13 รอยเลื่อนมีพลัง และ กรุงเทพฯ เสี่ยงแผ่นดินไหวอย่างไร?

13 รอยเลื่อนมีพลัง และ "กรุงเทพฯ" เสี่ยงแผ่นดินไหวอย่างไร?


เหตุการณ์แผ่นดินไหวซึ่งเกิดขึ้นที่ จ.ภูเก็ต ในช่วงที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากสังคมไทยเป็นอย่างมาก มีกาiเตรียมตัวรับมือ การนำเสนอข่าว วิเคราะห์ข่าว ตลอดจนคาดการณ์ความเสี่ยงต่างๆอย่างต่อเนื่อง เพราะนับเป็นแผ่นดินไหวที่เกิดใกล้ตัวกับคนไทยที่สุด


และที่สำคัญ เกิดขึ้นหลังจากแผ่นดินไหวขนาด 8.6 ริกเตอร์ บริเวณตอนเหนือของเกาะสุมาตรา เมื่อวันที่ 11 เมษายน เพียงไม่กี่วัน (แม้ในทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกันหรือไม่ก็ตาม)


"มติชนออนไลน์" รวบรวมข้อมูลต่างๆที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการรับมือภัยพิบัติ เพื่อเปลี่ยนความตื่นตระหนกมาเป็นตั้งสติ และเรียนรู้ที่จะอยู่กับโลกใบนี้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์


13 รอยเลื่อน เสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย


รอยเลื่อน (faults) หรือรอยแตกในเปลือกโลก นี่เองที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว โดยในประเทศไทยตั้งแต่เหนือจรดใต้ มีรอยเลื่อนทั้งหมดนับร้อยรอยเลื่อน แต่ที่กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่าเป็น "รอยเลื่อนมีพลัง (active fault)" หมายความว่า เป็นรอยเลื่อนที่จะมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอีกในอนาคต อาจก่อให้เกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยได้นั้นมีอยู่ 13 รอยเลื่อน ได้แก่


13 รอยเลื่อนมีพลัง และ กรุงเทพฯ เสี่ยงแผ่นดินไหวอย่างไร?

1.รอยเลื่อนแม่จันและแม่อิง ครอบคลุม จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่
2.รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ครอบคลุม จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ตาก
3.รอยเลื่อนเมย ครอบคลุม จ.ตากและ จ.กำแพงเพชร
4.รอยเลื่อนแม่ทา ครอบคลุม จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน และ จ.เชียงราย
5.รอยเลื่อนเถิน ครอบคลุม จ.ลำปางและ จ.แพร่
6.รอยเลื่อนพะเยา ครอบคลุม จ.ลำปาง จ.เชียงราย และ จ.พะเยา
7.รอยเลื่อนปัว ครอบคลุม จ.น่าน
8.รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ ครอบคลุม จ.อุตรดิตถ์
9.รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ครอบคลุม จ.กาญจนบุรี และ จ.ราชบุรี
10.รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ครอบคลุม จ.กาญจนบุรี และ จ.อุทัยธานี
11.รอยเลื่อนท่าแขก ครอบคลุม จ.หนองคายและ จ.นครพนม
12.รอยเลื่อนระนอง ครอบคลุม จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชุมพร จ.ระนอง และ จ.พังงา
13.รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ครอบคลุม จ.สุราษฎร์ธานี จ.กระบี่ และ จ.ภูเก็ต

เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ จ.ภูเก็ต ที่เกิดขึ้นหลายสิบครั้ง ตลอดหลายวันที่ผ่านมานี้ เกิดขึ้นจากรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย เคลื่อนตัวนั่นเอง


13 รอยเลื่อนมีพลัง และ กรุงเทพฯ เสี่ยงแผ่นดินไหวอย่างไร?

"กรุงเทพฯ" ปลอดภัยจริงๆ หรือ?


กรุงเทพมหานคร แม้จะไม่มีรอยเลื่อนพาดผ่าน แต่คงต้องไม่ประมาทสำหรับการเตรียมรับมือ นั่นเป็นเพราะ กรุงเทพตั้งอยู่ในจุดที่เรียกว่า "แอ่งดินอ่อน" โดยรอยเลื่อนที่อาจส่งผลกระทบหากเกิดแผ่นดินไหวคือ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ห่างจากกรุงเทพฯ 200-300 กิโลเมตร

และที่สำคัญคือเป็น 2 รอยเลื่อนแขนงที่ซึ่งเชื่อมกับรอยเลื่อนหลัก คือรอยเลื่อนสะแกง ในประเทศพม่า


สิ่งที่นักวิชาการด้านธรณีวิทยาหลายคนเป็นห่วง คือ ปัจจัยหลายประการของกรุงเทพฯ ที่มีความคล้ายคลึงกับกรุงเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก ซึ่งเคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อ 19 กันยายน พ.ศ. 2528 จนทำให้ทั้งเมืองถล่มราบเป็นหน้ากลอง มีผู้เสียชีวิตกว่า 10,000 คน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่ม คาดการณ์ว่าอาจมีผู้เสียชีวิตมากถึง 40,000 คน


13 รอยเลื่อนมีพลัง และ กรุงเทพฯ เสี่ยงแผ่นดินไหวอย่างไร?

สำหรับปัจจัยต่างๆ ที่นักวิชาการหลายคนห่วง อาทิ การตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อน (ความหนาชั้นดินเหนียวอ่อน เม็กซิโกซิตี้  70 เมตร - กรุงเทพฯ  30 เมตร ), ระยะห่างศูนย์กลางแผ่นดินไหวจากเมืองหลวงถึงรอยเลื่อนที่ใกล้เคียงกัน (เม็กซิโกซิตี้ ห่าง 350 กิโลเมตร - กรุงเทพฯ ห่าง 200 กิโลเมตร) การไม่มีรอยเลื่อนพาดผ่านจึงคิดว่าปลอดภัย ไม่มีการอออกแบบอาคารรองรับแผ่นดินไหว


สิ่งที่เม็กซิโกซิตี้เผชิญในคราวนั้นคือ "แผ่นดินไหวระยะไกล" แต่ทว่าสามารถส่งผลเสียหายต่อเมืองหลวงของประเทศเม็กซิโกได้อย่างมหาศาล


กรุงเทพมหานครเองก็เช่นกัน ประวัติศาสตร์ของเม็กซิโกซิตี้ น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีไม่น้อยสำหรับการเตรียมรับมือแผ่นดินไหว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์