กำลังใจ กับการเติมเต็มชีวิต

กำลังใจ กับการเติมเต็มชีวิต



          หลายๆ ครั้งในชีวิตเรา เคยประหลาดใจไหมว่า ทำไมบางคนประสบเคราะห์กรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือเป็นโรคร้าย จนหมอบอกว่าไม่มีทางรอด แต่เขาเหล่านั้น กลับสามารถยืนหยัดต่อสู้จนประสบความสำเร็จในชีวิต หรือมีอายุขัยที่ยืนยาวต่อมาได้ หรือทำไมพระมหาชนก จึงมีความเพียรพยายาม ที่จะว่ายน้ำข้ามมหานทีวันแล้ววันเล่า แม้จะยังมองไม่เห็นฝั่ง หรือทำไมนักกีฬาพิการ จึงสามารถเอาชนะความไม่สมประกอบของตน จนคว้าเหรียญทองมาได้ อะไรคือสิ่งที่ทำให้คนเรา มีความมานะบากบั่น และมีความตั้งมั่นที่จะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ จนไปสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จได้ ถ้าจะบอกว่า สิ่งนั้น คือ "กำลังใจ" ของแต่ละคน เชื่อว่าหลายคนอาจจะนึกไม่ถึงหรือไม่ทันคิด 

         "กำลังใจ" แม้จะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่ทุกคนก็สัมผัสได้ ถึงพลังอันสำคัญนี้ หลวงวิจิตรวาทการได้เขียนในหนังสือชื่อ กำลังใจ ว่าการที่คนเราจะเผชิญชีวิต หรือฟันฝ่าอนาคตให้ลุล่วงไปด้วยดีได้นั้น เราจะต้องมีกำลังถึง 3 ประการด้วยกัน คือ กำลังกาย, กำลังความคิด และกำลังใจ  

          กำลังกาย หมายถึง ความเป็นผู้มีอนามัยดี ร่างกายแข็งแรง ซึ่งเป็นความสำคัญเบื้องต้น  

          กำลังความคิด หมายถึง วิชาความรู้และมันสมองที่ดี  

          ส่วนกำลังใจ หมายถึง สมรรถภาพ(ความสามารถ) ของดวงจิต ที่เป็นเครื่องส่งเสริม และควบคุมให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ดำเนินไปโดยเรียบร้อย เหมาะสม 

         กำลังกายเป็นเรื่องของร่างกาย กำลังความคิดเป็นเรื่องของมันสมอง และกำลังใจเป็นเรื่องของดวงจิตโดยตรง กำลังทั้งสามนี้ มีความสำคัญเท่าๆ กัน ผู้ใดก็ตามมีพร้อมทั้งสามกำลัง นาวาชีวิตของผู้นั้น ย่อมแล่นไปได้ดี และบรรลุถึงที่หมายได้ไม่ยาก แต่หากจะขาดหรือบกพร่อง ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว ท่านว่า ขออย่าให้เป็นเรื่อง ขาดกำลังใจ เพราะถ้าขาดกำลังใจแล้ว จะเอากำลังกาย หรือกำลังความคิดมาทดแทนกำลังใจไม่ได้เลย 

         ยกตัวอย่างเช่น ชายคนหนึ่งทำการค้าล้มเหลว มีหนี้สินล้นพ้นตัว เมียตีจาก ชายคนนี้หากขาดกำลังใจ เขาก็จะรู้สึกท้อแท้ แม้จะยังมีกำลังกายดี มีกำลังความคิดที่จะใช้ความรู้ความสามารถ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้อีกครั้ง แต่เขาก็จะไม่ทำ และปล่อยชีวิตให้จมปลักกับความทุกข์ และความโศกเศร้าอยู่ตลอดเวลา ตรงกันข้าม หากชายคนนี้เกิดเป็นโรคร้ายซ้ำ แต่เขายังไม่หมดกำลังใจ เขาก็ยังสามารถใช้สมอง สติปัญญา และพลังที่เหลืออยู่ ฮึดสู้กับโรคร้ายและโชคร้ายอย่างไม่ย่อท้อ ที่สุดเขาก็จะสามารถเอาชนะชะตากรรมได้ หรือถ้าหากเขาขาดกำลังความคิด คือไม่มีความรู้ในธุรกิจ จนต้องล้มเหลวครั้งแล้ว ครั้งเล่า แต่ถ้าเขายังมีกำลังใจอยู่ เขาก็จะมีใจไปขวนขวายหาความรู้เพิ่ม และมุ่งมั่นจนชนะอุปสรรคทั้งหลายได้ 

         อีกตัวอย่างที่เห็นได้ง่าย คือ เรื่องของความรัก เราจะเห็นได้ว่า ชายหนุ่มหรือหญิงสาวหากอกหัก มักจะการขาดกำลังใจ ที่จะดำรงชีวิตอยู่ แม้จะมีความรู้ หน้าตาดี ร่างกายแข็งแรง แต่หลายคนกลับคิดไม่ตก หันไปทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตายในที่สุด ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่สมหวังในรัก ก็จะมีแรงใจที่จะสร้างเนื้อสร้างตัวจ นเป็นปึกแผ่น ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ? กำลังใจ ? เป็นพลังที่สำคัญยิ่ง และมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการดำเนินชีวิตของเรา ให้ไปสู่ความสำเร็จได้นานัปการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียน การทำงาน หรือความรัก ดังที่กล่าวมาแล้ว 

         โดยทั่วไปกำลังใจของคนเรานั้น จะมี 2 แบบ คือ

         1. กำลังใจแบบที่เกิดขึ้นเอง มักเกิดในสภาพจิตที่รุนแรง หรือเกิดจากความสะเทือนใจอย่างหนัก และมักให้โทษมากกว่าคุณ เนื่องจากเป็นกำลังใจที่เกิดจากอารมณ์ต่างๆ เช่น ความโกธร ความกลัว ความตกใจ ความเกลียด และความหึงหวง เป็นต้น กำลังใจที่ว่านี้ ท่านว่าเป็นกำลังใจที่โลดโผน เกิดขึ้นชั่วแล่น แล้วก็ดับหายไป เช่น ภริยาบางคนกลัวสามีมาก แต่เมื่อถูกทำร้ายมากๆเข้า ก็อาจโกรธจนลืมตัว และเกิดกำลังฮึดสู้ จนแทงสามีตายได้ หรือในเวลาไฟไหม้ ความตกใจ ก็สามารถทำให้บางคนยกของหนักได้ ทั้งๆ ที่ยามปกติทำไม่ได้ เป็นต้น กำลังเหล่านี้ ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของกำลังใจ ที่เกิดขึ้นในชั่วขณะนั้น ซึ่งมักอยู่ไม่นาน และไม่ค่อยให้คุณ 

         2. กำลังใจแบบที่เราก่อให้เกิดขึ้น หรือสร้างขึ้น จะเป็นกำลังใจที่ให้คุณ และมีความยั่งยืนกว่า เพราะเกิดจากดวงจิตที่ตั้งมั่น จะมีชีวิตอย่างเป็นตัวของตัวเอง ไม่ปล่อยไปตามยถากรรม อีกทั้งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยแก้ปัญหา ความยากลำบากในชีวิต และยังช่วยเพิ่มพูนกำลังกาย และกำลังความคิดได้อีกด้วย 

         ตามธรรมดา การที่จะรู้ว่าใครมี "กำลังใจ" หรือไม่ ย่อมต้องมีเหตุแสดงให้เห็น เช่น เมื่อเกิดปัญหาชีวิต เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ คนที่มีกำลังใจ จะไม่กลัวและพร้อมจะต่อสู้เพื่อให้อุปสรรคเหล่านี้หมดไป หรือสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยไม่ย่อท้อ ผิดกับคนที่ขาดกำลังใจ มักจะมีอาการตรงข้าม อันเนื่องมาจากเกิดความกลัว ความขลาดที่จะเผชิญปัญหา จึงเกิดวิตกจริต รู้สึกหดหู่ซึมเศร้าอยู่เป็นนิตย์ มองเห็นแต่ปัญหา หาทางออกไม่เจอ อย่างไรก็ดี กำลังใจเป็นสิ่งที่สร้างให้เกิดขึ้นได้ และทำได้หลายประการ ดังที่กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จะได้ ยกตัวอย่างบางวิธีมาเสนอดังต่อไปนี้ 

         ขจัดความกลัว โดยทั่วไปคนจะกลัว 4 เรื่องคือ กลัวผี กลัวคน กลัวภัยเฉพาะหน้า และกลัวเหตุร้ายจะมาถึง คนที่มีความกลัวอยู่ในนิสัยหรือที่เรียกว่า ?คนขลาด? นั้น ยากที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต แม้จะมีความพร้อมในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ หรือทรัพย์สินเงินทอง ดังนั้น เราอาจจัดความกลัวได้ 2 วิธีคือ 

         วิธีของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงสอนว่า สิ่งที่ขจัดความกลัวได้ผลที่สุดคือ การแผ่เมตตาจิต ปลูกฝังไมตรีให้เป็นธรรมะประจำใจ เพราะทันที่ที่เรามีเมตตาจิต เราจะไม่กลัวสิ่งใดมาทำอันตราย เพราะเราจะคิดดีต่อผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา จึงเสมือนมีเครื่องคุ้มกันภัย และคุ้มกันใจให้หายกลัว 

         ส่วนอีกวิธีคือ วิธีแบบจิตวิทยา เป็นการสอนวิธีขจัดความกลัว โดยให้เชื่อใน ความเป็นจริง คือ ให้รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร เช่น เรากลัวบางคน เพราะเราไม่รู้ว่าเขาเป็นอย่างไร แต่หากศึกษาให้รู้ประวัติ รู้นิสัยใจคอของเขา ก็จะหายกลัว เป็นต้น ความกลัวเป็นศัตรูร้ายแรงของกำลังใจ การฝึกขจัดความกลัว จะเป็นหนึ่งในวิธีสร้างกำลังใจโดยตรง ยิ่งเรากลัวน้อยลงเท่าไร เราก็ยิ่งมีกำลังใจมากขึ้นเท่านั้น 

         ขจัดความหวาดวิตก ซึ่งเป็นภัยร้ายที่ทำลายทั้งสุขภาพ และความคิด ดังนั้น เราจะต้องแก้โดยหัดมองโลกในแง่ดี คิดในทางบวก คิดว่าต้อง ?ทำได้? อยู่เสมอ เพราะหากเรามัวแต่กลัวปัญหาอุปสรรค และคิดว่าทำไม่ได้ ก็จะเกิดปริวิตก และทอนกำลังใจตนเอง อีกทั้งจะต้องหาอะไรทำอยู่เสมอ อย่าปล่อยตัวปล่อยใจให้ว่าง ความวิตกก็จะหมดไป เพราะมัวแต่ทำงานไม่มีเวลาไปคิดฟุ้งซ่าน ไร้สาระ 

         การเป็นตัวของตัวเอง คือ มีความคิดอ่านเป็นของตน ในทางที่มีเหตุมีผล มีความถูกต้องเหมาะสม หรือพูดง่ายๆ ว่ามีหลักการของตนเอง ไม่ยอมให้ใครชักจูงให้ผันผวน ไปจากแนวคิดของตน คนเหล่านี้คือ ผู้ที่มีกำลังใจแท้ คือ มีกำลังใจที่จะต่อสู้ และกำลังใจที่จะหักห้ามตนเอง ไม่ให้ทำผิดจากหลักการที่ตั้งไว้ 

         การสร้างนิสัยสดชื่น ความสดชื่น เป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความสามารถ ที่จะมีชีวิตอยู่ และพร้อมเติบโตก้าวหน้าต่อไป ทำให้ผู้อยู่ใกล้มีความสุขสดชื่นไปด้วย แม้ว่าในความเป็นจริง เราอาจจะมีทุกข์ แต่หากเราเอาแต่โศกเศร้าทุกข์ร้อน นอกจากจะทำให้เรารู้สึกอ่อนแอ ทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ผู้คนก็จะพากันหนีห่าง ดังนั้น เราจึงควรสร้างนิสัยสดชื่นไว้อยู่เสมอ ด้วยการสร้างสิ่งแวดล้อมรอบตัว ให้สดชื่นแจ่มใส เช่น ปลูกไม้ดอกในบ้าน หัดมองโลกในแง่ดี ขบขัน ประกอบคุณงามความดี เช่น ทำบุญ จะทำให้รู้สึกอิ่มเอิบสดชื่นเช่นกัน 

         นอกจากวิธีการข้างต้นแล้ว เรายังสามารถเพิ่มพูนกำลังใจให้มากขึ้น ด้วยการนำข้อคิด คำคม คำสอนที่เป็นคติจากหนังสือ คำพูด หรือการดำรงชีวิตที่ดีของผู้อื่น มาเป็นแบบอย่างได้ เช่นคำคมที่ว่า อัจฉริยะมีเพียงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเกิดจากหยาดเหงื่อ และความเพียรพยายาม อย่าทำความชั่ว เพราะคิดว่าผิดนิดเดียว และอย่าละเว้นทำดี เพราะคิดว่าได้กุศลน้อยนิด เป็นต้น การสร้างกำลังใจด้วยวิธีการต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว แม้จะต้องฝืนใจทำบ้างในเบื้องต้น แต่เชื่อว่า ถ้าเราฝึกบ่อยๆ ให้เกิดความเคยชิน จนเป็นนิสัย ก็จะทำให้เรากลายเป็นคนเข้มแข็ง และมี "กำลังใจ" อันเป็นพลังผลักดันให้ชีวิตประสบความสำเร็จในทุกๆ ด้านต่อไป


กำลังใจ กับการเติมเต็มชีวิต


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์