17เทรนด์สุขภาพแห่งปี เรื่องไหนอิน-เอ้าท์

17เทรนด์สุขภาพแห่งปี เรื่องไหนอิน-เอ้าท์


เปิดศักราชใหม่ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์อายุรวัฒน์หรือศาสตร์ชะลอชรา อย่าง “นายแพทย์กฤษดา ศิราพุช” ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ เผยความเคลื่อนไหวในด้านสุขภาพ ทั้งการตรวจ การรักษา และไลฟ์สไตล์สุขภาพ ที่หลายๆ อย่างหันไปเน้นให้คนไข้เป็นศูนย์กลางหรือให้คนไข้เป็น “หมอของตัวเอง” พึ่งหมอพึ่งยาให้น้อยที่สุดหรือ “เท่าที่จำเป็น” เรื่องราวดังกล่าวสะท้อนผ่านเทรนด์สุขภาพ

โดย 17 เรื่องที่มาแรง ได้แก่...

1.การแพทย์แบบ “เฉพาะบุคคล” เน้นว่าแต่ละบุคคลมีความพิเศษเฉพาะตัว ดังนั้นการรักษาและยาก็ควรให้เหมาะกับความจำเพาะของบุคคลนั้นๆ

2.การแพทย์แบบ “เวชศาสตร์อายุรวัฒน์” ที่เน้นคนไข้เป็นศูนย์กลาง เน้นความเข้าใจ ให้คนไข้เป็นหมอของตัวเองร่วมด้วย ไม่จ่ายยาโดยไม่จำเป็น และเน้น “ไฮทัช” ในการพูดคุยดูแลคนไข้แต่ก็ไม่ทิ้งไฮเทค

3.การตรวจแบบ “เฉพาะบุคคล” ทั้งเลือดและฮอร์โมน โดยมีคุณหมอซักประวัติส่วนตัว ครอบครัว และยา วิตามินที่รับประทานอย่างละเอียด ก่อนจัดโปรแกรมตรวจสุขภาพที่เหมาะกับตัวเราให้ พร้อมทั้งมีคุณหมอแนะนำวิธีปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคในอนาคต

4.การแปลผลสุขภาพในรูปแบบ “กันไว้ก่อน” โดยใช้ “ค่าที่เหมาะสม” เพื่อให้คนไข้รู้ถึงแนวโน้มและความเสี่ยงก่อนป่วยจริง

5.ให้บ้านเป็นโรงพยาบาล เน้นการดูแลตัวเองที่บ้านโดยมีแพทย์เป็นที่ปรึกษามากกว่า “ชี้นำ” ย้ำให้ตัวคนไข้เป็นศูนย์กลางไม่ใช่หมอ โดยมีหลักง่ายๆ คือ “โรงพยาบาลที่ดีที่สุดคือบ้านเรา”

6.การตรวจโดยใช้ “ชิป” คอมพิวเตอร์ขนาดเท่าปลายนิ้วแทนห้องแล็บและการตรวจแบบชุดตรวจสำเร็จไฮเทคที่ตรวจได้เองที่บ้านหรือที่คลินิกเป็นวันสต็อปเซอร์วิสที่คนไข้ไม่ต้องไปถึงโรงพยาบาลเสมอไป

7.โปรแกรมอาหารเฉพาะบุคคล ให้เหมาะกับอายุ วิถีชีวิต และโรคประจำตัว ไปจนถึง “จัดอาหารตามยีน” เพื่อให้เหมาะกับสภาพสุขภาพของบุคคลนั้น และป้องกันการแพ้อาหารโดยไม่จำเป็น

8.จัดยา “ตามยีน” รวมถึงวิตามินละอาหารเสริมด้วย โดยดูความเหมาะสมเป็นรายบุคคลไปว่าใครขาดใครเกินในส่วนไหน หรือมีความไวแพ้ต่ออาหารชนิดใดบ้าง แล้วจัดอาหารให้เหมาะกับยีนสุขภาพของคนนั้น

9.ใช้ฮอร์โมนธรรมชาติหรือเสมือนธรรมชาติ เลี่ยงการฉีดสตีรอยด์แล้วหันไปรับประทาน BCAA ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่มีส่วนสำคัญในการสร้างกล้ามเนื้อ และเวย์โปรตีนไฮโดรไลเสทที่ถือเป็นมาตรฐานร่วมกับการออกกำลังกายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อที่ปลอดภัยกว่า

10.การกินอาหารที่มากกว่าอาหารคือ “อาหารฟังก์ชัน” รวมถึงดื่มเครื่องดื่มที่ช่วยป้องกันสุขภาพและบำบัดโรคได้ อาทิ ไฟเบอร์, คอลลาเจน, ไลโคปีนหรือโคคิวเท็น ซึ่งหาได้จากอาหารสดเช่นกัน

11.การกินแบบ “อายุรวัฒน์” คือปราศจากอาหารต้องห้าม แต่ให้รับประทานในปริมาณที่ “เหมาะสม” ติดสติไว้ที่ปลายลิ้นว่า ของดีกินมากไปก็กลายเป็นยาพิษได้ หรือห้ามมากไปก็ทำให้ขาดวิตามินบางชนิด เน้นให้ชีวิตมีสีสันและความสุขกับของที่อยากกิน

12.การออกกำลังแบบ “สลับช่วง” หรือ “สลับชนิด” จะเข้ามาแทนที่มากขึ้นถือเป็นการออกกำลังแห่งอนาคต โดยการศึกษาจากเมโยคลินิกชี้ว่า การออกกำลังแบบสลับช่วงนั้นจะช่วย “เบิร์นหรือเผาผลาญ” ได้ดี อีกทั้งเพิ่มสมรรถนะให้กับนักกีฬาแอโรบิกไปในตัวด้วย

13.เทรนด์ผิวกระจ่างใสอย่างยั่งยืนและปลอดภัยด้วยการกิน “อาหารกลูต้าไทโอน” แทน เป็นการเพิ่มออร่าง่าย ด้วยอาหารอุดมกลูต้าฯ อย่าง หน่อไม้ฝรั่ง คะน้าหรือบร็อคโคลี

14.หน้าตึงได้ด้วยวิธีการบริหารใบหน้าสไตล์อายุรวัฒน์ คือ ยกกล้ามเนื้อ “พลาทิสมา” ตรงคอให้กระชับ และออกกำลัง “มาสเซเตอร์” หรือกล้ามเนื้อเคี้ยวให้ยืดหยุ่น รวมทั้งการ “ฝึกยิ้ม” ให้ถูกวิธี

15.การล้างพิษด้วยตัวเองจะได้รับความนิยมมากขึ้น โดยการรับประทานอาหารล้างพิษ อย่างแอปเปิ้ลเขียว ชาเขียว และวิตามินล้างพิษที่เหมาะกับตัวเรา ไม่ต้องพึ่งเครื่องมือให้ยุ่งยากต่อคนไข้

16.การใช้สเต็มเซลล์และเวชศาสตร์นาโนในทางที่เหมาะสม เป็นคำตอบทางสุขภาพให้กับโรคที่ถึงทางตัน นอกจากนั้นในเรื่องของอาหารเสริมก็จะเน้นที่ “แหล่งผลิต” มีมาตรฐานและ “การดูดซึม” ที่ดีเหนือกว่ายี่ห้ออื่น

17.เข้าสู่ยุค “สุขภาพจากปลายนิ้ว” ด้วย “แอพสุขภาพ” หลากหลายชนิด ทั้งสแกนผิว สแกนเลือด ฯลฯ สารพัดที่โหลดง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัสกับสมาร์ทโฟน


17เทรนด์สุขภาพแห่งปี เรื่องไหนอิน-เอ้าท์


17 เทรนด์ที่ความนิยมมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ

เริ่มจาก 1.การแพทย์แบบเดิม สนใจตัวโรคมากกว่าคนไข้ ใช้ “ตัวหมอ” หรือ “โรค” เป็นศูนย์กลางแทนตัวคนไข้ ไม่ได้ดูแบบองค์รวมทั้งกายใจและจิตวิญญาณ

2.การแพทย์แบบเก่า คนไข้ไม่ค่อยมีส่วนร่วมในการรักษา ให้ยาเยอะโดยไม่จำเป็นและเน้นการตรวจไฮเทคอย่างเดียวโดยไม่ให้เวลาในการพูดคุยประวัติกับคนไข้

3.การตรวจสุขภาพแบบ “จิ้มตรวจ” โดยการเลือก “แพคเกจ” หรือชุดตรวจที่คนไข้ยากจะรู้ว่าในแพคเกจได้การตรวจชนิดใดจำเป็นหรือไม่จำเป็นกับเขาบ้าง บางทีได้แค่สมุดกลับบ้านมาโดยไม่ได้พบหมอ

4.การแปลผลตรวจสุขภาพโดยใช้ “ค่าปกติ” เป็นตัววัดอย่างเดียวแล้วบอกว่า “ปกติ” เพราะคำว่าปกติไม่ได้เท่ากับคำว่า “สุขภาพดี” เสมอไป

5.ป่วยอะไรต้องนอนโรงพยาบาลเสมอไป การให้คนไข้นอนโรงพยาบาลโดยไม่มีข้อบ่งชี้ แค่มีประกันจ่ายหรือนอนเพื่อให้ได้ครบชั่วโมง

6.การตรวจแบบ “สแกนร่างกาย” ที่ใช้ “รังสีเอ็กซ์” เกินความจำเป็นตั้งแต่หัวจรดเท้าหรือที่อวัยวะแต่ละส่วน โดยไม่มีข้อบ่งชี้ ไม่ว่าจะเป็นซีทีสแกน หรือการใช้ “เพ็ทสแกน” ที่เป็นกัมมันตภาพรังสีในการตรวจมะเร็ง

7.แนวการรับประทานอาหารแบบเดิม ให้กินซ้ำซากเหมือนๆ กันในทุกคน โดยไม่ปรับตามไลฟสไตล์ของคนยุคใหม่หรือการแพ้อาหารที่พบเจอมากขึ้น

8.การจ่ายยาแบบ “ซ้ำซาก” หรือ “สเตอรีโอไทป์” ประเภทยาชนิดเดียวรักษาทุกโรค อย่างยาแก้หวัดเม็ดเดียวลดได้ทั้งไข้ แก้อักเสบ ลดน้ำมูกและฆ่าเชื้อ ซึ่งบางทีทำให้คนไข้ได้รับยามากเกินไป

9.การใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์เสริม ซึ่งที่มีความเสี่ยงพอๆ กับผลที่ได้ เช่น การฉีดเทสโทสเตอโรน และอนาโบลิกสตีรอยด์เพื่อสร้างกล้ามหรือการใช้ฮอร์โมนในวัยทอง

10.การกินและดื่มแบบเดิมเพียงเพื่อ “อิ่มท้อง” และให้มีแรงทำงานไปวันๆ เช่น กินข้าวผัดกะเพราสามมื้อหรือกินแต่ก๋วยเตี๋ยวและข้าวไข่เจียว

11.การกินแบบ “อาหารต้องห้าม” คือ ห้ามโน่นห้ามนี่จนปราศจากสุข เช่น ต้องจำกัดการกินไว้ตามชนิดเลือดของตัวเองหรือตามธาตุของตน จนบางครั้งทำให้คนทั่วไปไม่อาจทำตามได้เสมอไปหรือการห้ามเพื่อสุขภาพจนแทบจะรับประทานอะไรไม่ได้

12.การออกกำลังกายแบบ “แอโรบิก” เหงื่อซก เช่น การออกแต่คาร์ดิโออย่างเดียวโดยเน้นที่ความเหนื่อยและเหงื่อออกแบบอาบน้ำ มีโอกาสส่งผลต่อการบาดเจ็บกล้ามเนื้อและข้อ ที่สำคัญคือทำให้เครียดโดยไม่รู้ตัวแล้วหลั่งเคมีเครียด “คอร์ติซอล” ทำให้น้ำตาลในเลือดพุ่งและร่างกาย “ฉุ” จากการสะสมไขมันมากอย่างคาดไม่ถึง

13.ขบวนการ “ขาวกลูต้าไทโอน” จะล้าสมัย โดยเฉพาะการฉีดที่อาจทำให้แพ้ได้หรือให้ผลได้ไม่แน่นอนในแต่ละคน แถมพอนานไปก็ต้องฉีดเติมใหม่

14.ดึงหน้าด้วย “ทางลัด” ที่ยังไม่ได้รับการยอมรับในทุกวงการแพทย์ เช่น การใช้ “เส้นไหม” จะค่อยๆ ลาเทรนด์ไป หลังจากที่ไม่ผ่านอย. และไม่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ในการยกกระชับผิวหน้า เพราะยังไม่รู้ผลข้างเคียงแน่ชัดในระยะยาว

15.การล้างพิษด้วยเทคนิคนานาชนิด อาทิ ล้างพิษด้วยการสวนลำไส้ไปถึงตับ ล้างพิษทางเลือดด้วยการฉีดสารเข้าไป และล้างพิษด้วยวิธีการที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญซึ่งหลายครั้งไม่สะดวก

16.การใช้สเต็มเซลล์และนาโนเทคโนโลยีแบบไม่มีงานวิจัยคุณภาพรองรับ เช่น การใช้สเต็มเซลล์เพื่อความงามหรือการใช้นาโนเทคโนโลยีมาอ้างในเรื่องของวิตามินและอาหารเสริมโดยยังไม่เห็นผลชัดเจน

และ 17.การเข้าคิวรอนัดพบคุณหมอ รอนานแสนนานกับคิวที่ยาวเท่ามิดไนท์เซลล์ หรือการขอเข้าพบเพียงไม่นานแต่ต้องฝ่าฝันรถติดนับชั่วโมงจะหมดไป

หลังจากติดตามอ่านต่อจนทราบว่า 17 เทรนด์สุขภาพ เรื่องไหนอิน เรื่องใดเอ้าท์กันแล้ว หวังว่าผู้อ่านผู้รักษ์สุขภาพจะได้ทำตามถูกเทรนด์ เพื่อให้มีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น.

ทีมเดลินิวส์ออนไลน์
takecareDD@gmail.com


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์