ดื่มแอลกอฮอล์แค่ไหนที่เรียกว่าดื่มเพื่อสุขภาพ



“ให้เหล้า เท่ากับแช่ง”
นี่เป็นสโลแกนที่คณะกรรมการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ(สสส.)ใช้ในการโฆษณาทางโทรทัศน์ช่วงที่ผ่านมาครับ ผลของการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากนั้นทราบกันดีว่าเป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยเฉพาะผลต่อตับและสมอง รวมถึงการเกิดอุบัติเหตุด้วย แต่ก็มีคนไข้หลายคนที่ถามหมอว่า ขอดื่มสักนิดหนึ่งจะได้ไหม คำตอบของหมอ ก็คือ “ได้ครับ” แต่ดื่มได้ปริมาณแค่ไหน นั้นต้องพิจารณาว่าสุขภาพของเราเป็นเช่นไรมีโรคประจำตัวอะไรหรือไม่ แอลกอฮอล์ที่ดื่มนั้นเป็นชนิดไหน เช่น ไวน์ วิสกี้ หรือเบียร์


ดื่มแอลกอฮอล์แค่ไหนที่เรียกว่าดื่มเพื่อสุขภาพ


               ถ้าใครมีปัญหาเรื่องการทำงานของตับผิดปกติเป็นโรคตับเรื้อรัง หรือเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบ หมอก็คงต้องบอกว่า ไม่คุ้มเลยกับความสนุกชั่วครู่ในการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะนั่นจะยิ่งทำให้ตับของเรามีปัญหามากขึ้นไปอีก

           ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องสมองหรือระบบประสาท เช่น เคยประสบอุบัติเหตุได้รับกระทบกระเทือนทางสมอง เคยผ่าตัดกะโหลกศีรษะ เป็นโรคลมชัก ก็ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เช่นกัน เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้อาการแสดงทางระบบประสาทเป็นมากขึ้น

           คนที่ตรวจพบว่ามีไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) ในกระแสเลือดสูงก็ควรจะหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยเช่นกัน เพราะเสี่ยงต่อการอักเสบของตับอ่อน(pancreas)

           และแน่นอนครับ สำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูง การดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เพราะกระตุ้นให้หัวใจบีบตัวแรงขึ้น ส่วนคนที่เป็นเบาหวาน แอลกอฮอล์ก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะแอลกอฮอล์ไปขัดขวางกระบวนการเมตาบอลิสซึมของน้ำตาล และในแอลกอฮอล์บางชนิดเช่น ไวน์ เบียร์ ก็ยังมีน้ำตาลอยู่ด้วย

           หมออาจจะสรุปได้ว่าคนที่มีโรคประจำตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงโรคที่ไม่ได้กล่าวถึงข้างต้นด้วย มีเหตุผลอธิบายได้ ซึ่งท่านสามารถถามจากแพทย์ประจำตัวได้ และคนที่จำเป็นต้องรับประทานยาไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เนื่องจากปฏิกกริยา ระหว่างยากับแอลกอฮอล์จะให้ผลที่ไม่พึงประสงค์ ดังที่เราเคยได้ทราบข่าวเรื่องมีผู้เสียชีวิตจากการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับใช้ยานอนหลับ หรือพบผู้ป่วยตับอักเสบจากการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับการใช้ยาฆ่าเชื้อโรค 

           แต่สำหรับคนที่ไม่มีโรคประจำตัวอาจจะดื่มแอลกอฮอล์ได้ในปริมาณเล็กน้อยต่อวัน ซึ่งมีการวิจัยหลายการวิจัยในช่วงสิบปีที่ผ่านมาที่ระบุว่า ถ้าดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่กำหนดนั้น เป็นผลดีต่อร่างกายในการลดไขมันคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีที่ชื่อ LDL-Cholesterol ซึ่งไขมันชนิดนี้มักจะทำให้หลอดเลือดมีภาวะอุดตัน

ดื่มแอลกอฮอล์แค่ไหนที่เรียกว่าดื่มเพื่อสุขภาพ


จึงมีการกำหนดปริมาตรการดื่มที่เรียกว่า standard drink สำหรับแอลกอฮอล์แต่ละประเภท ดังนี้

           - วิสกี้หรือสุราที่มีแอลกอฮอล์ 40 ดีกรี 1 standard drink คือ 43 ซีซี หรือประมาณ 1.5 ออนซ์
           - เบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ 5 เปอร์เซ็นต์ 1 standard drink คือ 341 ซีซี หรือ 12 ออนซ์ (ประมาณ 1 กระป๋องเล็ก) แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า เบียร์ในเมืองไทยนั้นมีความเข้มข้นสูงกว่าที่ระบุไว้คือประมาณ 6-10 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นปริมาตรเบียร์ 1 standard drink สำหรับบ้านเราคือประมาณน้อยกว่า 1 กระป๋องนั่นเอง
           - ไวน์ ที่เป็น table wine ซึ่งมีแอลกอฮอล์ประมาณ 8-12 เปอร์เซ็นต์นั้น กำหนดให้ 1 standard drink เท่ากับ ประมาณ 142 ซีซีหรือ 5 ออนซ์ ในขณะที่ fortified wine ไวน์หวาน หรือ port wine ซึ่งมีแอลกกอฮอล์ถึง 18 เปอร์เซ็นต์ 1 standard drink เท่ากับ 85 ซีซี หรือ 3 ออนซ์

           สำหรับเพศชายนั้นไม่ควรดื่มเกิน 2 standard drinks ในขณะที่เพศหญิงไม่ควรดื่มเกิน 1 standard drink โดยที่ใน 1 สัปดาห์ไม่ควรดื่มเกิน 3-4 ครั้ง, ไม่ควรดื่มต่อเนื่องกันทุกวัน และควรเป็นการจิบระหว่างการรับประทานอาหารมื้อใหญ่

          
อย่างไรก็ตาม หมอเองยังคงมีความเห็นว่าไม่ดื่มย่อมดีกว่า เพราะเมื่อเริ่มต้นดื่มแล้ว ความสารมารถในการควบคุมตัวเองจะลดลงทำให้การควบคุมปริมาณการบริโภคไม่ให้ เกินที่กำหนดนั้นเป็นเรื่องยากและต้องไม่ลืมว่าหากต้องขับขี่ยานพาหนะการไม่ดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นความรับผิดชอบต่อชีวิตของตนเองและต่อสังคมด้วยนะครับ.



ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จากรพ. สมิติเวช
บทความจากวิชาการดอทคอม

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์