รำลึก 100 ปี พระปิยะมหาราช

รำลึก 100 ปี พระปิยะมหาราช


       วันที่ 23 ตุลาคม 2553 “วันปิยมหาราช” ปีนี้ เป็นปีที่พิเศษ เพราะเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตครบรอบ 100 ปี

 ซึ่งรัฐบาลได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อประเทศอย่างมากมาย พระองค์ท่านได้สร้างสรรค์ปฏิรูปประเทศไทยในทุก ๆ ด้าน ให้มีความเจริญทัดเทียมอารยประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเรื่องไฟฟ้า ประปา รถไฟ ไปรษณีย์ โทรศัพท์ การชลประทาน การเมืองการปกครอง และการก่อสร้างถนนต่าง ๆ เพื่อให้การคมนาคมมีความสะดวกสบายก็เกิดขึ้นในสมัยพระองค์ท่าน โดยเฉพาะเรื่องการเลิกทาส ที่ประชาชนจดจำรำลึกได้เป็นอย่างดี
       
อีกเรื่องที่สำคัญที่ประชาชนคนไทยทุกคนรำลึกได้ตลอดเวลา ก็คือประเทศในแถบยุโรปหลายประเทศต่างล่าอาณานิคมประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศรอบ ๆ ของไทยนั้นได้ถูกประเทศอังกฤษ และฝรั่งเศสยึดเป็นอาณานิคมของประเทศตน ยกเว้นประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่รอดพ้นจากการล่าอาณานิคมของชาติฝรั่งตะวันตก ก็ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านในการใช้กุศโลบายทางการเมืองระหว่างประเทศ พระมหากรุณาธิคุณนานัปการ ของพระองค์ท่านนั้น ประชาชนรุ่นต่อรุ่นได้รำลึกถึงพระองค์ท่านอยู่ตลอดเวลาจนถึงปัจจุบันนี้ไม่เสื่อมคลายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
       
          นอกจากทุก ๆ บ้านทั่วประเทศไทยจะมีพระบรมฉายาลักษณ์และพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันนี้แล้ว บางบ้านอีกจำนวนมากก็มีพระบรมฉายาลักษณ์ และพระบรมสาทิสลักษณ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ติดบนผนังบ้าน หรืออยู่บนโต๊ะบูชา และอนุสาวรีย์ของพระองค์ท่านตามสถานที่ต่าง ๆ ก็มีประชาชนจำนวนมากมากราบไหว้บูชาขอพรกันอย่างเนืองแน่น ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่าพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ที่ทรงให้แก่ประชาชนและประเทศชาติอยู่ในหัวใจของทุกคน เพราะประชาชนที่รำลึกบูชาเป็นประจำเชื่อว่าบารมีของพระองค์ท่าน จะทำให้ชีวิตมีความสุขสมหวังตามที่คาดหวังไว้
       
การปฏิรูปประเทศตามโลกในสมัยพระองค์ท่าน ก็เป็นรากฐานในการพัฒนาและปฏิรูปประเทศในปัจจุบันนี้ แต่การพัฒนาบางสิ่งบางอย่างของไทยเดินหน้าช้าไปกว่าประเทศในแถบเอเชียบางประเทศที่เริ่มปฏิรูปพร้อม ๆ กับประเทศไทย ซึ่งอุปสรรคที่ขวางการพัฒนาประเทศไม่ทัดเทียมประเทศอื่น ๆ นั้น พรรคการเมืองต่าง ๆ ที่อาสาประชาชนเข้ามาบริหารประเทศชาติจะต้องศึกษาบทเรียนที่ผ่านมาว่ามีปัญหาอุปสรรคที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไรบ้าง เพื่อให้การพัฒนาประเทศเดินหน้าไปได้ถูกทิศทาง โดยให้วันรำลึก 100 ปีสวรรคตของพระองค์ท่านเป็นวันเริ่มต้นพัฒนาประเทศชาติอย่างจริงจังก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีทีเดียว.


รำลึก 100 ปี พระปิยะมหาราช


“วันปิยมหาราช”  23 ตุลาคม

ความเป็นมา        

      ๒๓ ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทุกปีจะมีการวางพวงมาลาดอกไม้ที่พระบรมรูปทรงม้า เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงประชวรเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต ครั้นนั้นเป็นที่เศร้าสลดอย่างใหญ่หลวงของพระบรมวงศานุวงศ์และปวงชนทั่วประเทศ เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่เคารพรักของทวยราษฎร์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการทั้งในการปกครองบ้านเมืองและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชนทุกหมู่เหล่า ทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงได้ถวายพระนามว่า พระปิยมหาราช หรือพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพตามราชประเพณีแล้ว ครั้งเมื่อบรรจบอภิลักขิตสมัยคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ผู้สืบราชสันตติวงศ์ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายตามราชประเพณี โดยเชิญพระโกศพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวออกประดิษฐานบนพระแท่นนพปฎลมหา-เศวตฉัตร และเชิญพระพุทธรูปปางประจำพระชนมวารประดิษฐาน ณ โต๊ะหมู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท หรือพระที่นั่งอนันตสมาคมส่วนที่พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระลานพระราชวังดุสิต หน้าที่นั่งอนันตสมาคม ที่เรียกว่าพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณได้ร่วมใจกันรวบรวมเงินจัดสร้างประดิษฐานขึ้นน้อมเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะที่ทรงพระชนม์อยู่เนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงครองราชย์ยั่งยืนนานถึง ๔๐ ปี และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายนพ.ศ. ๒๔๕๑ นั้น
          ต่อมาทางราชการได้ประกาศให้วันที่ ๒๓ ตุลาคมซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติเรียกว่า วันปิยมหาราช และกำหนดให้หยุดราชการวันหนึ่งในวันปิยมหาราช เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยซึ่งต่อมาเป็น กรุงเทพมหานคร ร่วมด้วยกระทรวงวัง ซึ่งต่อมาเป็นสำนักพระราชวัง ได้จัดตกแต่งพระบรมราชานุสาวรีย์ ตั้งราชวัติ ฉัตร ๕ ชั้น ประดับโคม ไฟ ราวเทียม กระถางธูป ทอดเครื่องราชสักการะที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
          พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันปิยมหาราชครั้งแรก คือ ถัดจากปีที่ได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายแล้ว ได้เสด็จฯไปถวายพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์  



พระราชประวัติ


รำลึก 100 ปี พระปิยะมหาราช


สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์



         
พระบาทสมเด็จพระปริมทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า "สมเด็จเจ้าฬ้าชายจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหากุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตรสิริวัฒนราชกุมาร" เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๙ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี พระบรมราชสมภพเมื่อวันอังคารที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๙๖
          ทรงได้รับการศึกษาขั้นแรกจากสำนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๓ ผู้ทรงรอบรู้ด้านอักษรศาสตร์ และโบราณราชประเพณีอย่างดียิ่ง นอกจากนั้นทรงศึกษาภาษามคธกับพระปริยัติธรรมธาดา(เนียม) เมื่อเป็นหลวงราชาภิรมย์ กรมราชบัณฑิต ทรงศึกษาวิชาการยิ่งปืนไฟจากสำนัก พระยาอภัยศรเพลิง(ศรี) ทรงศึกษาวิชาคชกรรมกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ และวิชาอื่นๆ อันสมควรแก่บรมราชกุมาร
          นอกจากนี้ ได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษ จากชาวต่างประเทศโดยตรง คือ นางแอนนาเลียวโนแวนส์ ครูสตรีชาวอังกฤษ ต่อมาทรงศึกษากับหมอจันดเล ชาวอเมริกัน และ เมื่อเสวยราชสมบัติแล้ว พุทธศักราช ๒๔๑๖ ได้ทรงศึกษา ได้ทรงศึกษากับครูชาวอังกฤษ ชื่อฟรานซิส ยอร์จ แพตเตอสัน ต่อมาก็ทรงพระอุตสาหะศึกษาด้วยพระองค์เองจนมี ความรู้ภาษาอังกฤษอย่างแตกฉาน
          ในด้านวิชารัฐศาสตร์ ราชประเพณีและโบราณคดีนั้น สมเด็จพระบรมชนกนาถเป็นผู้พระราชทานการฝึกสอนด้วยพระองค์เองตลอดมา
          หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๑๑ เหล่าเสนาบดีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พร้อมใจกันอัญเชิญสมเด็จ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ ขึ้นเถลิงราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์


รำลึก 100 ปี พระปิยะมหาราช


พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๑


 พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๑๑ ขณะนั้นทรงพระชนมายุเพียง ๑๔ พรรษา สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งขณะมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ รับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ระหว่างนั้นพระองค์ได้เสด็จประพาสต่างประเทศ คือ อินเดีย และชวา เพื่อทอดพระเนตรวิทยาการสมัยใหม่ที่ ประเทศทางตะวันตกนำมาเผยแพร่เพื่อนำเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศต่อไป

รำลึก 100 ปี พระปิยะมหาราช


พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๒



      เมื่อพระชนมายุบรรลุพระราชนิติภาวะ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ แล้วจึงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๑๖ และนับจากนั้นมาก็ทรงพระราชอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงปกครองทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้มั่นคั่งสมบูรณ์ ดัวยรัฐสมบัติ พิทักษ์พสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข บำบัดภัยอันตรายทั้งภายในภายนอกประเทศ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์และสามารถธำรงเอกราชไว้ตราบจนทุกวันนี้

___________________________________

อ้างอิง
คณะกรรมการสวัสดิการ สำนักนายกรัฐมนตรี. ๒๕๔๖. เทิดพระเกียรติ ๑๕๐ ปี สมเด็จพระปิยมหาราช. กรุงเทพฯ. คณะกรรมการสวัสดิการ สำนักนายกรัฐมนตรี.
สุภักดิ์ อนุกูล. 2530. วันสำคัญของไทย.กุรงเทพฯ. อักษรบัณฑิต.
 
ภาพประกอบ
คณะกรรมการสวัสดิการ สำนักนายกรัฐมนตรี. ๒๕๔๖. เทิดพระเกียรติ ๑๕๐ ปี สมเด็จพระปิยมหาราช. กรุงเทพฯ. คณะกรรมการสวัสดิการ สำนักนายกรัฐมนตรี.

รวบรวมข้อมูลโดย : งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด 
 


รำลึก 100 ปี พระปิยะมหาราช



พระราชกรณียกิจ


  • เลิกทาส
  • ด้านการปกครอง
  • การสาธารณูปโภค
  • การศึกษา
  • การปกป้องประเทศ
  • การเสด็จประพาส  

เลิกทาส


โปรดเกล้าฯให้ประกาศเลิกทาสในเมืองไทย
เลิกทาสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติทรงมีพระทัยแน่วแน่ว่าจะต้องเลิกทาสให้สำเร็จให้จงได้ แต่การที่พระองค์จะทรงทำการเลิกทาสถือว่าเป็นเรื่องยากลำบากด้วยทาสนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ อีกทั้งเจ้านายที่เป็นใหญ่ในสมัยนั้นมักมีข้ารับใช้เมื่อไม่มีทาสบุคคลเหล่านี้อาจจะไม่พอใจ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นเหมือนกับที่เกิดขึ้นในต่างประเทศมาแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตราพระราชบัญญัติทาส เรียกว่า พระราชบัญญัติทาส ร.ศ.124 ซึ่งเป็น พระราชบัญญัติที่ตราขึ้นเพื่อกำหนดเรื่องทาสในเรือนเบี้ยให้เป็นไปอย่างเด็ดขาด โดยกำหนดให้เด็กที่เกิดจากพ่อหรือแม่ที่เป็นทาส ไม่จำเป็นต้องเป็นทาสอีกต่อไป กฎหมายโบราณแบ่งทาสออกเป็น 7 ชนิด
        1. ทาสสินไถ่
        2. ทาสในเรือนเบี้ย
        3. ทาสได้มาแต่บิดามารดา
        4. ทาสท่านให้
        5. ทาสช่วยมาแต่ทัณฑ์โทษ
        6. ทาสที่เลี้ยงไว้เมื่อเกิดทุพภิกขภัย
        7. ทาสเชลยศึก
        ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน และได้ใช้เวลาเพียง 30 ปีเศษ ทาสในเมืองไทยก็หมดไปโดยมิเกิดการนองเลือด เหมือนกับประเทศอื่น ๆ เลย 


ด้านการปกครอง


ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราระเบียบการปกครองขึ้นใหม่ แยกหน่วยราชการออกเป็นกรมกองต่าง ๆ มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะไม่ก้าวก่ายกัน ได้แก่
1. กระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ดูแลบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือและเมืองลาวซึ่งเป็นประเทศราช
2. กระทรวงกลาโหม มีหน้าที่บังคับบัญชาหัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายตะวันออกและตะวันตก และเมืองมลายู
3. กระทรวงวัง มีหน้าที่ดูแลรักษาการต่าง ๆ ในพระบรมมหาราชวัง
4. กระทรวงการคลัง มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับการเก็บภาษีรายได้จากประชาชน
5. กระทรวงเกษตราธิการ มีหน้าที่ในการดูแลควบคุมการเพาะปลูก ค้าขาย ป่าไม้
6. กระทรวงนครบาล มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยภายในพระนคร
7. กระทรวงธรรมการ มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับกิจการของพระสงฆ์ และการศึกษา
8. กระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับคดีความที่ต้องตัดสินต่าง ๆ
9. กระทรวงโยธาธิการ มีหน้าที่ดูแลตรวจตราการก่อสร้าง การทำถนน ขุดลอกคูคลอง และงานที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง
10. กระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่ดูแลงานที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ


การสาธารณูปโภค
 
- การประปา ทรงให้กักเก็บน้ำจากแม่น้ำเชียงรากน้อย จ.ปทุมธานี และขุดคลองเพื่อส่งน้ำเข้ามายังสามเสน พร้อมทั้งฝังท่อเอกติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการทำน้ำประปาขึ้นในเดือน กรกฎาคม พ.ศ.2452
- การคมนาคม วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปขุดดินก่อพระฤกษ์เพื่อประเดิมการสร้างทางรถไฟไปนครราชสีมา แต่ทรงเปิดทางรถไฟกรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยาก่อน จึงนับว่าเส้นทางรถไฟสายนี้เป็นทางรถไฟแห่งแรกของไทย
- การสาธารณสุข เนื่องจากการรักษาแบบยากลางบ้านนี้ล้าสมัยไม่สามารถช่วยคนได้อย่างทันท่วงที จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างโรงพยาบาล ณ บริเวณริมคลองบางกอกน้อย และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 200 ชั่ง โรงพยาบาลแห่งนี้เปิดทำการรักษาประชาชนเป็นครั้งแรกเมื่อ 26 เมษายน พ.ศ.2431 และใช้ชื่อโรงพยาบาลว่า โรงพยาบาลวังหลัง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงพยาบาลศิริราช"
- การไฟฟ้า พระองค์ทรงมอบหมายให้ กรมหมื่นไวยวรนาถ เป็นแม่งานในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชนครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2433
 
 
การศึกษา


การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้ขยายการศึกษา ในปี พ.ศ.2414 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นภายในพระบรมมหาราชวังโดยมีท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นอาจารย์ใหญ่ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนอีกแห่งซึ่งสอนภาษาอังกฤษมีนาย ยอซ แปตเตอร์สัน เป็นอาจารย์ใหญ่ และโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างโรงเรียนหลวงอีกหลายแห่ง โรงเรียนหลวงแห่งแรกที่สร้างขึ้นในวัดคือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม ในปี พ.ศ.2427 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร เขียนตำราเรียนขึ้นมา เรียกว่า แบบเรียนหลวง 6 เล่ม คือ มูลบทบรรพกิจ วาห์นิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ พิศาลการันต์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าผู้หญิงก็สมควรที่จะได้รับความรู้เช่นเดียวกับผู้ชาย ในปี พ.ศ.2444 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนสตรีขึ้น โรงเรียนหลวงแห่งแรกที่ตั้งขึ้น คือ โรงเรียนบำรุงสตรีวิทยา การปกป้องประเทศ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ปรีชาสามารถอย่างสุดพระกำลังในการรักษาประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤติการณ์ ถึงแม้ว่าจะต้องสูญเสียดินแดนบางส่วนไปก็ตาม ดินแดนที่ต้องเสียให้กับต่างชาติ ได้แก่
- พ.ศ.2431 เสียดินแดนในแคว้นสิบสอบจุไทย
- พ.ศ.2436 เสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง
- พ.ศ.2447 เสียดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง
- พ.ศ.2449 เสียดินแดนที่เมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภรณ
 


การเสด็จประพาส


        พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดการเสด็จประพาสเป็นอย่างมาก แต่มิได้ไปเพื่อการสำราญพระราชหฤทัยส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสทั้งในประเทศและต่างประเทศ การเสด็จประพาสภายในประเทศทรงปลอมพระองค์เป็นสามัญชนบ้าง ปลอมเป็นขุนนางบ้าง ทรงกระทำเช่นนี้เพื่อเสด็จดูแลทุกข์สุขของประชาชนในหัวเมืองต่าง ๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2440 โดยมีหมายกำหนดการเดินทางออกจากประเทศไทยในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2441 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสยุโรปเป็นเวลานาน 9 เดือน เพื่อเชื่อมความสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ในยุโรป และในปี พ.ศ.2449 พระองค์ได้เสด็จประพาสยุโรปอีกเป็นครั้งที่ 2 การเสด็จประพาสครั้งนี้ นำความเจริญมาสู่บ้านเมืองอย่างมากมาย
        ในปี พ.ศ.2413 ทรงเสด็จประพาสประเทศเพื่อบ้านเป็นครั้งกรำ คือ ประเทศสิงคโปร์ ประเทศชวา 2 ครั้ง การเสด็จพระราชดำเนินประเทศเพื่อนบ้านนั้นด้วยทรงต้องการที่จะเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อบ้านในแถบอินโดจีน รวมถึงทรงต้องการเรียนรู้ระเบียบการปกครอง
        ในปี พ.ศ.2415 เสด็จเยือนประเทศอินเดีย และประเทศพม่า และได้รับการถวายพระบรมสารีริกธาตุและพันธุ์พระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยาอินเดียเพื่อนำกลับมาปลูกในประเทศไทย
        ในปี พ.ศ.2449 พระองค์ได้เสด็จประพาสยุโรปอีกเป็นครั้งที่ 2 การเสด็จประพาสครั้งนี้นำความเจริญมาสู่บ้านเมืองมากมาย ทั้งการสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำประปา รถไฟ รถราง การแพทย์ การศึกษา รวมถึงระเบียบแบบแผนการปกครองประเทศ สวรรคต
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีชนมพรรษา 58 พรรษา ในบั้นปลายพระชนมชีพทรงพระประชวร เนื่องจากทรงพระชราภาพและเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2453 นับว่าประเทศไทยได้สูญเสียพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงปล่อยทาสให้เป็นไท ทรงพัฒนาประเทศให้มีความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยประเทศจนเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติพระองค์ทรงอยู่ในราชสมบัติ 42 ปี ประชาชนชาวไทยต่างรักและอาลัยพระองค์มาก และพร้อมใจถวาย สมัญานามว่า "พระปิยมหาราช" ซึ่งมีความหมายว่า "พระราชาผู้ยิ่งใหญ่อันเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย"
 
 
 ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ


  • พ.ศ.2411 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ

  • พ.ศ.2412 ทรงโปรดเกล้าให้สร้าง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

  • พ.ศ.2413 เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา โปรดฯ ให้ยกเลิกการไว้ผมทรงมหาดไทย

  • พ.ศ.2415 ทรงปรับปรุงการทหารครั้งใหญ่ โปรดให้ใช้เสื้อราชปะแตน โปรดให้สร้างโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษแห่งแรกขึ้นในพระบรมหาราชวัง

  • พ.ศ.2416 ทรงออกผนวชตามโบราณราชประเพณี โปรดให้เลิกประเพณีหมอคลานในเวลาเข้าเฝ้า

  • พ.ศ.2417 โปรดให้สร้างสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ตั้งโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง และให้ใช้อัฐกระดาษแทนเหรียญทองแดง

  • พ.ศ.2424 เริ่มทดลองใช้โทรศัพท์ครั้งแรก เป็นสายระหว่างกรุงเทพฯ - สมุทรปราการสมโภชพระนครครบ 100 ปี มีการฉลอง 7 คืน 7 วัน

  • พ.ศ.2426 โปรดให้ตั้งกรมไปรษณีย์ เริ่มบริการไปรษณีย์ในพระนครตั้งกรมโทรเลข และเกิดสงครามปราบฮ่อครั้งที่ 2

  • พ.ศ.2427 โปรดฯให้ตั้งโรงเรียนราษฎร์ทั่วไปตามวัด โรงเรียนแห่งแรกคือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม

  • พ.ศ.2429 โปรดฯ ให้เลิกตำแหน่งมหาอุปราช ทรงประกาศตั้งตำแหน่งมกุฏราชกุมารขึ้นแทน

  • พ.ศ.2431 เสียดินแดนแคว้นสิบสองจุไทให้แก่ฝรั่งเศส การทดลองปกครองส่วนกลางใหม่ เปิดโรงพยาบาลศิริราชโปรดฯให้เลิกรัตนโกสินทร์ศก โดยใช้พุทธศักราชแทน 

  • พ.ศ.2434 ตั้งกระทรวงยุติธรรม ตั้งกรมรถไฟ เริ่มก่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ-นครราชสีมา

  • พ.ศ.2436 ทรงเปิดเดินรถไฟสายเอกชน ระหว่างกรุงเทพฯ-ปากน้ำ กำเนิดสภาอุนาโลมแดง (สภากาชาดไทย)

  • พ.ศ.2440 ทรงเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก

  • พ.ศ.2445 เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส

  • พ.ศ.2448 ตราพระราชบัญญัติยกเลิกการมีทาสโดยสิ้นเชิง

  • พ.ศ.2451 เปิดพระบรมรูปทรงม้า


  • พ.ศ.2453 เสด็จสวรรคต

รำลึก 100 ปี พระปิยะมหาราช


ขอบคุณข้อมูลจาก
-สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง
-หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
-วิกิพิเดีย

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์