รับมือ ‘ป่วยทางจิต’ ในยุคเศรษฐกิจมีปัญหา

นายแพทย์บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ จิตแพทย์จากสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาเล่าว่า...

“ส่วนใหญ่ปัญหาความเครียดจากเศรษฐกิจเกิดจาก คนมีความวิตกกังวลว่าชีวิตจะทำอย่างไรต่อไป เพราะแม้จะเคยมีชีวิตฟุ่มเฟือยหรูหรา แต่ทุกครั้งที่มีปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งแรกที่พวกเขาจะหันกลับมามองเป็นเรื่องปัจจัย 4 ใกล้ตัว โดยฉพาะเรื่อง ...พรุ่งนี้จะเอาอะไรกิน ...บางคนก็จะมีความวิตกถึง ความมั่นคงในชีวิต จากเคยมีทรัพย์สินให้ยึดถือก็กลับไม่มี ความคาดหวังในชีวิตเปลี่ยนไป ภาวะนี้จะก่อให้เกิดความเครียด และความซึมเศร้าอย่างรุนแรงได้ ปรับตัวไม่ได้ จนบางครั้งอาจนำไปสู่การคิดฆ่าตัวตาย เช่นเดียวกับในปี 2539-2540 อัตราการฆ่าตัวตายเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมาก เราจึงต้องศึกษาข้อมูลในอดีตเพื่อนำมาใช้เป็นบทเรียนเตรียมตัวสำหรับปัญหาเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นต่อไปครับ”

รับมือ ‘ป่วยทางจิต’ ในยุคเศรษฐกิจมีปัญหา


ว่าด้วย ‘โรคจิตเวชจากความเครียด’


   คุณหมอบุรินทร์อธิบายว่า “สำหรับในทางจิตเวชแล้ว การมีอาการบางอย่างนานจนมีผลกระทบกับชีวิตประจำวัน หรือ กระทบความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ตรงนี้ถือว่าเป็นโรคทางจิตเวช” และปัญหาเศรษฐกิจที่ตกสะเก็ด มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้เกิดโรคจิตเวชดังต่อไปนี้

  1. Adjustment disorder : โรคจากการปรับตัวAdjustment disorder เป็นโรคที่เกิดจากการไม่สามารถปรับตัวได้เมื่อเกิดความเครียด มีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล ไม่สามารถดำเนินชีวิตอย่างที่เคยทำ หรือรักษาความสัมพันธ์แบบเดิมกับคนรอบข้างได้ และยิ่งส่งผลให้ทำงานแย่ลงด้วย สำหรับปลายทางของโรค Adjustment Disorder ไม่ค่อยนำไปสู่เรื่องร้ายแรงอย่างการฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตัวเองมากนัก เนื่องจากเป็นโรคที่มีระยะเวลาค่อนข้างชัดเจน หากได้รับการช่วยเหลือจากคนรอบข้างในการปรับตัว หรือพามาพบหมอได้ทันเวลา โรคนี้จะหายไปเอง และกลับสู่ภาวะปกติได้โดยไม่ต้องกินยานาน”
  2. ภาวะซึมเศร้า และ โรคซึมเศร้า สำหรับอาการของ ‘ภาวะซึมเศร้า’ นี้ แพทย์หญิงอำไพขนิษฐ สมานวงศ์ไทย จิตแพทย์จากโรงพยาบาลศรีธัญญา ได้อธิบายว่า “ภาวะซึมเศร้า อาการส่วนใหญ่ที่พบก็คือ คนไข้มักมีอารมณ์สลดหดหู่ ไม่แจ่มใส นอกจากนี้ยังรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า มีสมาธิแย่ลง น้ำหนักลด นอนไม่หลับเลย หรือหลับๆ ตื่นๆ หากเป็นในระยะยาว อาจมีพฤติกรรมรุนแรงจนถึงทำร้ายตนเอง หรือฆ่าตัวตายได้ แต่เนื่องจากภาวะซึมเศร้าเป็นอาการที่เกิดเพียงชั่วคราวตามสาเหตุหรือสถานการณ์ ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไป และชีวิตเขากลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เขาก็น่าจะหายจากอาการซึมเศร้าด้วย แต่ถ้าเป็นนานแล้วหากยังไม่หาย ก็อาจจะเป็นไปได้ที่คนๆ นั้นป่วยเป็น ‘โรคซึมเศร้า’ ไปเสียแล้ว”

    “โรคซึมเศร้านี้ จริงๆ แล้วมีสาเหตุหลักเกิดจากกายภาพเฉพาะของตัวผู้ป่วยเอง เช่น มีระดับสารเคมีในสมองบกพร่องอยู่แล้ว เพียงแต่ความเครียดทางเศรษฐกิจที่รุนแรงอาจเป็นตัวกระตุ้นหนึ่งที่ทำให้อาการของโรคแสดงออกได้เร็วขึ้นเท่านั้นค่ะ”
  3. Brief Reactive Psychosis : อาการทางจิตชั่วคราว คุณหมออำไพขนิษฐ อธิบายว่า “หากเกิดความเครียด และภาวะซึมเศร้าที่รุนแรงมาก อาจทำให้ผู้ป่วยมี ‘อาการทางจิตแบบชั่วคราว’ หรือ ‘Brief Reactive Psychosis’ ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนผู้ป่วยโรคจิตชนิดเรื้อรัง (Chronic Psychosis) แทบทุกอย่าง คือ มีทั้งอาการหูแว่ว เห็นภาพหลอน หรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมอื่นๆ เช่น แต่งตัวไม่เรียบร้อย ไม่ยอมกินไม่ยอมนอน หรือพูดจาแปลกๆ เพียงแต่ต่างกันตรงที่ ‘อาการทางจิตชั่วคราว’ ไม่ได้มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับระดับสารเคมีในสมองเลย แต่มาจากการถูกกระทบทางจิตใจ อาการจึงมักเกิดขึ้นอย่างปุบปับ เฉียบพลัน หมายความว่าจากอาการปกติไปจนถึงมีอาการชัดเจนใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ และไม่เคยมีประวัติมีอาการบ่งชี้ว่าจะป่วยเป็นโรคจิตมาก่อน”

    วิธีการรักษา แพทย์มักประเมินจากความรุนแรงของอาการ แต่เนื่องจากสาเหตุหลักไม่ใช่ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง แพทย์จึงมักเน้นเรื่องจิตบำบัด และการปรับเปลี่ยนแนวคิด-ทัศนคติ ยกเว้นในกรณีที่เขากินไม่ได้นอนไม่หลับจนร่างกายได้รับผลกระทบ และยิ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้จะไม่มีเรี่ยวแรงต่อสู้กับปัญหาที่เผชิญอยู่ อาจจะต้องมีการให้ยาเพื่อปรับสภาพจิตใจ และอารมณ์ ทำให้เขาสามารถกลับมารับประทานอาหาร และนอนหลับ เพื่อมีเรี่ยวแรงแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งปกติแล้ว คนที่ป่วยด้วยโรคนี้มักกลับมาหายเป็นปกติภายในไม่เกิน 1 ปี หรือเมื่อภาวะความเครียดต่างๆ ทุเลาลงค่ะ”

วิธีสังเกตคนที่จิตเจ็บป่วย


   คุณหมอบุรินทร์ตอบว่า “วิธีจะสังเกตว่าใครเริ่มมีปัญหาความเจ็บป่วยทางจิตเป็นสิ่งสำคัญมากครับ ซึ่งจริงๆ แล้ว อาการของโรคทางจิตเวชเกือบทุกชนิดมีลักษณะที่คล้ายๆ กันคือ ต้องมีอาการทางจิตใจและพฤติกรรมผิดไปจากเดิม ปกติเป็นอย่างหนึ่ง แต่วันดีคืนดีเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น เช่น ด้านอารมณ์จากที่เคยสุขุมอาจเปลี่ยนเป็นคนฉุนเฉียว ก้าวร้าว หงุดหงิด หรืออาจซึมเศร้า วิตกกังวลมากจนไม่สามารถใช้ชีวิตปกติอยู่ได้”


   “ในลักษณะพฤติกรรม อาจกลายเป็นคนโมโหร้าย หรือ ทำร้ายคนอื่นโดยไม่รู้ตัว คือทำไปโดยไม่ได้คำนึงถึงผลที่จะตามมาเหมือน ‘คนไม่รู้ผิดชอบ’ หรือมีการใช้ยาเสพติดมากขึ้น นอกจากนี้เราต้องพิจารณาระยะของอาการด้วย คือต้องมีอาการเหล่านี้ยาวนานเกือบตลอดทั้งวันแทบไม่มีช่วงไหนเลยที่จะดีขึ้น รวมถึงเป็นติดต่อกันมาประมาณ 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป สิ่งสำคัญที่สุดที่จะพิจารณาว่าควรรับการรักษาหรือไม่ ก็คือ พฤติกรรมที่ผิดปกตินั้นทำให้เสียหน้าที่การงาน หรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้างหรือไม่ หากคำตอบคือ ‘ใช่’ ก็ควรมาพบแพทย์ครับ”


ใครมีแนวโน้มฆ่าตัวตาย


   หากสงสัยว่าคนใกล้ชิดอาจมีความคิดทำนองนี้อยู่ คุณหมออำไพขนิษฐ แนะให้สังเกตดังนี้ค่ะ “คนกลุ่มที่มีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายนี้ มักจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเสี่ยงบางอย่าง’ ซ่อนอยู่ เช่น อาจเป็นคนซึมเศร้าง่าย อ่อนไหวง่าย อะไรเข้ามากระทบก็หมดกำลังใจได้ง่าย หรือเป็นคนไม่ค่อยสู้ปัญหา มักหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับทุกเรื่อง หรือทุกคนที่จะสร้างความลำบากใจมาให้ นอกจากนี้ ผู้ที่คิดฆ่าตัวตายมักเป็นคนที่ขาดการสนับสนุนจากครอบครัว เช่น คนโสด ไร้ญาติขาดมิตร ไม่ค่อยมีเพื่อนฝูง หรืออาจเจอวิกฤติอย่างเช่น กำลังตกงาน หรือล้มละลาย”


   “อีกกลุ่มที่ลืมไม่ได้คือ ผู้ที่มีอาการป่วยเรื้อรังมาก่อน เช่น เป็นโรคทางกายที่รุนแรงอย่างโรคเบาหวาน โรคไต โรคมะเร็งระยะสุดท้าย และโดยเฉพาะโรคเอดส์ หรืออาจป่วยทางจิตมานาน ยิ่งถ้ามีความเสี่ยงหลายๆ อย่างมารวมอยู่ที่คนๆ เดียว ตรงนี้ยิ่งน่าจับตาอย่างใกล้ชิด”


หาทางออกให้ ‘ใจ’


   ในยุคนี้ คุณหมออำไพขนิษฐ มีข้อแนะนำดังนี้ค่ะ

  • ปรับความคิด เปิดใจยอมรับ “จริงๆ แล้วหมออยากให้ระลึกไว้เสมอว่า ‘ทุกคนล้วนมีศักยภาพในการจัดการตัวเอง’ แม้ในภาวะที่กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ คุณอาจจะเครียด กินไม่ได้ นอนหลับไม่ลงบ้าง หงุดหงิด อ่อนเพลียละเหี่ยใจบ้าง แต่หากยังไม่ถึงขั้นรุนแรงก็ควรทำใจเย็นๆ ให้โอกาสตัวเองได้ทดลองแก้ไขปัญหาอย่างดีที่สุดก่อน เพราะการมีความเครียด มีปัญหามาให้จัดการจะทำให้เรามีภูมิคุ้มกันทางความคิดมากขึ้น ต่างจากคนที่ไม่เคยล้ม ไม่เคยผิดหวังเลย เมื่อเจอปัญหาอาจทำให้บอบช้ำมากได้ นอกจากนี้เราต้องเข้าใจสัจธรรมของชีวิตว่า ‘มีขึ้นมีลง’ จะมีแต่ขาขึ้นหรือขาลงอย่างเดียวคงเป็นไปไม่ได้ ไม่ต่างจากหน่วยใหญ่คือระบบเศรษฐกิจที่ก็ต้องมีขึ้นมีลงเหมือนกัน และไม่ใช่เพียงเราคนเดียวที่ประสบปัญหา จึงไม่ควรท้อแท้ แต่มองว่านี่เป็นโอกาสให้คุณได้ทดสอบความสามารถของตัวเองมากกว่า ...ต้องมองในมุมที่บวกเข้าไว้ค่ะ”
  • มองหาศักยภาพใหม่ๆ ในตัวเอง “ในยุคที่เศรษฐกิจตกสะเก็ดอย่างนี้ แทนที่จะฝืนทำงานเดิมต่อไป อาจเป็นโอกาสให้เราได้ค้นหาศักยภาพ ความถนัด หรือลู่ทางใหม่ในตัวเราที่ยังไม่ได้เอามาใช้ ซึ่งอาจประสบความสำเร็จกว่าก็ได้ ยิ่งหากในตอนนี้คุณยังคงมีทุนเดิมอยู่บ้างก็ยิ่งสามารถสร้างลู่ทางใหม่ได้ง่ายยิ่งขึ้น”
  • วางแผนชีวิตแบบมั่นคงในระยะยาว “เมื่อผ่านบทเรียนครั้งนี้ไปได้แล้ว เราควรมีการเตรียมความพร้อมให้ชีวิตในระยะยาว ทั้งการวางแผนใช้เงิน ลดพฤติกรรมฟุ่มเฟือย และสร้างนิสัยประหยัดให้กับตัวเองแม้จะมีรายได้มาก รวมถึงปรับระบบการออมทรัพย์ของตัวเองใหม่ เพื่อให้มีทุนเตรียมรับกับชีวิต ‘ขาลง’ ที่เกิดขึ้นในอนาคต”
  • ครอบครัว’ เป็นตัวช่วย “ส่วนมาก เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจมีปัญหา คนที่รับบทหนักก็มักจะเป็นหัวหน้าครอบครัว แต่ความเครียดก็กระจายถึงกันได้ และเพราะทำหน้าที่ต่างกันจึงอาจกระทบกระทั่ง และมีปากเสียงกันได้ แต่ในเวลาแบบนี้ทุกคนจึงควรให้กำลังใจซึ่งกันและกัน สนับสนุนกันเท่าที่ทำได้ และลดการเผชิญหน้าในบางเรื่องลง นอกจากนี้สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวก็ต้องมีส่วนช่วยในการปรับพฤติกรรมเหมือนกัน เช่น ต้องช่วยกันประหยัด ลดสิ่งฟุ่มเฟือยลงด้วย ไม่อย่างนั้นคงเป็นการเอาเปรียบ และบั่นทอนกำลังใจของหัวหน้าครอบครัวมากค่ะ”

ขอขอบคุณเนื้อหาดีดี โดย :
นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 248

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์