กำเนิด ไอศครีม

กำเนิด ไอศครีม



จากการค้นคว้าย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์มีหลายตำนานระบุถึงถิ่นกำเนิดของไอศกรีม ตำนานแรกย้อนหลังไปสมัยศตวรรษที่ 1 จักรพรรดิเนโรห์ แห่งอาณาจักรโรมันได้พระราชทานเลี้ยงไอศกรีมแก่เหล่าทหารที่อยู่ในกองทัพ โดยทรงออกคำสั่งให้ทาสไปขุดน้ำแข็งจากภูเขานำมาผสมเข้ากับน้ำผึ้งและผลไม้ ซึ่งต่อมาเรียกไอศกรีมประเภทนี้ว่า เชอร์เบ็ทหรือซอร์เบท์


 อีกตำนานที่แพร่หลายมากกว่ามาจากฝั่งตะวันออกบอกว่า กลุ่มชนที่เป็นต้นกำเนิดไอศกรีมที่เก่าแก่ที่สุดคือ คนจีน โดยรู้จักการนำหิมะมาผสมกับน้ำผลไม้เมื่อราว 4 พันปีมาแล้ว ซึ่งไอศกรีมจะดูเหมือนนมขุ่นๆ แช่แข็ง ไม่ได้เป็นครีมนุ่มๆ อย่างทุกวันนี้ เนื่องจากตอนนั้นประเทศจีนเพิ่งจะเริ่มมีการรีดนมจากสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม นมจึงจัดเป็นอาหารที่มีราคาแพง พวกชนชั้นสูงจะนำนมไปหมกไว้ในหิมะ เพื่อถนอมอาหารจนกลายเป็นนมแช่แข็ง หลังจากนั้นก็เริ่มพัฒนาทำน้ำผลไม้แช่แข็งรับประทานกัน พอถึงต้นศตวรรษที่ 13 ขนมแช่แข็งสารพัดชนิดก็มีวางขาย เข็นขายกันตามถนนและทุกซอกซอยทั่วกรุงปักกิ่ง ว่ากันว่าเป็นที่มาของน้ำแข็งใสในปัจจุบัน


 จนปลายศตวรรษที่ 13 มาร์โคโปโลซึ่งเดินทางไปใช้ชีวิตในจีนนาน 16-17 ปี ได้นำสูตรนี้กลับมาแพร่หลายในอิตาลีซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่คนตะวันตกรู้จักการนำน้ำแข็งและเกลือมาเป็นส่วนผสม เพื่อทำให้เกิดความเย็น คนอิตาเลียนจึงถือว่าตนเป็นต้นตำรับไอศกรีมแบบที่นำมาปั่นให้เย็นจนแข็ง เรียกว่าเจลาติน

 จากนั้นไอศกรีมเดินทางไปถึงฝรั่งเศส ในงานเฉลิมฉลองพระราชพิธีอภิเษกสมรส ระหว่างแคเธอรีน เดอ เมดิซี แห่งเวนิส กับว่าที่กษัตริย์เฮนรี่ที่ 2 แห่งฝรั่งเศสในปี1533 ซึ่งนอกจากจะเสิร์ฟของหวานแช่แข็งหลากรสแล้ว ยังมีการเสิร์ฟของหวานกึ่งแช่แข็งที่ทำจากครีมข้นหวานซึ่งมีลักษณะคล้ายไอศกรีมในปัจจุบัน


 หลังจากที่หมอชาวสเปนในกรุงโรมคนหนึ่งได้พบเทคนิคพิเศษที่ว่า อุณหภูมิของส่วนผสมในการทำไอศกรีมแช่แข็งจะลดลงถึงจุดเยือกแข็งได้อย่างรวดเร็วขึ้น หากเติมดินประสิวลงในหิมะหรือน้ำแข็งที่อยู่รอบถัง เมื่อนั้นชาวฟลอเรนซ์จึงเป็นผู้ริเริ่มผลิตของหวานแช่แข็งที่ทำจากครีมล้วนๆ ชนิดแรกของโลก


 ไอศกรีมเดินทางไปอังกฤษ จากบันทึกพบว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ทรงรับสั่งให้พ่อครัวทำไอศกรีมให้เสวยและให้เก็บเป็นความลับด้วย


 ไอศกรีมข้ามไปอเมริกาในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 กลายเป็นที่ชื่นชอบของคนอเมริกันมาก ขนาดที่ว่า ประธานาธิบดี จอร์จ วอชิงตัน ลงทุนถึง 200 ดอลลาร์ซื้อเครื่องปั่นไอศกรีมไปทำกินเองในหน้าร้อน จากบันทึกพบว่า มีการเรียกขานคำว่า ไอศกรีม เป็นครั้งแรกในปี 1673 ตอนนั้นหน้าตาของไอศกรีมจัดเป็นประเภทเดียวกับไอซ์ทีหรือชาเย็น กับไอซ์คอฟฟี หรือกาแฟเย็น จึงตั้งชื่อคล้ายๆ กันแม้ว่าต่อมาหน้าตาของไอศกรีมจะเปลี่ยนไปจากเดิมก็ตาม


 ร้านไอศกรีมร้านแรกเปิดที่ รัฐนิวยอร์ก สหรัฐในปี 1776 ในปี 1782 มีบันทึกว่าในงานเลี้ยงฟิลาเดลเฟียปาร์ตี้ ซึ่งเจ้าภาพคือ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสจัดขึ้น เพื่อเป็นเกียรติแก่การก่อตั้งประเทศสาธารณรัฐอเมริกา โดยมีการทำไอศกรีมเสิร์ฟแขกผู้มีเกียรติให้หวานชื่นใจกันทั่วงาน


 สำหรับต้นกำเนิดไอศกรีมซันเดย์นั้น มีหลายตำนานด้วยกัน ซึ่งล้วนเกี่ยวพันกับ ซันเดย์ หรือวันอาทิตย์แทบทั้งสิ้น เรื่องแรกเกิดขึ้นในยุควิคตอเรียน ในสหรัฐอเมริกา มาจากคำบอกเล่าของ “จอร์จ กิฟฟี่” คนดังแห่งรัฐวิสคอนซิน ระบุว่า เดิมทีการดื่มโซดาวันอาทิตย์ อันเป็นวันประกอบพิธีทางศาสนาและพักผ่อนของชาวคริสต์เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม กระทั่งหลายเมืองออกกฎหมายห้ามจำหน่ายโซดาในวันอาทิตย์ เจ้าของร้านขายยาต่างๆ ในเอแวนสตัน อิลลินอยส์ จึงได้บรรจุไอศกรีมและน้ำหวานไว้เป็นรายชื่อของถูกกฎหมายที่มีจำหน่ายในวันอาทิตย์ เพื่อเป็นทางเลือกแก่ลูกค้า โดยในวันอาทิตย์ที่อเมริกันชนชาวคริสต์ส่วนใหญ่ไปเข้าโบสถ์ ในวันนี้ผู้คนจะแต่งตัวสวยงามเมื่อเสร็จพิธีในโบสถ์แล้วก็จะชักชวนกันไปหาของหวานกินกัน ซึ่งไอศกรีมเป็นของหวานชนิดแรกๆ ที่ได้รับเลือก


 อย่างไรก็ตามต่อมาคำว่า “Sunday” ได้ถูกเปลี่ยนมาใช้ “Sundae” สาเหตุจากการที่ในหมู่คริสต์ศาสนิกชนโดยเฉพาะผู้ที่เป็นผู้นำในแวดวงศาสนาได้ออกมาโจมตีว่าการนำคำว่า “Sunday” มาใช้เป็นเรื่องไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากวันอาทิตย์เป็นวันอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งการนำวันดังกล่าวมาตั้งเป็นชื่อของหวานเป็นสิ่งไม่บังควร เป็นที่มาของไอศกรีมซันเดย์ที่สะกดว่า Sundae ของไอศกรีม


 อีกเรื่องเล่าว่า ร้านขายยาชื่อ แพลตต์แอนด์โคต์ โดยนายเชสเตอร์ แพลตต์ เจ้าของร้านซึ่งปกติตักไอศกรีมขายแบบธรรมดา แล้วจู่ๆ ในวันอาทิตย์วันหนึ่ง เกิดไอเดียตักไอศกรีมใส่ถ้วยแชมเปญแล้วนำเอาน้ำเชอรี่ราดลงบนก้อนไอศกรีมและประดับด้วยผลเชอรี่แช่อิ่มบนยอดดูสวยงามน่ารับประทาน โดยตั้งชื่อเมนูพิเศษนี้ว่า Cherry Sunday โดยให้เหตุผลง่ายๆว่า เพราะปิ๊งไอเดียในวันนี้ และวางขายในวันอาทิตย์ เรียกร้องความสนใจจากลูกค้าขาประจำและขาจรได้เป็นอย่างดี


 


กำเนิด ไอศครีม



 ในปี 1812 นางดอลลี่ เมดิสัน ได้คิดค้นเครื่องโรยหน้าไอศกรีมสารพัดอย่าง เพื่อเสิร์ฟเป็นของหวานในงานเลี้ยงฉลองรับตำแหน่งประธานาธิบดีที่ทำเนียบขาว


 กระทั่งในปี 1843 นางแนนซี่ จอห์นสัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ ได้คิดค้นเครื่องผลิตไอศกรีมแบบมือเขย่าขึ้น ซึ่งเธอสามารถขายสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์นี้ด้วยราคา 200 เหรียญสหรัฐ อีก 7 ปีต่อมา จาค็อบ ฟัสเซลล์ ผู้รับซื้อนมได้เปิดธุรกิจไอศกรีมขึ้นเป็นเจ้าแรก


 ว่ากันว่า “ไอศกรีมโคน” เกิดขึ้นในงานออกร้าน “เซ็นต์หลุยส์ แฟร์” ในรัฐมิสซูรี่ เมื่อปี 1904 เมื่อนายอาร์โนลด์ ฟอร์นาโช คนขายไอศกรีมเกิดขาดแคลนกระดาษ สำหรับ ใส่ไอศกรีมขึ้นมาเลยไปคว้าเอาแผ่นวอฟเฟิลจากร้านขายวอฟเฟิลของนาย เออร์เนสต์ แฮมไว ที่อยู่ข้างๆ มาม้วนเป็นกรวย แล้วใช้เป็นภาชนะสำหรับบรรจุไอศกรีมเป็นอันว่า ได้มีการม้วนแผ่นวอฟเฟิลทำเป็นโคนเรื่อยๆ แต่นายอิตาโล มาร์ชิโอนี่ ชาวอิตาเลียน อ้างว่าตนเองเป็นผู้คิดค้นไอศกรีมโคนขึ้นเป็นเจ้าแรกตั้งแต่ปี 1896


 จนถึงปี 1912 เฟรเดอริก บรุคแมน นักประดิษฐ์จากรัฐโอเรกอน ได้จดลิขสิทธิ์เครื่องจักรผลิตไอศกรีมขึ้น


 ในสหรัฐมีการนำเข้าน้ำแข็งแห้งหรือคาร์บอนไดออกไซด์แข็ง ในปี 1930 เพื่อใช้เก็บรักษาไอศกรีมไอศกรีมโซดาถือกำเนิดขึ้นเมื่อ โรเบิร์ต เอ็ม. กรีน ผู้จำหน่ายโซดาในฟิลาเดเฟีย คิดค้นส่วนผสมระหว่างน้ำโซดา ครีม น้ำหวาน ในปี 1929 วิลเลียม เดรเยอร์ผู้ผลิตไอศกรีม และคู่หู โจเซฟ เอดี้ ผู้ผลิตลูกกวาด เป็นผู้ริเริ่มไอศกรีมยี่ห้อ ร็อกกี้ โร้ด เป็นเจ้าแรกของโลก


 ส่วนวิปป์ครีมที่ประดับสวยอยู่บนหน้าไอศกรีมนั้น เกิดมาจากความขี้เกียจตีครีม ของนายชาร์ล โกทซ์ นักเคมีชั้นยอดแห่งมหาวิทยาลัย อิลลินอยส์ ผู้คลุกคลีในกิจการไอศกรีม จึงทำให้เขาค้นพบวิธีการทำให้ไอศกรีมอิ่มตัวด้วยการใช้ก๊าซไนตรัสออกไซด์หรือก๊าซหัวเราะ


 ในเมืองไทยไอศกรีมเข้ามาช่วงไหนไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่คาดว่าคงมาหลังสมัย ร.5 ซึ่งมีการผลิตนํ้าแข็งกินเอง ไอศกรีมตอนนั้นทำจากนํ้าหวานหรือนํ้าผลไม้นำไปปั่นเย็นจนแข็ง ไม่มีนมหรือครีมผสมด้วย เรียกว่า "ไอติม" ใช้แรงคนในการปั่น โดยมีหม้อทองเหลือง เส้นผ่าศูนย์กลาง 50-60 ซม.สูง 30 ซม.ภายในมีรูคล้ายลังถึง สำหรับเสียบกระบอกโลหะทรงกลมขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ซม. ภายในบรรจุนํ้าผลไม้หรือนํ้าหวาน กระบอกนี้คือแม่พิมพ์ที่ทำให้ไอติมเป็นแท่ง


 การปั่นต้องใช้มือจับหูหม้อทองเหลืองทั้ง 2 ข้าง และแกว่งหรือหมุนไปมาในถังไม้ที่ใส่นํ้าแข็งผสมเกลือ หลังจากปั่นได้ 1/2 - 1 ชม.ไอของความเย็นจะเริ่มเกาะรอบนอกของกระบอกนํ้าหวานข้างในจะเริ่มแข็งตัว ช่วงนี้เองที่ต้องเสียบไม้เข้าไป ตรงกลางเพื่อ เอาไว้จับกินหมุนต่อไปอีกจนไอติมแข็งตัว จึงเอากระบอกโลหะไปจุ่มในนํ้าอุ่นเพื่อ ให้ดึงไอติมออกจากกระบอกง่ายขึ้น นำไปใส่กระติกเร่ขาย ปัจจุบันมีพ่อค้าฟื้นการทำไอติมแบบนี้ออกขายด้วย


 ต่อมาบริษัทป๊อบผู้ผลิตไอศกรีมตราเป็ด ซึ่งเป็นผู้ผลิตไอศกรีมรายแรกของเมืองไทย ได้สั่งซื้อเครื่องทำไอศกรีมจากต่างประเทศ มาผลิตไอศกรีมได้ครั้งละมาก ๆ เน้นความสะอาดและคุณภาพ ทำให้ไอศกรีมเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว


 


กำเนิด ไอศครีม





 ไอศกรีมตราเป็ดยุคแรก ๆ ยังเป็นไอติมหวานเย็น ต่อมาจึงดัดแปลงรสชาติใหม่ ๆ เป็น เป็นรสระกำ เฉาก๊วย ลอดช่อง โอเลี้ยง ข้าวเหนียวแดง ถั่วดำ ฯลฯ พร้อมกับนำสูตรใส่นมจากต่างประเทศใส่ถ้วย ทำให้เนื้อไอศกรีมละเอียดและเนียน คนจึงนิยมกินไอศกรีมใส่นมหรือครีมกันมาก ส่วนไอศกรีมที่เป็นผลงานโลโก้ของไทยคือ ไอติมกะทิ โดยใช้กะทิสดผสมนํ้าตาล ใส่แทนนมและครีม ที่อาจจะเป็นไปได้มากว่าไอศกรีมกะทิมีต้นกำเนิดจากเมืองไทยเป็นแห่งแรก และไม่ต้องใช้กระบอกทำเป็นแท่ง แต่ใช้ตักใส่ถ้วยเป็นลูกๆ ซึ่งมีคำเรียกขานใหม่ว่า "ไอติมตัก" ต่อมาจึงมีการตักใส่ถ้วยกรอบ และขนมปังผ่ากลาง จุดเด่นของไอศกรีมกะทิคือดัดแปลงให้มีรสชาติต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น เติมลอดช่อง เม็ดแมงลัก ข้าวโพด ขนุน ทุเรียน และเผือก เป็นต้น


 บริษัทป๊อปลงทุนทำเป็นรถซาเล้งเพิ่มขึ้นมา จึงได้รับความนิยมเพราะคนขายไม่ต้องซื้อรถเอง โดยไอติมตราเป็ดเป็นยุคแรก ๆ ที่เริ่มพัฒนามาใช้รถสามล้อถีบ คนขายถือ Duck Call เสียงดังคล้ายเป็ด เพื่อเรียกลูกค้า นับตั้งแต่นั้นมาสามล้อถีบก็กลายเป็นทั้งสัญลักษณ์ และกลยุทธ์ในการขายไอศกรีม หลายยี่ห้อ เช่น โฟร์โมสต์ ครีโม วอลล์ ฯลฯ


 ไอติมเหล่านี้มีลูกเล่นกับลูกค้าหลายรูปแบบ บางคนอาจจะเคยกินไอติมที่ปลายไม้ป้ายสีแดง แล้วนำไปแลกได้ฟรีอีก 1 แท่ง ขณะที่ไอติมป๊อปใช้วิธีสลักคำว่าฟรีบนไม้ ใครพบคำนี้นำมาแลกฟรี 1 แท่ง บางยี่ห้อใช้วิธีทายไม้สั้นไม้ยาว กำถั่ว โยนหัวโยนก้อย เหล่านี้เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ได้ผลดีมาก


 ซาเล้งขายไอติมซึ่งมีทั้งแบบแท่งและถ้วยครองตลาดอยู่นาน ขณะที่ร้านขายไอศกรีมยังไม่มีใครทำ กระทั่งปี 2520 "ศาลาโฟร์โมสต์" จึงเกิดขึ้น และเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นมาก เด็กมัธยมสมัยนั้นเลิกเรียนหรือดูหนังเสร็จ ต้องนัดกันไป ที่ศาลาโฟร์โมสต์ ไม่กี่ปีหลังจากนั้น การแข่งขันก็เริ่มรุนแรงขึ้น ไอศกรีมลิขสิทธิ์ต่างประเทศ เข้ามาเมืองไทยอย่างมากมาย เช่น สเวนเซ่นส์,บาสกิ้น-รอบบิ้น และแดรี่ควีน เป็นต้น


 ในทางการค้าปัจจุบันมีการจัดกลุ่มไอศกรีมไว้หลายประเภทเช่น Plain Ice Cream ไอศกรีม ที่ประกอบด้วยสารให้สีและกลิ่นในปริมาณน้อยกว่า 5% ของส่วนผสมทั้งหมด ,Chocolate มีส่วนผสมของโกโก้หรือชอกโกแลต, Fruit ไอศกรีมประกอบด้วย ผลไม้หรือกลิ่นผลไม้,Nut ไอศกรีมที่ผสมผลไม้เนื้อแข็ง เช่นอัลมอนด์ วอลนัท ถั่วลิสง ฯลฯ, Frozen Custard, French Ice Cream และ French Custard Ice Cream ไอศกรีมที่มีส่วนผสมของไข่แดงไม่น้อยกว่า 1.4 % ของนํ้าหนักผลิตภัณฑ์,


 Fruit Sherbet ไอศกรีมทำจากนํ้าผลไม้ นํ้าตาลและนม ,Confection ไอศกรีมที่มี ลูกกวาดผสม เช่น Chocolate Chip, Neapolitan ไอศกรีม 2 รสในถ้วยเดียวกัน,Soft Serve Ice Cream หรือ Ice Milk ไอศกรีมที่ไข จากเครื่องปั่นไอศกรีมโดยตรงไม่ใช้การตัก และ Rainbow Ice Cream ไอศกรีมที่ไขจากเครื่องปั่นเช่นเดียวกัน แต่มีสีต่าง ๆ 6 สีขึ้นไป


 ไอศกรีมเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ใช้ทำ ที่สำคัญเหมาะกับเด็กที่กำลัง เจริญเติบโตหรือคนที่ต้องการเพิ่มน้ำหนัก ปัจจุบันมีการผลิตไอศกรีมภูมิปัญญาไทยจากผลไม้ และสมุนไพรของไทยเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก บางอย่างไม่นึกว่าจะทำได้ เช่น กล้วยเล็บมือนาง น้อยหน่า มะขาม เสาวรส หรือไอศกรีมดอกไม้ เช่นดอกกุหลาย ดอกเก๊กฮวย และดอกกระเจี๊ยบแดง เป็นต้น



เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์