงและหย่อนลงมาจะทำให้ช่องคลอดขาดประสิทธิภาพ ไม่สามารถหดตัวได้ขณะมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ยังผายลมบ่อยผิดปกติ


ปัสสาวะเล็ด ปัญหาสตรีที่แก้ได้

"คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ในเรื่องการกลั้นปัสสาวะ ส่วนมากคิดว่าเป็นเรื่องของคนสูงอายุ หรือบางคนรู้สึกอาย กลัวสังคมรังเกียจ จึงไม่มารับการรักษา และพยายามแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง เช่น ดื่มน้ำน้อยลง เข้าห้องน้ำบ่อย ๆ ใส่ผ้าอนามัย หรือในรายที่มีอาการฉี่เล็ดมาก ๆ อาจถึงขั้นเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่ยอมออกจากบ้าน" รศ.กรกฏกล่าว


สำหรับสาเหตุของอุ้งเชิงกรานหย่อนสมรรถภาพนั้นมาจากหลายปัจจัย

อาทิ การตั้งครรภ์และการคลอด การตั้งครรภ์จะทำให้มีการยืดขยายของกล้ามเนื้อและพังผืดรอบอุ้งเชิงกราน ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ ส่วนการคลอดเป็นการกระทำโดยตรงต่อกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน คือมีการกรีดฝีเย็บ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง นอกจากนี้ในผู้สูงอายุ สตรีวัยหมดประจำเดือน คนอ้วน คนใช้แรงงานยกของหนัก ก็เกิดภาวะกล้ามเนื้อหย่อนยานได้ง่าย รวมไปถึงโรคเรื้อรัง เช่น ถุงลมโป่งพอง ไอเรื้อรัง กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กล้ามเนื้องอก ล้วนก่อเกิดอาการปัสสาวะเล็ดได้


รศ
.กรกฏกล่าวต่อว่า ในการวิจัยได้เสนอวิธีการให้ความรู้และสร้างเสริมสุขภาพสตรีเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน สตรีที่เริ่มมีอาการปัสสาวะเล็ด และสตรีมีครรภ์

โดยแนะนำการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอย่างถูกต้องด้วยตนเอง ด้วยการใช้สื่อวีดิทัศน์ที่ผลิตขึ้นอย่างมีคุณภาพ แล้วใช้แบบ สอบถาม วัดผลสัมฤทธิ์ในสตรีวัย 40 - 60
 
ปี ประมาณ 60  คน ในจังหวัดเชียงใหม่และพิษณุโลก เพื่อเปรียบเทียบการเรียนรู้ด้วยตนเองก่อนและหลังการใช้วีดิทัศน์ และศึกษาในสตรีที่เริ่มมีอาการปัสสาวะเล็ดจำนวน 30 คน เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมและสตรีมีครรภ์จำนวน 30  คน


ปัสสาวะเล็ด ปัญหาสตรีที่แก้ได้


"ผลออกมาว่ากลุ่มทดลองมีความรู้เกี่ยวกับอุ้งเชิงกรานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน และยังฝึกขมิบอุ้งเชิงกรานอย่างถูกวิธีต่อเนื่องถึง 12
สัปดาห์ ทำให้คนที่เคยมีปัญหาปัสสาวะเล็ดบ่อย ๆ ลดความรุนแรงของอาการลง กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแข็งแรงและกระชับตัว ส่งผลต่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ผู้เข้าร่วมทดลองหลายคนเล่าว่าได้รับคำชมจากสามีในเรื่องนี้"  หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าว


ส่วนการทดสอบสมรรถภาพกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานด้วยตนเองนั้น รศ
.กรกฏแนะนำว่า

ทำได้โดยการดื่มน้ำ 2
แก้ว แล้วรอประมาณ 10 - 15 นาที จนรู้สึกปวดปัสสาวะ ให้กระโดดพร้อมกันจนสองเท้าลอยพ้นพื้นติดต่อกัน 20 ครั้ง จากนั้นกระโดดกางขาหน้า - หลัง 4 ครั้ง และไอแรง ๆ อีก 2 - 3  ครั้ง สังเกตว่ามีปัสสาวะเล็ดหรือไม่ เพราะในคนปกติกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานควรควบคุมได้ ไม่มีอาการปัสสาวะเล็ด


อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดอาการปัสสาวะเล็ดหรือไม่ วิธีการป้องกันและบรรเทาอาการของโรคทำได้โดย

การขมิบอุ้งเชิงกรานแรง ๆ ค้างไว้ 10
วินาที แล้วปล่อยประมาณ 5 วินาที ทำซ้ำอีกจนครบ 5 ครั้ง แล้วขมิบ - ปล่อยแบบแรงเต็มที่อีก 5 ครั้ง วันหนึ่ง ๆ ควรทำอย่างน้อย 4 - 5 ครั้ง ในช่วงเช้า สาย บ่าย เย็น และก่อนนอน โดยต้องฝึกขมิบในขณะที่ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น นั่ง ยืน เดิน จาม จนกลายเป็นนิสัย จะส่งผลดีต่อสตรีในระยะยาว


สุขภาพบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานในสตรีด้วยตนเอง เป็นงานวิจัยเชิงนวัตกรรมที่หยิบเอาผลการวิจัยหรือผลสำรวจของต่างประเทศมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย และยังคิดค้นวิธีการสอนให้หญิงไทยรู้จักขมิบอุ้งเชิงกรานอย่างถูกวิธีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านสื่อวีดิทัศน์ และการฝึกอบรม ช่วยแก้ไขปัญหาของสตรีจำนวนมากที่ประสบปัญหาเรื้อรังมานาน

"เป็นที่น่ายินดีที่ระยะหลังงานวิจัยของสสส.ไม่ได้ทำในลักษณะขึ้นหิ้ง แต่มีการจัดการให้ใช้ผลงานวิจัยนั้น ๆ มีคนหยิบยกมาทำต่อ สาธิตให้เห็นถึงทางออกของปัญหา เสน่ห์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในระยะหลังคืองานวิจัยก่อให้เกิดความผูกพันระหว่างนักวิจัยกับชุมชน โดยจะพบว่างานวิจัยหลายชิ้นเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ดึงชาวบ้านเข้ามาเป็นนักวิจัย ขณะที่นักวิชาการเป็นเพียงพี่เลี้ยง หรือบางชิ้นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นคนในพื้นที่เข้าไปทำกับชุมชนของตนเอง

ทำให้งานวิจัยนั้นเกิดความยั่งยืนแม้จะสิ้นสุดโครงการไปแล้ว นับเป็นการจุดตะเกียงช่วยส่องสว่างในที่มืด แม้จะยังไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่ทุกชุมชนก็ตาม"
..ชาตรีกล่าว


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์