2558 ปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ และผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลก

2558 ปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ และผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลก

นักวิทยาศาสตร์ได้เผยว่าปี 2558 ที่ผ่านมา เป็นปีที่ร้อนที่สุดที่ได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2423 โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกสูงขึ้น 0.9 องศาเซลเซียส จากอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นอีกครั้งที่สถิติของปีที่แล้วถูกทำลายไป ไม่ใช่เพียงแค่อากาศเท่านั้นที่ร้อนขึ้น อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่สูงขึ้นยังหมายถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนเป็นวิกฤตสุดขั้วไปทั่วโลก แม้ว่าปรากฎการณ์เอลนีโญจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุหลักของวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นนั้นมาจากกิจกรรมของมนุษย์และการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล นี่คือข้อพิสูจน์ว่าผลกระทบที่เป็นอันตรายจากวิกฤตโลกร้อนได้เกิดขึ้นแล้ว และหากเราไม่ร่วมกันลงมือต่อกรกับภัยคุกคามนี้อย่างจริงจัง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเลวร้ายขึ้นจนไม่อาจย้อนกลับได้

ภัยแล้งอันยาวนาน ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น มหาวาตภัยที่รุนแรง การขาดแคลนน้ำและอาหาร สิ่งเหล่านี้คือผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น อุณหภูมิ 0.9 องศาเซลเซียส ที่ร้อนขึ้นนั้นอาจฟังดูไม่สูงมาก แต่ถือเป็นระดับอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่เพิ่มขึ้นในลักษณะก้าวกระโดด โดยหน่วยงานระดับโลก อย่างเช่น องค์การนาซา (NASA), องค์กรบริหารด้านมหาสมุทรและบรรยากาศของสหรัฐอเมริกา National Oceanic and Atmospheric Administration [NOAA], สำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (Japan Meteorological Agency) และสำนักอุตุนิยมวิทยาสหราชอาณาจักร ได้สรุปข้อมูลออกมาพ้องต้องกันว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเมื่อปี 2558 นั้นสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยข้อมูลจาก NOAA ระบุไว้ว่าเดือนธันวาคม 2558 เป็นเดือนที่ร้อนที่สุด

10 วิกฤตการณ์สำคัญจากสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปี 2558

จากข้อมูลของ NOAA มีเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกและส่งผลกระทบไปทั่วโลก คือ

1. ปริมาณน้ำแข็งอาร์กติกลดเหลือปริมาณน้อยสุดในช่วงเวลาที่ควรขยายตัวมากที่สุดของปี และในช่วงฤดูร้อนก็ลดเหลือปริมาณน้อยที่สุดเป็นอันดับสี่ในประวัติศาสตร์ โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นถึง 2.9 องศาเซลเซียส จากอุณหภูมิเฉลี่ยของศตวรรษที่ผ่านมา

2. ทั่วทวีปเอเชียเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่ร้อนกว่าปกติ โดยประเทศจีนช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคมเป็นช่วงที่ร้อนที่สุด และฮ่องกงในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม

3. ฝนตกหนักในประเทศจีนช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคมทำให้เกิดอุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อ 75 ล้านคน โดยทางใต้ของประเทศจีนเป็นภูมิภาคที่เผชิญกับฝนมากที่สุดในเดือนพฤษภาคมในรอบ 40 ปี

4. มหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตกเผชิญกับพายุไต้ฝุ่นมากกว่าระดับปกติ โดยมีพายุไต้ฝุ่นทั้งสิ้น 21 ครั้ง และพายุ 28 ครั้งตลอดทั้งปี

5. ทวีปยุโรปเผชิญกับปีที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยร้อนที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ (อันดับหนึ่งคือปี 2557)

6. อินเดียต้องต่อกรกับคลื่นความร้อนในช่วง 21 พฤษภาคม-10 มิถุนายน โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงเกิน 45 องศาเซลเซียส และบางพื้นที่สูงเกิน 48 องศาเซลเซียส

7.พายุหมุนเขตร้อนชาปาลาในช่วงวันที่ 28 ตุลาคม-4 พฤศจิกายน เป็นพายุหมุนหมุนเขตร้อนที่มีความแรงระดับ 4 พัดถล่มเกาะของประเทศเยเมน และเป็นครั้งแรกที่ทำให้เกิดดินถล่ม

8. ประเทศชิลีในช่วงเดือนมกราคม ปี 2558 เป็นเดือนมกราคมที่แล้งที่สุดในช่วง 50 ปี

9. พายุเฮอร์ริเคนแซนดรา ในช่วง 23-28 พฤศจิกายน ความรุนแรงระดับ 3 เป็นเฮอร์ริเคนที่ใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือฝั่งตะวันออก ตั้งแต่บันทึกสถิติไว้เมื่อปี 2514

10. ช่วงกรกฎาคม 2557-มิถุนายน 2558 เป็นช่วงที่แล้งที่สุดของทวีปแอฟริกาใต้ตั้งแต่ปี 2534/2535

ภัยแล้งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญต่อเนื่องจากปีที่แล้ว คืออีกหนึ่งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เด่นชัดที่สุดที่ไทยกำลังเผชิญ 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนกำลังส่งผลกระทบถึงวิถีชีวิต ความมั่นคงทางอาหาร และทุกสรรพชีวิตทั่วทุกมุมโลก นี่คือสัญญาณเตือนครั้งสำคัญที่ผู้กำหนดนโยบายในระดับประเทศไม่ควรละเลย ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนจะร่วมมือกันควบคุมอุณหภูมิของเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เพิ่มมากไปกว่า 2 องศาเซลเซียส(เทียบกับระดับยุคก่อนอุตสาหกรรม) มุ่งสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ยั่งยืนและกระจายศูนย์แทนระบบพลังงานที่สกปรกและเป็นอันตรายอย่าง ถ่านหินและนิวเคลียร์

2558 ปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ และผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ที่มา: greenpeace.org


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์