ตำนาน ตรอกซุง

ตำนาน ตรอกซุง



เมื่อวานนี้ผมเขียนไว้ในคอลัมน์ แนะนำหนังสือประจำวันเสาร์สั้นๆว่า ได้รับหนังสือที่มีประโยชน์มากเล่มหนึ่งจาก "ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ" สำนักพิมพ์มติชน ชื่อหนังสือ "ชื่อบ้านนามเมือง ในกรุงเทพฯ"

เป็นหนังสือที่ว่าด้วยที่มาที่ไปของ  ถนน  สะพาน วัด คลอง แยก และย่านต่างๆ ในกรุงเทพมหานครของเรานี่แหละครับอ่านแล้วก็ทำให้รู้ว่า ทำไมถนนนั้นจึงชื่ออย่างนั้น สะพานนี้จึงชื่ออย่างนี้ รวบรวมเรียบเรียง โดย คุณ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย

ที่สำคัญมากก็คือ ความเป็นมาเป็นไปต่างๆเหล่านี้ หากไม่มีการจดบันทึกไว้ วันใดวันหนึ่งก็อาจจะสูญหายไปได้

อนุชนรุ่นหลังๆก็จะไม่มีทางทราบได้เลยว่า เหตุใดบริเวณนั้นจึงชื่อเช่นนั้น บริเวณนี้จึงชื่อเช่นนี้ ทำนองเดียวกับเรื่องราวหลายๆเรื่องที่สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยจนถึงบัดนี้

นอกจากจะชื่นชมและขอบคุณผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้แล้ว เผอิญผมมีความหลังอยู่กับตรอก 2 ตรอก... เป็นความหลังที่เนิ่นนานมาก แต่ไม่เคยรู้เลยว่าที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ตรอกแรกคือ "ตรอกโรงไหม" ถนนพระอาทิตย์ ครับ

ตรอกโรงไหมที่ว่านี้ จะอยู่ตรงข้ามกับวิทยาลัยนาฏศิลป์ หรือเยื้องๆร้านอาหารท่านํ้าของสโมสรกรุงเทพมหานครมาหน่อยหนึ่ง

เรียกว่าถ้าเราขับรถเลี้ยวเข้าถนนพระอาทิตย์ ทางด้านที่มาจากสนามหลวง หรือโรงละครแห่งชาติปุ๊บ จะถึงตรอกโรงไหมทันที (อยู่ทางฝั่งขวามือ) เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ในตรอกโรงไหมจะเป็นที่ตั้งของค่ายมวย "วรวุฒิ" ซึ่งมี ผุดผาดน้อย วรวุฒิ ยอดนักชกรูปหล่อเป็นนักมวยเอกประจำค่าย

เลยไปหน่อยจะเป็นหอพัก ชื่อ "หอพักเวช-ธรรม" ซึ่งผู้อยู่อาศัยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นนักศึกษา ธรรมศาสตร์ หรือไม่ก็คนทำงานที่จบธรรมศาสตร์แล้ว แต่ยังไม่มีปัญญาซื้อบ้านเลยต้องอยู่หอพักต่อ

ทะลุตรอกออกไปอีกซีกหนึ่งจะเป็นบริเวณ โรงกษาปณ์ ซึ่งสมัยก่อนจะมีโรงอาหารที่มีชื่อเสียงมาก ข้าวแกงถูก โอเลี้ยงถูก...โดยเฉพาะโอเลี้ยงโรงกษาปณ์แก้วขนาดยักษ์ สนนราคาเพียงแค่ 50 สตางค์ ก่อนจะขึ้นเป็น 75 สตางค์ และ 1 บาท ในภายหลังเป็นที่เลื่องลือทั่วกรุง

ตำนาน ตรอกซุง



ช่วงเรียนหนังสือที่ธรรมศาสตร์ ผมอยู่ประจำที่หอพักแห่งนี้ จึงมีความคุ้นเคยกับตรอกโรงไหม ตลอดจนย่านถนนพระอาทิตย์ ย่านวัดชนะสงคราม และหลังโรงกษาปณ์เป็นอย่างดียิ่ง

แต่ผมก็ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า ทำไมตรอกที่หอพักของผมตั้งอยู่จึงมีชื่อว่า ตรอกโรงไหม... จนกระทั่งได้อ่านหนังสือเล่มนี้...ซึ่งบันทึกไว้ว่า

ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ปรากฏหลักฐานว่ามี โรงไหมหลวงอยู่ 2 โรง โรงหนึ่งอยู่บริเวณใกล้สะพานช้างโรงสี ริมคลองคูเมืองเดิม  อีกโรงหนึ่งอยู่ใกล้บริเวณวังหน้า โรงที่ใกล้สะพานช้างโรงสีเลิกกิจการไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คงเหลือแต่โรงไหมใกล้วังหน้า เป็นที่ทอพระภูษาทรงพระเจ้าอยู่หัว และทอผ้าสำหรับพระราชทานเจ้านายและข้าราชการ

อย่างที่เรียกกันว่า ผ้าสมปัก มีเจ้าคุณหญิงเป้าธิดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เป็นผู้ กำกับการควบคุมการผลิตพระภูษาทรงและผ้าสมปักตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเลิกกิจการ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบข้าราชการมาเป็นผ้าม่วง และผ้าอื่น ๆ ซึ่งนิยมใช้ผ้าที่สั่งจากต่างประเทศ

โรงไหมหลวงจึงเป็นที่สำคัญแห่งหนึ่งในสมัยนั้น ใช้เรียกเป็นชื่อสถานที่ใกล้เคียง

เช่น ถนนโรงไหม คือถนนที่อยู่ริมคลองคูเมืองตัดผ่านโรงไหมหลวง ต่อมาเมื่อมีการปรับปรุงเป็นถนนสมัยใหม่ และบริเวณนั้นไม่มีโรงไหมตั้งอยู่แล้ว จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ถนนเจ้าฟ้า ตามความเหมาะสม

ส่วนชื่อ คลองโรงไหม นั้น ปรากฏว่ามี 2 คลอง คือคลองที่ขุดแยกจากคลองรามบุตรี หลังวัดตองปุ ปัจจุบันคือวัดชนะสงคราม มาออกคลองคูเมืองเดิมข้าง ๆโรงกษาปณ์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังใช้เรียกชื่อคลองคูเมืองเดิม ตอนที่ผ่านโรงไหมหลวงนี้ว่า คลองโรงไหม เช่นกัน ต่อมาเมื่อถมคลองต่าง ๆ และปรับที่สร้างอาคาร โรงเรือน เกิดเป็นตรอกซอกซอยขึ้นมาหลายแห่งในบริเวณดังกล่าว

เพื่อเป็นการรักษาเรื่องราวในอดีตให้คงอยู่ กรุงเทพมหานครจึงตั้งชื่อตรอกแห่งหนึ่งในบริเวณโรงไหมหลวงว่า "ตรอกโรงไหม" ด้วยประการฉะนี้

ภาพนี้สันนิษฐานว่าเป็นตลาดบางรักภาพนี้สันนิษฐานว่าเป็นตลาดบางรัก



ครับ! ผมอาศัยอยู่ในตรอกนี้มาตั้งนานเพิ่งจะรู้ที่มาที่ไป ตอนแก่ตัวแล้วนี่เอง

เมื่อ 4-5 ปีก่อนผมเคยแวะไปเยี่ยมเยียนหนหนึ่ง พบว่าหอพักที่ผมเคยอยู่ถูกรื้อสร้างใหม่เป็นโรงแรมเล็ก ๆ ประเภทเกสต์เฮาส์มีฝรั่งมังค่าที่หลามมาจากถนนข้าวสารเช่าอยู่เต็ม ค่ายมวย "วรวุฒิ" และบ้านอื่น ๆ ที่ผมคุ้นเคยก็หายไปหมดสิ้น รวมทั้งบ้านป้าหลังหอที่ผมเคยผูกปิ่นโตแบบเซ็นได้ (2-3 เดือนจ่ายที) ก็หายไปเช่นกัน

สำหรับตรอกอีกตรอกหนึ่งที่ผมมีความผูกพันพอสมควร ได้แก่ "ตรอกซุง" ที่บางรักโน่นครับ

เหตุที่ผูกพันไม่ใช่เพราะผมเคยไปอยู่อาศัยอะไรหรอก แต่เป็นเพราะผมชอบรับประทานข้าวขาหมู และเป็นแฟน "ข้าวขาหมูตรอกซุง" มานานพอสมควร

ทุกวันนี้เวลาคิดถึงก็มักจะนั่งรถไฟฟ้าบีทีเอสไปลงสถานีสะพานตากสิน แล้วก็เดินย้อนมาที่ตรอกซุงบางรัก รับประทานข้าวขาหมูที่ยังคงเปิดร้านอยู่สัก 1 จาน พอให้หายคิดถึงอยู่เสมอ ๆ (ไม่กล้ารับประทานมาก เพราะหมอห้าม)

ตำนานตรอกซุง ในหนังสือเล่มนี้เขียนไว้ว่า

"ในบริเวณ (บางรัก) เคยมีคลองเล็ก ๆ ไหลผ่านไปสู่แม่นํ้าเจ้าพระยา ซึ่งครั้งหนึ่งมีผู้พบต้นรักขนาดใหญ่ อย่างที่เรียกว่าต้นซุงจมอยู่ในคลองนั้น ความใหญ่ของไม้รักที่พบครั้งนั้นเป็นที่สงสัย และเล่าลือกันถึงที่มา แต่ก็ไม่มีผู้ใดทราบว่าซุงไม้รักนั้นมาจากไหน"

"ต่อมาครั้งใดที่เอ่ยถึงสถานที่บริเวณนั้นก็จะใช้ชื่อ ไม้รัก เป็นที่หมาย เมื่อเวลาผ่านไปคำเรียกไม้รัก ไม่เป็นที่รับรู้ของคนรุ่นหลัง ๆ จึงกลายเป็น บางรัก ไปในที่สุด ส่วนคลองที่พบซุงไม้รักนั้นเรียกกันติดปากว่า คลองต้นซุง ภายหลังเมื่อถมคลองกลายเป็นตรอก จึงเรียกว่า "ตรอกซุง"

ครับ! ได้คำตอบทั้งที่มาของ "บางรัก" และ "ตรอกซุง" ที่อยู่ในย่านบางรักในปัจจุบันไปพร้อม ๆ กัน แต่ตำนาน "ขาหมูตรอกซุง" คงต้องไปค้นหาจากที่อื่นครับ เพราะหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ บอกไว้...แฮ่ม!


: : : ซูม : : :

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์