ยาเหลือใช้...ภัยเงียบสุขภาพ ที่ไม่ควรมองข้าม

ยาเหลือใช้...ภัยเงียบสุขภาพ ที่ไม่ควรมองข้าม




          ภัยจากการใช้ยา ยังคงมีให้เห็นกันอยู่  บ่อย ๆ บางรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการใช้ยาไม่ถูกวิธีและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ป่วย นอกจากนี้อันตรายจาก “ยาเหลือใช้” ก็เป็นอีกหนึ่งภัยเงียบต่อสุขภาพที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม
   
เพื่อให้คนไทยตระหนักถึงอันตรายและผลกระทบจากยาเหลือใช้ สภาเภสัชกรรม ร่วมกับ เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) และสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) จัดโครงการสัปดาห์เภสัช ประจำปี 2553 ระหว่างวันที่ 26 มิ.ย.-2 ก.ค. 2553 รณรงค์ลดยาเหลือใช้ในครอบครัว ภายใต้คำขวัญ “รอบรู้เรื่องยา ปรึกษาเภสัชฯ ลดยาเหลือใช้ ปลอดภัย ปลอดโรค” เพื่อลดปัญหาสุขภาพซ่อนเร้นของระบบสุขภาพไทย เพราะการใช้ยาไม่ถูกต้อง ซ้ำซ้อน หรือเสื่อมคุณภาพ อันอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
   
ยาเหลือใช้
หมายถึงยาที่ไม่ได้ใช้แล้ว ซึ่งอาจเป็นเพราะแพทย์เปลี่ยนยา หรือ ได้ยามาจากหลายโรงพยาบาลแล้วใช้ไม่ถูก หรือเป็นยาที่รักษาอาการอย่างเดียวกัน เลยไม่ได้ใช้ หรือ หยุดใช้ยาเพราะหายดีแล้วหรือเกิดอาการข้างเคียง หรือปรับลดขนาดยาลงเอง หรือเป็นยาที่เหลืออยู่หลังจากผู้ป่วยเสียชีวิต เป็นต้น ซึ่งการที่มียาเหลือใช้อยู่ในบ้าน นับเป็นความเสี่ยงใกล้ตัว ยิ่งถ้าเก็บไม่ถูกวิธี จะกลายเป็นยาเสีย ยาที่มีคุณอนันต์ ก็อาจทำให้เกิดโทษมหันต์ได้ โดยเฉพาะถ้ามีเด็กเล็กในบ้านความเสี่ยงยิ่งทวีคูณ เพราะเด็กอาจจะเอายานั้นใส่ปากโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ปัญหายาเหลือใช้ในครัวเรือน จึงไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นภัยเงียบต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วยอีกด้วย  โดยเฉพาะหากมีการนำยาเหลือใช้ไปให้ผู้อื่นใช้ต่อ  เพราะคนอื่นอาจแพ้ยาตัวนั้นเกิดปัญหาตามมาอีก

ผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นจากการใช้ยา  เหลือใช้
   
ข้อมูลจาก เภสัช  กรหญิงวุฒิรัต ธรรมวุฒิ สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) เปิดเผยถึง ผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาเหลือใช้ว่า บ่อยครั้งที่ประชาชนใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยแล้วยานั้น ๆ เหลือใช้ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น
   
* หากเราใช้ยาเหลือใช้ที่หมดอายุ หรือยาที่เสื่อมสภาพ จะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ อาทิ การใช้ยาฆ่าเชื้อเตตร้าซัยคลินที่หมดอายุ จะทำให้เกิดภาวะไตวายได้
   
*การใช้ยาที่ไม่มีฉลากยาหรือมีฉลากยาไม่ครบถ้วน (อาทิไม่มีชื่อยา และวิธีใช้ยา) จะ ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอย่างไม่สามารถคาดคะเนได้  เช่น การนำยาเดิมที่เคยแพ้มาก่อนกลับมาใช้ซ้ำ เพราะว่ายานั้นไม่มีฉลากยาติดอยู่ ก็จะทำให้เกิดการแพ้ยาซ้ำขึ้นอีก และมีอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพได้ ดังนั้น เราควรสังเกตให้ดีว่ายาชนิดนั้น ๆ ยังสามารถใช้ต่อไปได้หรือไม่ และอ่านฉลากยาอย่างละเอียด
   
*นอกจากนี้ ในกรณีผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อรังและมีโรคประจำตัวหลาย ๆ โรค เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ ซึ่งมียาที่ต้องรับประทานเป็นประจำหลายรายการ ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่อยากรับประทานยา หรือเข้าใจผิดว่าจะรับประทานยาก็ต่อเมื่อมีอาการ เท่านั้น เช่น
   
-ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงจะรับประทานยาลดความดันโลหิตเมื่อมีอาการวิงเวียน หรือวัดความดันโลหิตด้วยตัวเองแล้วพบว่ามีค่าสูง
   
-ผู้ป่วยเบาหวาน จะรับประทานยาลดน้ำตาลในเลือดเมื่อรับประทานอาหารที่เป็นของหวาน ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมความดันโลหิต/ระดับน้ำตาลในเลือดได้ อาจทำให้ต้องมีการเปลี่ยนยา/เพิ่มยา หรืออาจต้องเปลี่ยนมาใช้ยาฉีดอินซูลินในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งมีรูปแบบการใช้ยาที่ยากขึ้นและเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น และอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น อาการชาบริเวณปลายมือ ปลายเท้า ตามัว ไตเสื่อม ในผู้ป่วยเบาหวานที่คุมน้ำตาลในเลือดไม่ได้ เป็นต้น
   
*อีกประเด็นหนึ่งที่พบได้บ่อยคือ การ รับประทานยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะไม่ครบกำหนดตามที่แพทย์สั่ง (5-7 วัน) คนส่วนใหญ่มักจะหยุดรับประทานยาเมื่ออาการเจ็บป่วยหาย ไป แต่ในความจริงแล้วจำเป็นที่จะต้องรับประทานยาให้ครบแผนการรักษา เพื่อกำจัดเชื้อได้อย่างสมบูรณ์และป้องกันการดื้อยาของเชื้อโรค

สำหรับข้อแนะนำที่ทำอย่างไรจะไม่ให้มียาเหลือใช้ในบ้าน ทำได้ดังนี้
   
*อ่านฉลากให้ถี่ถ้วนก่อนใช้ยา ควรอ่านให้เข้าใจว่าใช้อย่างไร ต้องใช้ต่อเนื่องจนยาหมดหรือไม่ หรือใช้นานเท่าใด ยาบางชนิด เช่นยาปฏิชีวนะ ต้องกินติดต่อกันจนหมด เพื่อให้ได้ผลในการรักษา หรือยาหยอดตา เมื่อเปิดใช้แล้วเกิน 1 เดือน ให้ทิ้งไป เป็นต้น ถ้าปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลาก จะช่วยลด ยาเหลือใช้
   
*นำยาที่เหลืออยู่ไปพบแพทย์ตามนัด หากท่านมีโรคประจำตัวหรือโรคที่ต้องใช้ยาต่อเนื่อง และต้องไปพบแพทย์ตามนัด อย่าลืมนำยาที่เหลืออยู่ไปด้วยทุกครั้งที่ไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ทราบถึงจำนวนยาที่เหลืออยู่ และสั่งจ่ายยาตามจำนวนที่หักยาเดิมให้พอถึงวันนัดครั้งต่อไป แทนที่จะสั่งยาให้ตามจำนวนวัน ซึ่งทำให้มียาเดิมเหลือค้างอยู่จำนวนหนึ่ง หากแพทย์มีการเปลี่ยนยาให้ใหม่ และท่านใช้ร่วมไปกับยาเดิม จะทำให้ได้รับยามากเกินไปจนอาจเป็นอันตราย แต่ถ้าท่านไม่ใช้ ยาเดิมนั้นก็จะเป็น ยาเหลือใช้
   
*ไม่ควรซื้อยาบรรเทาอาการคราวละมาก ๆ ยาบรรเทาอาการ เช่น ลดไข้ แก้ปวดศีรษะ แก้หวัด หลังจากหายแล้วถ้าเหลืออยู่ จะกลายเป็น ยาเหลือใช้
สิ่งที่ไม่ควรทำ
   
*อย่านำยาเหลือใช้ไปให้คนอื่นใช้ ขณะเดียวกันก็อย่ากินยาที่คนอื่นให้มา เพราะอาการคล้ายกันแต่อาจไม่ใช่โรคเดียวกัน ขนาดยาก็อาจไม่เหมาะสม และอาจเกิดอาการแพ้ยาได้อีกด้วย
   
*อย่านำยาเหลือใช้มารวมในซองยา หรือขวดยาเดียวกัน
   
*อย่าแกะยาออกจากแผงหากยังไม่ใช้
   
*อย่าเก็บยาในตู้เย็น ยกเว้นยาที่มีฉลากระบุไว้
   
*อย่าเก็บยาในรถที่จอดทิ้งไว้เพราะความร้อนจะทำให้ยาเสื่อม
   
*อย่าหยุดยาเอง เพราะแพทย์จะเข้าใจผิดว่าอาการที่เลวลงเป็นเพราะโรค แล้วเพิ่มยาให้อีก
   
*อย่าซื้อยากินเองโดยไม่ปรึกษาเภสัชกร เพราะถ้าได้รับยาจำนวนมากจากสถานพยาบาลแล้วอาจได้รับยาซ้ำซ้อน
   
หากปฏิบัติได้ดังที่กล่าวมา ท่านก็จะปลอดภัย ปลอดโรคจากการใช้ยา อีกทั้งยังช่วยลดยาเหลือใช้ในครัวเรือน และช่วยชาติประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยาอีกด้วย 
   
ข้อมูลจาก เภสัชกร รองศาสตราจารย์ธิดา นิงสานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม.

นายแพทย์สุรพงศ์  อำพันวงษ์


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์