คู่มือกินบุฟเฟ่ต์

คู่มือกินบุฟเฟ่ต์




อาหารบุฟเฟต์หรือประเภทไม่อิ่มไม่เลิกนั้นมักจะตามมาด้วยอาการทรมานท้องอย่างสุดทนเด็กบางคนถึงขั้นอาเจียนออกมาเพราะว่าแน่นมาถึงคอหอย จริงๆ แล้วการกินจุและกินดุขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อสุขภาพอย่างแน่นอน

แม้กระเพาะจะถูกสร้างมาให้จุอาหารได้มากเป็นทะนานแต่พอนานเข้าจะทำให้กระเพาะครากและลำไส้ทำงานหนัก เครื่องเคราข้างในก็จะรวนไปได้ แล้วทีนี้ท่านอาจสงสัยว่า กินเท่าไรจึงจะพอ ก็ขอเฉลยไว้ง่ายๆ ว่าไม่จำเป็นต้อง "สามมื้อ" เสมอไป ขอให้ยึดหลักนี้ไว้ คือ
1) กี่มื้อก็ได้ขอให้ได้แคลอรีพอ
2) กี่มื้อก็ได้ขอให้เป็นเวลา


นี่เองคือหลักการกิน เพราะงานวิจัยพบว่าอาหารสามมื้อที่มีแป้งเยอะและมันจัดนั้นจะยิ่งทำให้แก่เร็วมากกว่ากินแค่สองมื้ออย่างมีคุณภาพเปี่ยมไปด้วยวิตามินและ สารอาหาร

การกินเยอะไปไม่ได้ทำให้โตเร็วทางแนวตั้ง แต่ถ้าตั้งได้แบบตุ๊กตาล้มลุกล่ะก็ไม่แน่ แค่ลองกินอาหาร 5 หมู่ในปริมาณที่เท่าๆ กันสักเดือนหนึ่งแล้วมาเจอกัน จะพบว่าเนื้อตัวที่คิดว่าสุขภาพดีจะกลายไปเป็นอ้วนฉุอมโรคไป

เป็นข้อพิสูจน์ว่ากินครบไม่ใช่ดีเสมอไป

เพื่อให้กระบวนการกินดุ เอ๊ย กินบุฟเฟต์เป็นไปอย่างชื่นมื่น คนกินอร่อยลิ้นพุงปลิ้นและเจ้าของร้านก็ไม่ขาดทุนจนต้องลดต้นทุนด้วยการลดคุณภาพอาหารด้วย  จึงขอฝากหลัก "สามไม่" ในการกินบุฟเฟต์ไว้ดังนี้ครับ

1) ไม่ให้เหลือ กินเท่าที่ตักมาให้หมดก่อน  ถ้าไม่แน่ใจขอให้ตักมาสักชิ้นแล้วชิมให้แน่เพราะแค่ลุกก็ไปตักเพิ่มอีกได้แล้ว  ค่อยๆ ช่วยกันกินที่ตักมาเท่าที่จะเป็นไปได้โดยเฉพาะคราแรกที่จะตักเยอะพิเศษก็ขอให้ยั้งใจไว้ครับ

2) ไม่ตักเผื่อ เหตุหลักแห่งการกินเหลือคือ "ตักเผื่อเพื่อน" อย่างนี้ขอให้เลี่ยงครับเพราะมารยาทสากลแห่งคนกินบุฟเฟต์คือ "บริการตัวเอง" ไม่ต้องเกรงใจจนต้องเสิร์ฟให้กันมากเกินไป

3) ไม่เบื่อลุก ถ้ามีข้อนี้ได้นอกจากได้ออกกำลังกายแล้วอาหารจะไม่เหลืออีกด้วยเพราะการลุกไปตักบ่อยนั้นทำได้โดย  ไม่น่าเกลียดแต่อย่างใด แต่การตักมาครั้งละพูนจะทำให้คนมองไม่ดีและมีสิทธิ์เหลือสูงด้วย

เวลากินเยอะแบบไม่ลืมหูลืมตาขอให้นึกถึงตอนที่เจ็บป่วยไว้บ้าง เพราะบางทีกินจนป่วยแล้วก็จะอดกินต่อไปแม้จะมีสตางค์ล้นฟ้ากินของดีได้ทุกสารทิศก็ตาม

สู้กินให้น้อยไม่พุงกาง ตังค์อยู่ครบดีกว่า (แฮ่)

การสุมกินๆๆ เข้าไปให้เต็มจนล้นกระเพาะ เหตุเพราะกลัวขาดทุนนั้นเป็นของที่ "ขาดทุน" แน่เพราะแค่สุขภาพที่ต้องมานั่งย่อยกันทั้งที่ควรจะเป็นเวลาพักผ่อนของลำไส้นั้นก็ทำให้โทรมพออยู่แล้ว ไหนจะสารอาหารที่เกินไปอีก

ของดีที่เกินคือของไม่มีประโยชน์

แม้จะเป็นแซลมอน, ปูขน, ตับห่าน ของแพงทั้งหลายลงถ้ากินมากไปแล้วก็ไม่มีประโยชน์แถมเป็นโทษได้ทั้งนั้นจึงขอให้เคล็ดการกินดีไม่ให้มีการทำร้ายกระเพาะไว้ดังนี้ครับ

1) อิ่มก่อนอิ่ม เมื่อรู้สึกว่าเริ่มอิ่มแล้วให้หยุดรับประทานแล้วดื่มน้ำตามเข้าไป  เพราะวิสัยกระเพาะนั้นจะ "เฉื่อย" กว่าสมองคือกว่าจะส่ง "กระแสอิ่ม" ไปที่สมองก็ราว 15 นาทีให้หลังไปแล้ว

2) ชิมหลากหลาย กินให้ต่างๆ กันเข้าไว้ อย่าเลือกกินเฉพาะที่ชอบ เพราะอาหารที่หลากหลายจะทำให้ร่างกายไม่ได้สารอาหารซ้ำๆ ที่จะนำให้เกิดโรคอ้วนและโรคภัยไข้เจ็บอื่น เช่น แทนที่จะกินแต่หมูหรือเนื้อก็ให้ลองกินปลา, ไก่, หมึก หรือแม้แต่เต้าหู้ดูบ้างเพราะทุกอย่างจะมีของดี  ที่ทำงานเป็นทีมอยู่

3) อย่าเสียดาย ข้อใหญ่ใจความของการหม่ำบุฟเฟต์เลยคือต้องอย่าได้รู้สึกเสียดายให้คิดว่าเป็นการ "ทำลาย" มากกว่าถ้ายังฝืนกินเข้าไปอีก เพราะถ้าเกิดไม่สบายขึ้นมาจากการกินก็จะเสียโอกาสการกินอร่อยต่อไปอีกในภายภาคหน้า เพราะยังมีสารพัดโอชาให้กินอีกมากครับ

4) ห่างหายได้นาน อย่ากินบุฟเฟต์แบบพุงกางบ่อยนักเพราะจะทำให้ "กระเพาะคราก" เสียนิสัย มื้อต่อไปต้องกินหนักอีก ในเมนูอาหารบุฟเฟต์นั้นมักจะหนักที่แป้ง, น้ำตาล, ไขมันและรสเค็มเป็นหลัก กินแค่มื้อเดียวอาจได้เกลือถึง 2 ช้อนชา (เท่ากับปริมาณที่กินทั้งวัน) หรือน้ำตาลอาจได้ถึง 6 ช้อนชา ถ้ากินเช่นนี้ต่อไปก็อาจตัวใหญ่คับร้านได้ครับ

"หลักสี่" ที่ว่ามานี้ไม่จำเป็นต้องใช้กับบุฟเฟต์อย่างเดียวเลยแม้อาหารมื้อปกติ ก็ใช้ได้ ไม่ควรให้มากล้นจนถึงขั้นเติมได้ ไม่อั้นเพราะเวลากินข้าวด้วยกันมักจะคุยมันจนหมดไปเป็นชามไม่รู้ตัว ยิ่งกินกันคุยกันบ่อยให้คอยดูความเปลี่ยนแปลงที่แรงเกินเข็มขัดเอาอยู่

ตกท้องช้างโดยไม่รู้ตัว

มีข้อสังเกตหนึ่งของนักนิยมบุฟเฟต์คือมักจะมีรูปกายที่ล่ำสันเจ้าเนื้อ ซึ่งก็คือผลแห่งการกินแบบชูชกขั้นกว่านี้จะทำให้เกิด "ธาตุอ้วน" ขึ้นมาเก็บอาหารส่วนเกินที่กินไว้ในรูปไขมันอวบสวย และที่สำคัญคือจะมี "ธาตุหิว" เพ่นพ่านออกมาทั่วไปหมด ทำให้ยิ่งกินอุตลุดฉุดไม่อยู่

ยิ่งกินก็ยิ่งหิว

เป็นวงจรน่าสยองต่อไป เป็นเหตุว่าทำไมคนเราจึงไม่ควรจะยอมอ้วนเสียแม้แต่ นิดเดียวเลย เพราะถ้าเคยปากเสียแล้วต่อไปก็จะหิวง่ายกินเก่งเร่งเนื้อเร่งสี เอ๊ย...เร่งให้มีสนิมแก่มากขึ้นแล้วที่สุดก็จะเฉื่อยไม่อยากขยับกาย แก้อย่างไรก็ไม่หาย

ผิดกับคนที่ค่อยถนอมกิน ไม่เน้นปริมาณแม้จะขาดทุนบ้าง...

...แต่จะได้กินอย่างเป็นสุขไปอีกนานครับ




ที่มา หมอต้น
koosangkoosom

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์