ตรุษจีน กับทุกกิจกรรมทำเพื่อให้เฮง-เฮง

ตรุษจีน  กับทุกกิจกรรมทำเพื่อให้เฮง-เฮง


ทำไมการไหว้เทพเจ้าแห่งโชคลาภจึงเปลี่ยนทิศทุกปี


 ทุกครั้งที่ใกล้ถึงเทศกาลตรุษจีน  ผู้เขียนมักถูกระหน่ำถามถึงทิศที่ไช้ซิ้งเอี๊ย  หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภจะเสด็จลงมา  เพราะต้องเปลี่ยนทุกปี  ตลอดจนเวลาไหว้  และหลายครั้งก็จะมีมือใหม่ขอถามถึงของที่ต้องไหว้เพราะอยากไหว้บ้าง 

 เนื่องจากเนื้อแท้ของการไหว้ไช้ซิ้งเอี๊ย  หรือการไหว้เทพเจ้าแห่งโชคลาภ  คือการไหว้รับทิศที่โลกจะหมุนเข้าหา  ณ  เวลาแรกของวันตรุษจีน  ทำให้ธรรมเนียมไหว้ใช้ซิ้งเอี๊ย  จะต้องเป็นกลางดึกคืนวันสิ้นปีของจีนขณะย่างเวลาเข้าวันตรุษจีนเสมอ
 
ของไหว้เด่นจริงๆ  ที่การไหว้อื่นๆ  ของจีนไม่มีคือ  การนิยมไหว้ กิมฮวย  คำเต็มจะเรียกว่ากิมฮวยอั้งติ้ว  แปลง่ายๆ  ว่าดอกไม้ทองผ้าแพรแดง  ดั้งเดิมเป็นเครื่องประดับหมวกยศของจอหงวนและขุนนางผู้ใหญ่ใช้ออกงานสำคัญ

 เกิดเป็นธรรมเนียมต่อมาว่าคนจีนนิยมนำกิมฮวยมาปักประดับที่กระถางธูป  เพื่ออวยพรให้ลูกหลาย  ก้าวหน้ารุ่งเรืองได้เป็นใหญ่เป็นโต  แล้วเกิดเป็นความนิยมว่ากิมฮวยนี้จะซื้อคู่ใหม่มาเปลี่ยนในวันตรุษจีน  โดยนำมาไหว้ใช้ซิ้งเอี๊ย  เพื่อให้เป็นสิริมงคลก่อน
 
ของไหว้พิเศษอีกอย่างที่หลายบ้านน่าจะมีเหมือนกันคือ  ข้าวสารบางบ้านใส่จานไหว้  แต่ที่บ้านผู้เขียนอาม้าจะใส่ในกระถางธูป  ให้เป็นที่ปักธูปไปเลย  แล้วข้าวสารนี้เมื่อไหว้เสร็จก็จะถูกนำมาหุงทานกันเพื่อให้เฮงเฮง

 
เช่นเดียวกับของไหว้อื่นๆ  ก็ล้วนต้องการให้มีความหมายอวยพรเฮงๆ  อันได้แก่

• ขนมอี๋  ขนมบัวลอยที่ทำจากข้าวเหนียว  ปั้นเป็นลูกกลมๆ  ต้มกับน้ำตาลหวานใส  เวลาเคี้ยวก็ทั้งนุ่มและหวาน  เป็นการอวยพรให้ทุกเรื่องที่เข้ามาในชีวิตล้วนง่ายและหวาน
• ขนมจันอับ  ซึ่งเป็นขนมแห้งๆ  ๕  อย่างอันได้แก่  ข้าวพอง  ถั่วตัด  งาตัด  ถั่วเคลือบ  และฟักเชื่อม  โดยข้าว-ถั่ว-งา  คือธัญพืช  คนจีนแต้จิ๋ว  เรียกว่า  เจ๋งจี้  ธัญก็ดี  เจ๋งจี้ก็ดี  ล้วนมีความหมายว่างอกงาม  ปลูกแล้วงอกง่าย  ขอให้ชีวิตได้เจริญก้าวหน้าเหมือนธัญพืชที่งอกง่าย
• ส้มไหว้  ๑ จาน  กี่ผลก็ได้แต่นิยมให้เป็นส้มสีทอง  โดยความนิยมไหว้ส้มมาจากคำเรียกส้มคำหนึ่งว่า  ไต้กิก  แปลตรงตัวตามหลักก็คือ  มหาสิริมงคล  แต่ถ้าแปลง่ายๆ  อย่างชาวบ้านก็คือโชคดี
• ชาน้ำไหว้เพื่อให้ใสๆ  ซดคล่องคอ  ขอให้ชีวิตคล่องๆ  ไม่ติดขัด  ทำอะไรก็คล่องแคล่วชำนาญ
• ชาใบก็ไหว้ได้ถ้าไม่อยากชงชาน้ำ  หรือจะไหว้ทั้งชาน้ำชาใบ  เพื่อให้มีสต็อกอาหารเก็บไว้กินไม่มีขาด
• กระดาษเงินกระดาษทองก็ไหว้  เพื่อให้มีเงินมีทองนั้นแล
• ดอกไม้เพื่อความสดชื่น  บางบ้านเน้นจัดไหว้แต่สีแดง  เพื่อให้เฮงเฮง  กับอีกหนึ่งปัญหาที่มักงงกันว่าขนมอี๋ก็ดี  ชาก็ดีจัดวางกี่ที่เพราะบางบ้าน  ๓ ที่  บางบ้าน  ๕ ที่  กรณีนี้มาจากการมีใช้ซิ้งเอี๊ยหลายองค์หลายแบบ

แบบหนึ่ง  คือไช้ซิ้งเอี๊ยมีองค์บู๊กับองค์บุ๋น  อีกแบบคือ โหงวโหล่วไช้ซิ้งเอี๊ย  หมายถึงเทพเจ้าแห่งโชคลาภประจำธาตุทั้ง ๕  คือ  ธาตุดิน  ธาตุน้ำ  ธาตุไม้  ธาตุไฟ  และธาตุทอง  ถ้ามีครบในดวงชะตาก็จะนำพาให้ชีวิตราบรื่นรุ่งเรือง  กับแบบที่เป็นไช้ซิ้งเอี๊ย ๕ หน้า  หมายถึง  ๕ทิศ   สะท้อนแก่นแท้ของธรรมเนียมตรุษจีนว่า  ทำเพื่ออวยพรให้เฮง เฮง  ก็จริง  แต่ในรายละเอียดอาจมีแตกต่างกันแล้วแต่นิยม

ทำไมการให้เงินตรุษจีน  จึงเป็นเงินอวยพร

 กิจกรรมเด่นอย่างหนึ่งของเทศกาลตรุษจีน  ซึ่งเด็กๆ  จะชอบมากคือการได้เงินแต๊ะเอีย  หรือจะเรียกว่า  อั่งเปา  ที่แปลว่าซองแดงก็ได้จากผู้ใหญ่  โดยหลายบ้านจะถือธรรมเนียมว่าให้กันเฉพาะคนในครอบครัวหรือสกุลเดียวกัน  แล้วอาจจะขยายวงไปถึงคนรักใคร่นับถือกันเหมือนญาติ
 
โดยแต่โบราณ   เรียกเงินนี้ว่า  เงินเอี๊ยบส่วยจี๊
 เอี๊ยบ แปลว่า กด , อัด , ห้าม
 ส่วย แปลว่า อายุ

 เอี๋ยบส่วยจี๊  เป็นดั่งหนึ่งเงินมงคลคุ้มครองชะตา  ตามตำรา  ๑๐๐  ธรรมเนียมจีนโบราณ  ที่ผู้เขียนมี  บอกว่าดั้งเดิมนิยมให้กันในวันสิ้นปี  ผู้ใหญ่จะเอาเหรียญทองแดง ๑๐๐ อัน ร้อยด้วยด้ายแดงผูกเป็นพวงให้เด็กในวันก่อนวันตรุษจีนหรือวันสิ้นปีนั่นเอง  เรียกเงินพวกนี้ว่าเอี๊ยบส่วนจี๊  โดยมีลูกเล่นเล็กๆ ว่า  ส่วนที่แปลว่าอายุนี้  พ้องเสียงกับคำว่า ส่วย  ที่แปลว่าผี  ปีศาจ  และคำว่า  ซวย  เอี๊ยบส่วย  หรือเอี๊ยบซวย  จึงแปลว่า  ห้ามความซวยหรือผี  ปีศาจมาสู่

 เงินร้อยด้ายแดงทั้งพวงนี้  ดั้งเดิมเด็กๆ  คงห้อยไว้กับเชือกผูกเอว  เกิดคำว่าแต๊ะเอีย  แปลว่า  ถ่วงเอว
 บางบ้านมีการวางส้มสีทองและลิ้นจี่ไว้ที่หมอน  แล้วให้เด็กๆ รับประทานก่อนนอนในคืนวันตรุษจีน  เรียกผลไม้นี้ว่า  เอี๊ยบส่วยก้วย  เพื่ออวยพรให้โชคดี  ซึ่งคนจีนในไทยไม่ได้นำธรรมเนียมวางเอี๊ยบส่วยก้วย  ไว้ที่หมอนให้ลูกหลานทาน  แต่จะเป็น  การนำส้มสีทองหรือ ไต้กิก  ๔ ผล  ไปมอบให้แก่ผู้ใหญ่หรือญาติมิตรที่นับถือกันมากกว่า  เรียกธรรมเนียมนี้ว่า  ไป๊เจีย
 
โดยมีเคล็ดธรรมเนียมว่า  เมื่อเรารับส้ม ๔ ผล ที่ห่อในผ้าเช็ดหน้าผู้ชายของผู้ให้มา  ก็ให้นำไปเปลี่ยน  โดยนำส้มของแขกออกมา  ๒ ใบ  แล้วใส่ส้มของเราเข้าไปแทน  ๒  ใบ  ผูกห่อผ้าเช็ดหน้าคืนแขกไป  ดังนั้นส้มสีทอง ๔  ผลนี้  ก็จะมีส้มของแขก  ๒ ใบ  กับของเราอีก  ๒ ใบ  ถือเป็นการนำโชคดีมามอบให้และแลกเปลี่ยนโชคกันด้วย

 ส่วนเงินสิริมงคนั้น  จะมีอีกตำราของผู้เขียนเรียกว่า  เงินเอี่ยมเส่งจี่  หมายถึงเหรียญเงินที่พิชิตความไม่ดี  คำเต็มๆ  คือจับยี่แซเสี่ยวเอี่ยมเส่งจี๋  เป็นเงินเหรียญรูป  ๑๒ ปีนักษัตร  สำหรับเป็นเครื่องรางคุ้มครองทุกดวงชะตาให้สันติสุขปลอดภัย

 แล้วต่อมาเงินเอี๊ยบส่วยจี๋  ที่เป็นเหรียญ  ๑๐๐ อันร้อยเชือกแดงก็ดี  เป็นเงินเอี่ยมเส่งจี๋ ๑๒ นักษัตรก็ดี  ต่อมาก็พัฒนาเป็นการให้ธนบัตรใหม่ๆ ใส่ซองแดง  เรียกว่าเงินอั่งเปาก็ได้  เงินแต๊ะเอีย  ก็ดี  สืบมาโดยคำนึงว่าเงินเอี๊ยมส่วยจี๋ได้หายไป  หากเคล็ดการให้ก็ยังคงเพื่ออวยพรนั่นเอง  เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ผู้รับว่า
 ถ้าเป็นผู้ใหญ่ให้เด็กเล็กๆ  นี่คือการอวยพรให้เจ้าตัวน้อยเจริญเติบโตแข็งแรง
 ถ้าเป็นผู้ใหญ่ให้ลูกหลานที่ทำงานแล้ว  ก็เพื่ออวยพรให้เจริญก้าวหน้าสุขภาพแข็งแรง
 หากเป็นลูกที่ทำงานแล้วให้พ่อแม่  ก็คือเพื่ออวยพรให้ท่านแข็งแรงอายุยืนยาว  โดยการที่ลูกให้พ่อแม่  และพ่อแม่ให้ลูกนั้น  ต้องเป็นเงินของใครของมัน  ไม่ใช่ว่าลูกให้พ่อแม่  เมื่อพ่อแม่รับเงินอั่งเปาจากลูกก็ส่งคืนเงินทั้งซองกลับไป  แต่ต่างฝ่ายต่างควรเตรียมเงินของตนไว้ให้เรียบร้อย

 และเพื่อให้ครบถ้วนความรู้  แม้ว่าผู้เขียนจะเคยเล่าไปแล้วก็ตาม  นั่นคือ  ธรรมเนียมการให้เงินเป็นเลขคู่สี่  โดยเริ่มต้นนับแต่จำความได้  ผู้เขียนจะได้เงินแต๊ะเอียจากคุณพ่อเป็นแบงก์ร้อยใหม่  ๔ ใบ  แล้วปีต่อมาก็เบิ้ลเป็นแบงก์ร้อยใหม่ๆ ๘ ใบ  ปีถัดมาก็เป็นเงินใหม่ ๑,๒๐๐ บาท  คือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี  แต่ต้องให้หาร ๔ ลงตัว  ปีต่อมาเป็นแบงก์ ๕๐๐  ๔ ใบ  เป็นเงิน  ๒,๐๐๐ บาท

 ที่เล่าถึงประสบการณ์จริงตรงนี้  เพื่อเล่าถึง  ๒  ความนัยว่า  นัยหนึ่ง  คือ  มงคลพรเลข ๔  จากความหมายพ้องเสียงสี่ว่า  ให้เพื่อ...ซี้วี่อู่หอซิว  แปลว่า  ทุกชาติทุกเวลาให้มีแต่รับเข้ามา   ให้เพื่อ...อู่จี๊อู่สี่  แปลว่า  ให้มีเงินมีอานาจวาสนา

 ส่วนการให้เพิ่มทุกปี  เพื่ออวยพรตัวผู้ให้ว่า  ขอให้ท่านการค้าก้าวหน้ากว่าเดิม  จึงให้ลุกๆ เพิ่มได้ทุกปี  จนไปสะดุดเวลาที่เศรษฐกิจไม่ดี  คุณพ่อก็ถือว่าไม่ให้ลดลงแต่จะให้เท่าเดิม  แม้ว่าบางปีนั้นคุณพ่อบอกว่า...ต้องกัดฟันก็ตาม
 
ซึ่งเคล็ดธรรมเนียมเหล่านี้  หากบ้านใดจะทำเหมือนหรือไม่เหมือนอย่างไร  ก็ล้วนไม่เป็นไรทั้งสิ้น  อยู่ที่ตัวของทุกท่านว่า  มีความสุขสบายใจ  ขอให้บ่วงสื่อยู่อี่  ทุกเรื่องสมปราถนานะคะ

ทำไมตรุษจีน  จึงจุดประทัดและเชิดสิงโต

 ขอเริ่มจาธรรมเนียมจุดประทัดก่อนว่า  เกิดจากในอดีตมีคนหัวใสนำดินระเบิดไปบรรจุในบ้องไม้ไผ่เล็กๆ  แล้วจุด  เสียงไม้ไผ่ระเบิดก็ดังสนั่นหู  เด็กเล็กได้ยินก็ร้องจ้า  บรรดาสุนัขและสัตว์เลี้ยงทั้งหลายต่างพากันกลัวเสียงประทัดวิ่งหนีกันได้

 ทำให้มีคนคิดว่าเสียงดังโป้งป้างของประทัด  น่าจะไล่เจ้าตัวเหนียนได้  ซึ่งเหนียนคำนี้เป็นเสียงจีนกลาง  จีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า  นี้  แปลว่า  ปี  คนจีนโบราณเชื่อว่าช่วงสิ้นปีที่อากาศหนาวเย็นจัดคนไม่สบายกันมาก  เพราะเจ้าตัวเหนียนออกมาอาละวาด  การจุดประทัดเสียงดังน่าจะไล่เจ้าตัวเหนียนและโรคภัยไข้เจ็บให้ตกใจกลัวหนีไปได้
 
แล้วต่อมาธรรมเนียมนี้ก็ปรับไปว่า  จุดประทัดให้เสียงดังๆ นี้จะเรียกโชคดีให้มาหา  บ้างก็ว่า  เพื่อให้สะดุดหูเทพเจ้า  ท่านจะได้มาช่วยคุ้มครอง

 ส่วนการเชิดสิงโตวันตรุษจีน  ที่บางท้องที่จัดเป็นพิธีแห่มังกรใหญ่โต  ธรรมเนียมนี้มีความเป็นมาอย่างไร   จำได้ว่าเคยเขียนเรื่องการเชิดสิงโตไว้ในตอนความรู้จากคำ...สิงห์  ปัจจุบันอยู่ในหนังสือขุมทรัพย์ความรู้ซ่อนอยู่ในคำจีน
 
โดยคนจีนเรียกการแสดงเชิดสิงโตว่า  ไซ่จื้อบู่  แปลง่ายๆ ว่า  ระบุลูกสิงโต  จัดอยู่ในหมวดการแสดงสวมหน้ากากสัตว์  จากบันทึกของราชวงศ์เหนือ...ใต้  (พ.ศ. ๘๕๐ – ๑๑๓๒)  เมื่อชาวบ้านในมณฑลกวางตุ้ง  มีการแสดงเชิดสิงโตเพื่อไล่ผีที่เชื่อว่า มาลงกินผู้ชายและสัตว์เลี้ยง  ก่อเกิดเป็นความเชื่อว่า  เชิดสิงโตช่วยไล่ภูตผีปีศาจได้  ก็เลยเข้าคู่กันเหมาะมากกับการจุดประทัดวันตรุษจีน
 
ส่วนการแห่มังกร  ก็เริ่มจากในสมัยราชวงศ์จิ๋นหรือฉิน  (พ.ศ. ๒๕๔ – ๓๓๙)  จัดเป็นการแสดงเล็กๆ  แล้วมาจัดเป็นโชว์ใหญ่ที่สวยตระการตาในสมัยราชวงศ์ฮั่น  (พ.ศ. ๓๓๗ – ๗๖๓)  โดยเริ่มต้นจะมาจากตำนานปลาหลีฮื้อกระโดดข้ามประตูสวรรค์ก็จะกลายเป็นปลามังกรมีฤทธิ์เดช  โดยปลามังกรนี้  คือสัตว์ยิ่งใหญ่มีพลังอำนาจ  ใครได้พบได้ชมก็จะได้รับพลังช่วยเสริมให้เจ้าตัวโชคดีทำมาหากินได้ผลบริบูรณ์

 แต่เนื่องจากทั้งการเชิดสิงโตและแห่มังกรนี้  ผู้แสดงต้องมีความสามารถพิเศษในเชิงกายกรรมต่อตัว  การสมดุลตัว  ที่สุดของการเชิดสิงโตคือการได้ซองอั่งเปา  สุดยอดของการแห่มังกรคือ  การต่อตัวขึ้นไปเพื่อหยิบซองอั่งเปาบนไม้สูง
 ที่เมื่อทำได้  ความหมายของการได้ซองอั่งเปานี้คือ  การจะได้โชคดีกันถ้วนหน้าตลอดปีทีเดียว


FW


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์