เมื่อลูกผิดให้เหตุผล ภารกิจพ่อแม่ยังไม่จบ!

เมื่อลูกผิดให้เหตุผล ภารกิจพ่อแม่ยังไม่จบ!



คนรุ่นก่อนเลี้ยงลูกด้วยไม้เรียว มาถึงพ่อแม่ยุคใหม่หันมาเลี้ยงลูกด้วยการรับฟังเหตุผลมากขึ้น แต่แท้จริงแล้ว การยุติปัญหาควรจบลงที่ "เหตุผลของลูก" เท่านั้นหรือ

อาจารย์ศิริพร สุวรรณเทศ นักสังคม สงเคราะห์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น (www.love4home.com) เขียนบทความเรื่อง "เลี้ยงลูกด้วยเหตุผลอย่างเดียวไม่พอ" ไว้ในวารสาร "สารพินิจ" ฉบับล่าสุด มีมุมมองที่น่าสนใจไว้ดังนี้

"ผู้ใหญ่พูดห้ามเถียง เวลาผู้ใหญ่นั่งจะส่งของให้ไม่ควรยืนค้ำศีรษะ เด็กดีต้องอ่อนน้อมและเชื่อฟังผู้ใหญ่

หรือเมื่อตอนพ่อแม่เป็นเด็ก จำได้ว่า ถ้าทำผิดไม่ว่ากรณีใดๆ จะถูกลงโทษโดยการตีทุกครั้ง ซึ่งพ่อแม่จะเรียนรู้ว่าการลงโทษแบบนี้ ทำให้จำได้ว่าไม่ควรทำผิดและทำให้เป็นคนดีได้

แต่จะมีพ่อแม่บางคนที่มีรอยบาดแผลทางใจฝังรอยแน่นอยู่ภายใต้จิตใจ จะมีพฤติกรรมการเลี้ยงลูกตรงข้ามกับเหตุการณ์หรือบาดแผลทางใจที่ตนได้รับมา เช่น ในวัยเด็กเคยถูกห้ามโดยกฎข้อบังคับต่างๆ ทำให้ตนเองสะสมคับแค้นมาก พอมีลูกก็จะปล่อยให้อิสระแก่ลูกเต็มที่ หรือในชีวิตมีแต่ความอดอยาก อยากได้ของเล่นสักชิ้นก็ไม่เคยได้ พอตนเองมีลูกก็จะปรนเปรอ ซื้อของเล่นนานาชนิดมาให้ลูก บางครั้งลูกไม่ได้เรียกร้องในสิ่งนี้ แต่จากการที่ตนเองเคยอยากได้จึงคิดว่าลูกต้องอยากได้

แนะอย่าเพิ่ง"จบเรื่อง"

เพียงแค่"เหตุผลของลูก"


ทุกวันนี้การเลี้ยงดูลูกเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากพ่อแม่เริ่มมีการศึกษามากขึ้น หลายๆ ครอบครัวจะเปิดตำราเป็นเครื่องมือช่วยเลี้ยงลูก และอีกหลายๆ ครอบครัวจะเลี้ยงลูกจากตำราที่ตนเคยศึกษามา หรือเลี้ยงลูกตามผลการศึกษาวิจัยที่ผู้ศึกษาสรุปไว้ ซึ่งตารางและผลการศึกษาวิจัยต่างๆ นั้น มีการสอนที่ดีและถูกต้อง แต่ผู้นำมาใช้จะมีความสามารถนำมาใช้ได้ถูกต้องครบถ้วนอย่างไรนั้นเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึง

ไม่ว่ายุคใด สมัยใด การเลี้ยงลูกจะมีเป้าหมายเหมือนกันคือ ต้องการให้ลูกเป็นคนดี สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ มีอาชีพพึ่งตนเองได้ สุดท้ายพ่อแม่พึ่งได้ แม้ในยุคปัจจุบันจะมีเป้าหมายการเลี้ยงดูที่เหมือนๆ กันดังกล่าว แต่วิธีการเลี้ยงดูที่ทำให้ผลของการเลี้ยงดูปรากฏออกมาพิจารณาแล้วว่า น่าจะเป็นพฤติกรรมของเด็กที่เป็นปัญหา อันมาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ซึ่งจะมีตำราและมีบทความมากมายที่เขียนสนับสนุนว่าการเลี้ยงดูลูกนั้นควรเลี้ยงลูกแบบมีเหตุผล จะทำให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและรู้จักคิด พ่อแม่จึงเลี้ยงลูกแบบมีเหตุผล พูดคุยและสอนลูกให้มีเหตุผลตั้งแต่เด็กเริ่มรู้ความและจะสอนมาตลอดว่าก็หนูทำอะไรลงไป หนูจะต้องบอกเหตุผลได้ว่าเพราะอะไร ทำไมจึงทำเช่นนั้น

เมื่อลูกบอกแล้วว่าเขามีเหตุผลที่ทำไปเช่นนั้นอย่างไร พ่อแม่จะรับทราบในเหตุผลของลูก และยอมจำนนต่อเหตุผลนั้นทันที เนื่องจากลูกบอกเหตุผลตามที่ตนเคยสอนไว้ โดยที่ไม่ได้คิดต่อไปว่าเหตุผลที่ลูกบอกนั้นถูกต้องและเหมาะสม ผิดหรือถูกอย่างไร เนื่องจากผู้เป็นพ่อแม่เคารพในสิทธิของลูกมากจนเกินไป จึงต้องยอมรับและรับทราบในเหตุผลของลูกตามที่ตนเองสอนไว้เช่นนั้น

ในสิ่งเหล่านี้ ผู้เป็นพ่อแม่จึงไม่มีการชี้แจงให้ลูกได้รับทราบว่าเหตุผลที่ลูกบอกนั้นผิดหรือถูกอย่างไร พ่อแม่จะรับทราบและยอมรับเหตุผลที่ลูกบอกเพียงอย่างเดียว เช่น ลูกเล่นลิปสติกแท่งใหม่ราคาแพงของแม่ แม่จะดุไม่ให้ลูกเล่น ลูกจะบอกเหตุผลว่าลูกอยากสวยเหมือนแม่ แม่จึงหยุดคิดว่า อ๋อ! นี่คือเหตุผลของลูก ลูกอยากสวย ลูกจึงเล่นลิปสติก แม่จึงไม่ดุ ไม่ห้ามปราม

เหตุผลไม่ขัดกฎเกณฑ์สังคม

เคารพสิทธิส่วนตนและผู้อื่น


กรณีดังกล่าวนี้ เด็กได้กระทำพฤติกรรมที่ล่วงเกินสิ่งของของผู้อื่นโดยไม่ขออนุญาต ซึ่งเป็นมารยาทที่ไม่สมควรกระทำ ผู้เป็นแม่ควรสอนลูกว่า "แม่เข้าใจว่าหนูนั้นอยากสวย แต่หนูจะเล่นลิปสติกของแม่ หนูควรจะมาขออนุญาตแม่ก่อน ถ้าแม่อนุญาตแล้วหนูจึงจะเล่นได้ หนูจะไปหยิบของของคนอื่นมาเล่นเช่นนี้ไม่ได้นะคะ" ถ้าแม่บอกและอธิบายเพิ่มเติมจากเหตุผลที่ลูกให้แล้ว ลูกจะเกิดการเรียนรู้ว่าการจะไปหยิบของของคนอื่นต้องบอกหรือขออนุญาตเจ้าของก่อน

ในกรณีที่พ่อแม่ยอมจำนนต่อเหตุผลแล้วยุติการชี้แจงหรือการสอนที่ถูกต้อง เมื่อลูกออกไปสู่สังคมนอกบ้าน เช่น โรงเรียน ลูกได้กระทำในสิ่งที่สังคมหรือคนอื่นๆ ยอมรับในเหตุผลของเขาไม่ได้ ความยุ่งยาก ความไม่เข้าใจ การให้อภัยจะไม่มี จะเกิดเป็นความขัดแย้งต่างๆ มากมาย เช่น ในกรณีเด็กคนหนึ่งปีนขึ้นไปบนหลังคารถยนต์ของครูแล้วไถตัวลงมา ครูเรียกมาทำโทษ เด็กไม่พอใจไปฟ้องพ่อ บอกความต้องการของตนเองว่า อยากเล่นเป็นไม้ลื่น พ่อฟังเหตุผลของลูกแล้วเข้าใจลูกจึงไม่พอใจครู กล่าวหาว่าครูมีอคติกับลูก ลูกมีเหตุผลของเขาว่าต้องการเล่นไม้ลื่น จึงไปไถตัวกับรถยนต์ของครู พ่อแม่ไปจ่ายค่าเสียหายให้ครู เด็กคนนี้จะมีปัญหากับเพื่อนบ่อยๆ ครูต้องเป็นผู้ตัดสิน เด็กมองครูว่าไม่ยุติธรรม ไม่ฟังเหตุผลของเขา

การเลี้ยงลูกด้วยเหตุผลเป็นสิ่งที่ดี แต่การมีเหตุผลไม่ใช่จะต้องยุติตรงที่ลูกบอกเหตุผลแล้วพ่อแม่รับทราบ โดยไม่พิจารณาต่อไปว่าเหตุผลนั้นถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของสังคมหรือไม่ เมื่อพ่อแม่ไม่ได้พิจารณาในจุดนี้แล้วก็จะไม่มีโอกาสสอนลูกให้รู้จักความถูกต้องตามสมควร ตามสิทธิส่วนตน และตามสิทธิของผู้อื่น

หลักง่ายๆ ของการสอนลูกคือ สอนให้ลูกรู้จักใช้เหตุผลของตนเองโดยเหตุผลที่เขากระทำไปนั้นจะต้องไม่ทำให้ของเสียหาย หรือทำลายของ และต้องไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน"

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์