กระแสเกาหลีกับการเรียนรู้และพัฒนาของ ไทย

กระแสเกาหลีกับการเรียนรู้และพัฒนาของ ไทย



ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้คนเกาหลีใต้เปลี่ยนทัศนคติจากที่เคยทระนงในความเป็นชาติที่เข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาใคร

ก็เริ่มตระหนักว่าเกาหลีไม่สามารถแยกตัวจากเศรษฐกิจโลกได้ และจำเป็นต้องผูกพันกับโลกภายนอก

วิกฤติเศรษฐกิจยังทำให้คนเกาหลีใต้แตกออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระแสโลกาภิวัตน์ และอีกกลุ่มถูกแยกไปจากกระแสโลกโลกาภิวัตน์ ซึ่งผู้สร้างภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ของเกาหลีก็อยู่ในกลุ่มแรก และพวกเขามุ่งสร้างแบรนด์เกาหลีเพื่อขายในตลาดโลกและเรียกวัฒนธรรมชนิดนี้ของตนว่าฮาลยู (Hallyu)


 เกาหลีใต้เปิดตัวแบรนด์ของตนเป็นครั้งแรกด้วยการนำคณะนักร้องนักแสดงเกาหลีไปแสดงที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จนหนังสือพิมพ์จีนพากันยกย่องว่าเป็นการแสดงออกถึงวัฒนธรรมและความภาคภูมิใจในเชื้อชาติของตนสูงมาก และได้ขนานนามรูปแบบการแสดงดังกล่าวของเกาหลีว่า “กระแสเกาหลี” ซึ่งต่อมาได้เป็นคำที่ใช้กันโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม ในเชิงธุรกิจ ระยะแรกเกาหลียังคงต้องแข่งขันอย่างเข้มข้นกับชาติอื่นในเอเชียที่เป็นเจ้าตลาดธุรกิจบันเทิงอยู่ก่อน เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน และญี่ปุ่น

 ในปี 2541 กระทรวงวัฒนธรรมเกาหลีใต้ได้กำหนดแผนที่มีชื่อว่า Korean 2010: Culture. Creativity and Content ส่งเสริมให้เอกชนลงทุนด้านจัดการศึกษาวัฒนธรรม และอุตสาหกรรมวัฒนธรรม เพื่อสร้างองค์ความรู้และบุคลากรรองรับความเติบโตของธุรกิจบันเทิง  ต่อมาในปี 2545 เกาหลีก็ได้ตั้งสำนักงาน Korea Culture and Content Agency เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าวัฒนธรรม ทั้งภาพยนตร์ แอนิเมชั่น การ์ตูน เกม ละครโทรทัศน์ ดนตรี การแสดง ฯลฯ


 เกาหลีใต้มองเห็นว่า ภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจจะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคมของประเทศต่างๆ ทั้งทัศนคติ วิถีชีวิต และระบบชนชั้นทางสังคม เกาหลีคาดการณ์ว่าทุกประเทศจะมีการขยายตัวของชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น ซึ่งชนชั้นกลางรุ่นใหม่นี้คือกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญของกระแสเกาหลี เพราะชนชั้นกลางไม่สามารถเข้าถึงวัฒนธรรมขั้นสูง ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็นิยมแสวงหาสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ให้แก่ชีวิต ไม่ติดยึดในสิ่งเก่าๆ เช่นคนรุ่นก่อน


 ดังนั้น ภาพและเรื่องราวของตัวละครในภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ ที่เป็นชนชั้นกลางรุ่นใหม่ มีความเป็นสมัยใหม่ ทั้งความคิดและการกระทำ แต่ก็แฝงไว้ด้วยกระแสวัตถุนิยม ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวันปัจจุบัน จึงเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมรุ่นใหม่ พอๆ กับคนที่มีอายุขึ้นมาหน่อย จะเพลิดเพลินกับภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาอิงประวัติศาสตร์เกาหลี ที่ถูกสร้างด้วยภูมิรู้และความสมจริง กระแสเกาหลีได้ก่อให้เกิดความนิยมในตัวดาราภาพยนตร์ ดาราละครโทรทัศน์และนักร้องนักแสดงเกาหลี ลุกลามไปทั่วโล


 ปัจจุบันนี้ ภาพยนตร์เกาหลีใต้ เป็น 1 ใน 10 ของอุตสาหกรรมหลักของประเทศ โดยมีมูลค่ารวมประมาณปีละ 193 ล้านดอลลาร์ และรายการโทรทัศน์เกาหลีสามารถนำเงินเข้าประเทศได้ถึง 16.2 ล้านดอลลาร์ ซึ่ง 96 เปอร์เซ็นต์เป็นละครโทรทัศน์ นอกจากนี้ยังเกิดผลพลอยได้แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศหลั่งไหลไปชมสถานที่ที่ถ่ายทำละครโทรทัศน์ เกิดเป็นตลาดท่องเที่ยวใหม่ที่เรียกว่า Drama Tour ทำรายได้ให้เกาหลีใต้อย่างเป็นกอบเป็นกำ


 นอกเหนือไปกว่านั้น เกาหลียังมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้วัฒนธรรมของตน ซึ่งขณะนี้เป็นที่รู้จักในอันดับ 8 ของวัฒนธรรมทั่วโลก ก้าวขึ้นสู่อันดับ 1 ในปี 2554 และจะดึงส่วนแบ่งภาพยนตร์เกาหลีในตลาดโลก ให้อยู่ในลำดับรองจากฮอลลีวู้ด


 เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสเกาหลี ได้นำไปสู่ความนิยมเกาหลี ทั้งในตัวผู้คนชาวเกาหลี สินค้าประเภทต่างๆ แฟชั่นการแต่งกาย อาหาร ภาษา รวมทั้งความสนใจในวัฒนธรรมเกาหลี และกลายเป็นค่านิยมของเยาวชนและคนรุ่นใหม่ทั่วโลก และก็คงต้องยอมรับว่า กระแสเกาหลีทั้งหลายทั้งปวงนั้นล้วนผ่านกระบวนการทางความคิดในการสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ มีการวางแผนอย่างรอบด้าน และได้รับการทุ่มเทสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนอย่างจริงจัง-ไทยกับเกาหลีใต้ต่างเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 มาพร้อมกัน แต่เกาหลีใต้สามารถ "ใช้วิกฤติเป็นโอกาส" ให้เกิดกระแสเกาหลีขึ้นมาได้จริง ขณะที่ของไทยเป็นได้แค่โวหารหรูๆ ที่ไม่มีการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม


และเห็นได้ชัดเจนว่าเกาหลีใต้สามารถทำความเข้าใจกับกระแสโลกาภิวัตน์ จนโลดลิ่วเหนือรวงคลื่น ขณะที่ไทยถูกคลื่นโลกาภิวัตน์โถมใส่จนล้มลุกคลุกคลานครั้งแล้วครั้งเล่า


 นี่กระมัง คือสิ่งที่เรียกว่า "วิสัยทัศน์" ที่เกาหลีค่อนข้างจะมีอยู่มากทีเดียว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์