โรคบ้างาน ภัยเงียบ

โรคบ้างาน ภัยเงียบ


โรคบ้างาน ภัยเงียบ
คนวัยทำงานที่รักงาน–ชอบทำงานหนัก


ท่ามกลางการแข่งขันของสังคมไทยในยุค ปัจจุบัน ทำให้คนเราต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อให้มีรายได้ที่พอเพียงสำหรับการเลี้ยงดูครอบครัว โดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงาน ที่พึ่งก่อร่างสร้างตัวหรือสร้างครอบครัวใหม่บางคนถึงกับต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่าตัว เพราะมีความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น บ้าน รถ ฯลฯ และจากการทำงานที่หนักขึ้นอาจกำลังเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพกายและใจได้โดยไม่รู้ตัวจนส่งผลให้บุคคลนั้นมีอาการของ “โรคบ้างาน”

โรคออฟฟิศซินโดรม หรือโรคบ้างาน ปัจจุบันโรคนี้จะพบมากขึ้นในคนไทยซึ่งแต่เดิมที่จะพบแค่ในผู้ชายญี่ปุ่นเท่านั้นซึ่งเรียกว่าโรค Workaholic หรือโรคติดงาน

คนที่ชอบทำงานหนัก หากได้ยินชื่อโรคนี้อาจจะตื่นตระหนกได้ แต่ความจริงแล้วโรคออฟฟิศซินโดรมหรือบ้างานนี้ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงและน่ากลัวอย่างที่คิด เป็นแค่เพียงภาวะทางจิตอย่างหนึ่งเท่านั้นแต่ถ้าไม่ได้รับการดูแลอาจจะก่อให้เกิดโรคทางร่างกายตามมา

น.พ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า
 
โรคออฟฟิศซินโดรมหรือโรคบ้างาน เดิมทีจะพบมากในผู้ชายญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ทุกวันนี้พบในสังคมไทยแล้วและจากการสำรวจประชากรวัยแรงงานหรือวัยทำงานของประเทศไทย พบว่ามีจำนวนถึงร้อยละ 67 ของจำนวนประชากรทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้โรคนี้มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นและอาจกลายเป็นภัยที่คุกคามสุขภาพได้ หากใช้ชีวิตในวัยทำงานอย่างไม่ระมัดระวัง ซึ่งโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้สามารถพบได้ทั้งชายและหญิง เพราะทุกวันนี้ผู้หญิงไทยออกไปทำงานนอกบ้านกันมากขึ้น เนื่องมาจากสังคมไทยมีการแข่งขันกันสูง การให้ฝ่ายชายไปทำงานนอกบ้านฝ่ายเดียวอาจจะไม่พอรายจ่ายภายในครอบครัว โรคบ้างานจะพบได้มากโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีบุคลิกเป็นคนสมบูรณ์แบบ เจ้าระเบียบ ชอบแข่งขัน มีความทะเยอทะยาน เอาจริงเอาจัง ในทางจิตวิทยาเกิดจากพฤติกรรมของคนที่ชอบทำงานเยอะและมีความสุขจากการทำงานซึ่งจะสะท้อนออกมาในรูปแบบของการเสพติดงาน มีจิตใจคิดวนเวียนอยู่กับการทำงาน

อาการเริ่มต้นที่สังเกตได้จากโรคนี้ได้แก่ ปวดหัว ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดท้ายทอย สายตาพร่ามัว ปวดกล้ามเนื้อตา ซึ่งจะส่งผลเสียต่อร่างกายจนกลายเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจ กระเพาะอาหาร และโรคร้ายแรงอื่นได้ และถ้าสังเกตภาวะอารมณ์ของผู้ที่มีอาการของโรคบ้างานจะกลายเป็นคนที่มองอะไรก็ขวางหูขวางตาไปหมด เกี้ยวกราดกับเพื่อนร่วมงาน การพูดคุยไม่เหมือนเดิมจะให้ความสนใจแต่เฉพาะในเรื่องของการทำงานจนกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว ส่วนสัญญาณเตือนของโรคบ้างานสามารถสังเกตตัวเองและคนใกล้ชิดว่าทำงานหนักเกินไปหรือเปล่าและคอยสังเกตซึ่งกันและกันอยู่เสมอ เช่น การสังเกตการสื่อสารซึ่งกันและกัน การแสดงออกทางการพูดจา ว่ามีอาการชักสีหน้า อารมณ์ฉุนเฉียวเข้าหากันหรือเปล่าเหล่านี้ถือว่าเป็นสัญญาณเตือนของโรคบ้างานได้”

“เมื่อสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในครอบครัวจากการทำงานซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสัญญาณเตือนภัยแล้วในเบื้องต้นต้องตระหนักรู้ด้วยว่าอาจจะต้องมีการปรับเป้าหมายในชีวิตใหม่ วางแผนในชีวิตใหม่ ชะลอความต้องการความอยากได้ไว้ก่อนและที่สำคัญที่สุดก็คือการตระหนักรู้ร่วมกันภายในครอบครัว เพื่อนำไปสู่แนวทางแก้ไขที่ดีสุด”

โรคออฟฟิศซินโดรมหรือโรคบ้างานสามารถป้องกันและรักษาได้ด้วยตนเองหากไม่มีการดูแลรักษาอาจจะนำไปสู่การเป็นโรคอื่นที่ร้ายแรงได้....

น.พ.วชิระ ยังกล่าวอีกว่า

โรคออฟฟิศซินโดรมหรือโรคบ้างานไม่ได้เป็นโรคที่น่ากลัวอย่างที่คิดแต่ต้องดูแลรักษาหากไม่ตระหนักรู้ดูแลรักษาแล้วจะก่อให้เกิดโรคทางร่างกายตามมา อาทิ เบาหวาน ความดัน เกาต์ ไตวาย อัมพาต ถุงลมโป่งพอง ซึ่งโรคเหล่านี้เกิดจากพฤติกรรมการกิน ไม่มีเวลาออกกำลังกาย เพราะมีภาระหน้าที่ต้องทำงาน ยิ่งไปกว่านั้นอาจจะมีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศทั้งหญิงและชาย โดยอาจเกิดขึ้นจากความเจ็บปวดของเส้นประสาท ทำให้ลดความรู้สึกลง หรือระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวอีกด้วย

แนวทางการป้องกันรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมสามารถทำได้เพียงแค่ “ปรับพฤติกรรมการทำงานเสียใหม่โดยมีสัดส่วนเวลาการทำงานกับเวลาพักผ่อนให้สมดุลกัน ควรมีเวลาทำงาน ควรมีการผ่อนคลาย พักหาวิธีการผ่อนคลาย เช่น หลับตา หายใจลึก สักพัก ระหว่างเวลาทำงาน 1 ชั่วโมง เราควรใช้สมอง 45 นาทีแล้วพัก 10-15 นาที ควรทำอย่างนี้ทุกชั่วโมง การปรับเวลาเหล่านี้ควรเป็นไปตามสัดส่วนที่ธรรมชาติร่างกายต้องการ” โดยไม่จำเป็นต้องไปปรึกษากับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก็ได้ แต่ถ้ารู้สึกว่าหนักไม่ไหวแล้วจริงก็สามารถโทร.ขอคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือปรึกษาคลินิกคลายเครียดที่มีอยู่ในหน่วยงานในสังกัดกรมสุขภาพจิตได้ แต่ในปัจจุบันนี้ก็ยังไม่พบรายงานว่ามีคนทำงานที่เป็นโรคบ้างานถึงขั้นเบรกแตก ควบคุมตัวเองไม่ได้ ส่วนใหญ่จะรู้ตัวก่อน น.พ.วชิระ กล่าว

โรคออฟฟิศซินโดรมหรือโรคบ้างานเป็นภาวะทางจิตสามารถป้องกันรักษาโดยลดความเครียดจากการทำงานที่หนักเกินพอดีหากรู้ถึงสาเหตุของโรคที่เกิดจากการทำงานและปรับปรุงให้เหมาะสม ปัญหาที่เกิดจากการทำงานก็ลดน้อยลงหรือพยายามมองชีวิตว่าไม่มีแต่เรื่องงานเพียงอย่างเดียว ควรจัดเวลาในแต่ละวันให้มีกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง ให้ความสำคัญในเรื่องครอบครัวและเรื่องทำงานให้ควบคู่และสมดุลกัน และที่สำคัญคือต้องรู้ตัวเองและรู้ถึงสาเหตุของโรคที่เกิดจากการทำงานและปรับปรุงให้เหมาะสม ปัญหาที่เกิดจากการทำงานก็ลดน้อยลงซึ่งจะช่วยให้เราห่างไกลจากโรคออฟฟิศซินโดรมหรือโรคบ้างานได้อย่างแน่นอน

โรคบ้างาน ภัยเงียบ


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์