...ทรัพย์สักนิดก็ติดตามคนตายไปไม่ได้...

...ทรัพย์สักนิดก็ติดตามคนตายไปไม่ได้...


...ทรัพย์สักนิดก็ติดตามคนตายไปไม่ได้...


ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนพาล ทั้งบัณฑิต ล้วนไปสู่อำนาจแห่งความตาย
ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า นี้เป็น พุทธศาสนภาษิตอีกบทหนึ่ง
ที่แสดงสัจจะซึ่งไม่มีผู้ใดจะอาจคัดค้าน
หรือเกิดความเคลือบแคลงสงสัยได้แม้แต่น้อย
ทุกชีวิตมีความแตกดับ มีความตายรออยู่เบื้องหน้า
ไม่มีชีวิตใดเลยที่จะพ้นความตายไปได้

ดังที่พุทธศาสนภาษิต กล่าวไว้นั่นแหละ คือ ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่
ทั้งคนดี ทั้งคนไม่ดี ล้วนต้องตาย จะเร็วหรือช้าก็ต้องตาย

อำนาจของความตายไม่มีผู้ใดจะหนีพ้น
เพียงหนีความตายไม่ได้ ทุกคนต้องตาย นี้ก็ยังไม่สมบูรณ์นัก
ถ้าจะไม่นำพุทธภาษิตอีกบทหนึ่งมากล่าวไว้เสียในทีนี้ด้วย
คือบทที่ว่า ทรัพย์สักนิดก็ติดตามคนตายไปไม่ได้

ทรัพย์สักนิดก็ติดตามคนตายไปไม่ได้
พุทธศาสนภาษิตบทนี้ก็เช่นเดียวกัน
แสดงสัจจะที่ไม่มีผู้ใดจะอาจคัดค้าน
หรือเกิดความเคลือบแคลงสงสัยได้แม้แต่น้อย
ทุกคนได้รู้ได้เห็นประจักษ์ชัดแก่ตนเองอยู่ด้วยกันแล้วในความจริงนี้
ไม่มีผู้ใดจะนำทรัพย์แม้สักนิดของตนติดตัวไปด้วยได้ยามต้องตาย
ผู้ที่เมื่อดำรงชีวิตอยู่ มีความสุขเพราะได้สั่งสมทรัพย์
หรือเพราะมีทรัพย์มากมาย
เมื่อถึงเวลาตายจะนำความสุขเพราะทรัพย์ติดตัวไปด้วยไม่ได้
ในเวลาสิ้นชีวิตสิ่งเดียวที่จะนำความสุขมาให้ คือ บุญ

มีพุทธศาสนภาษิตกล่าวไว้ด้วยว่า บุญนำสุขมาให้ในเวลาสิ้นชีวิต
จึงควรทำบุญอันนำสุขมาให้และความสุข
อันเกิดแต่บุญนี้มีอยู่แก่ผู้สั่งสมบุญ ทั้งโลกนี้และโลกหน้า
คือ ทั้งเมื่อยังไม่ตายก็เป็นสุข เมื่อตายแล้วก็เป็นสุข


ดังที่มีกล่าวไว้ว่า ผู้ทำบุญแล้วย่อมยินดีในโลกนี้ ละไปแล้วย่อมยินดี
ชื่อว่ายินดีในโลกทั้งสอง เขาย่อมยินดีว่า เราทำบุญไว้แล้ว
ไปสู่สุคติย่อมยินดียิ่งขึ้น
ตรงกันข้ามกับผู้ทำบาปเพราะ ผู้ทำบาปย่อมเศร้าโศกในโลกนี้
ละโลกนี้ไปแล้วก็เศร้าโศก ชื่อว่าเศร้าโศกในโลกทั้งสอง
เขาเห็นกรรมอันเศร้าหมองของตน จึงเศร้าโศกและเดือดร้อน

ด้วยเหตุนี้คนจึงไม่ควรทำบาป ควรทำแต่บุญ
และควรทำบุญบ่อยๆ เรียกว่า ควรสั่งสมบุญ
ถ้ากล่าวว่าควรสั่งสมความสุขอันเกิดแต่สั่งสมบุญก็ได้
เพราะการสั่งสมอย่างอื่นหาอาจนำความสุขมาให้ได้ยั่งยืนหรือแท้จริงไม่
การสั่งสมบุญเท่านั้นที่จะนำความสุขมาให้ยั่งยืนและแท้จริง
แม้ความตายก็หาอาจพรากไปจากบุญ
หรือความสุขที่เกิดแต่บุญอันสั่งสมไว้แล้วได้ไม่

ทุกคนต้องตาย และทุกคนก็ต้องการความสุข
แม้คิดถึงความจริงนี้ให้ลึกซึ้งพอสมควรทุกคน
ก็น่าจะยินดีทำบุญคือ ทำความดี
น่าจะยินดีสั่งสมบุญคือสั่งสมความดี
ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะสมปรารถนาไม่ได้ คือจะมีความสุขไม่ได้
ในทางตรงกันข้ามจะกลับมีความทุกข์
เพราะธรรมดานั้นผู้ที่จะอยู่โดยไม่ทำกรรมใดเลยไม่มี
คือ ไม่ทำทั้งกรรมดีคือบุญและไม่ทำทั้งกรรมไม่ดีคือบาปไม่มี
จะต้องทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง มักเป็นปรกติเช่นนี้

ดังนั้นผู้ไม่ทำบุญในเวลาใดจึงมักจะทำบาปในเวลานั้น ไม่มากก็น้อย
ผลของบาปเป็นความทุกข์ ผู้ไม่ทำบุญจึงมักทำบาป จึงไม่มีความสุข
ไม่เป็นสุข ดังกล่าวว่าจะสมปรารถนาไม่ได้ในเมื่อทุกคนปรารถนาความสุข

ทุกคนต้องตาย ท่านก็ตาย เราก็ตาย ไม่มีผู้ใดหนีความตายพ้น
ไม่ช้าก็เร็วทุกคนจะต้องตาย นึกถึงความจริงนี้ไว้ให้เสมอ
พร้อมๆ กับที่นึกด้วยว่า ทรัพย์สักนิดก็ติดตามคนตายไปไม่ได้
บุญหรือบาปเท่านั้นที่จะติดตามทุกคนไป
ให้ความสุขให้ความทุกข์แก่ทุกคนผู้กระทำบุญหรือบาปไว้
นึกไว้เช่นนี้เสมอๆ นั่นแหละจะเป็นการบริหารจิต
ห้ามจิตเสียจากความโลภได้ มากน้อยตามควรแก่ความปฏิบัติ



คัดลอกจาก... คุณ I am
ที่มา : การบริหารทางจิต สำหรับผู้ใหญ่ (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)


ขอบคุณบทความจากธรรมจักรดอทเน็ต

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์