มากกว่าบอกวัน เดือน ปี ปฏิทินเปี่ยมคุณค่า...สื่อปีใหม่

มากกว่าบอกวัน เดือน ปี ปฏิทินเปี่ยมคุณค่า...สื่อปีใหม่


ใกล้ผ่านพ้นปีเก่ากันแล้วและในช่วงเวลานี้จะเห็นได้ว่า เริ่มมีหลากสีสันของขวัญของที่ระลึกหลากหลายรูปแบบออกมาให้เลือกหา แทนความรู้สึกส่งมอบความสุขความปรารถนาดีถึงกันต้อนรับปีใหม่
   
ปฏิทิน อีกสีสันต้อนรับเทศกาลซึ่งก่อนเปลี่ยนปีพุทธศักราชใหม่ในช่วงท้ายปลายปีเวลานี้ก็ปรากฏให้ได้เห็นได้รับมอบเป็นของขวัญกันในรูปแบบที่หลากหลาย
   
ด้วยรูปแบบการสร้างสรรค์ปฏิทินที่ไม่หยุดนิ่งไม่เพียงแค่หน้าที่บ่งบอกกล่าวถึงวัน เดือน ปี ปฏิทินที่ปรากฏยังซ่อนคุณค่าความสำคัญ ฝากแฝงไว้หลากหลายด้าน  ที่อาจจะมองผ่านเลยกันไป ดร.พจน์ ใจชาญสุขกิจ นายกสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ให้ความรู้ว่า ปฏิทินเป็นสื่อที่มีความสำคัญเป็นสิ่งที่ช่วยในการนัดหมาย การวางแผนกิจกรรมทั้งของผู้คนและองค์กร อีกทั้งยังเป็นสื่อประชาสัมพันธ์สะท้อนภาพให้กับหน่วยงาน รวมทั้งยังมีแง่มุมศิลปะแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ
   
นอกจากนี้ปฏิทินที่คุ้นชินไม่ว่าจะเป็นใน รูปแบบปฏิทินตั้งโต๊ะ ปฏิทินแขวนหรือปฏิทินที่พกพา ฯลฯ   ยังทำหน้าที่อธิบายบริบทของ สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ควบคู่ ไปกับการบอก วัน เดือน ปี

   
“ปฏิทินเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประจำวันเรามากมายไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การ วางแผนทำกิจกรรมต่าง ๆ จากภารกิจของสมาคมฯ ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมาที่จัดประกวดปฏิทินดีเด่นรางวัลสุริยศศิธรเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้มีการผลิตปฏิทินที่มีคุณค่าต่อประชาชนและสังคม
   
อีกด้านหนึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานการผลิตปฏิทินในประเทศซึ่งที่ผ่านมาได้ทำการคัดเลือกปฏิทินดีเด่นเผยแพร่ให้ประชาชนทราบโดยแบ่งประเภทปฏิทินได้แก่ เทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่งเสริมเอกลักษณ์และศิลปวัฒนธรรมของชาติ ประเภทจรรโลงสังคมสภาวะแวดล้อมในปัจจุบันและปฏิทิน ประเภทอื่น ๆ”
   
ในคุณค่าที่นอกเหนือจากการบอกบันทึกวันเวลา เสน่ห์ของปฏิทินยังสื่อให้เห็นถึงการออกแบบเพื่อให้เกิดประโยชน์ ความสะดวกต่อการใช้งาน อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่จรรโลงทางด้านจิตใจซึ่งสิ่งที่ปรากฏบนปฏิทินทุกส่วนมีความสำคัญซึ่งถ้าย้อนกลับไปในวันวานของปฏิทินจวบถึงปัจจุบันปฏิทินนั้นได้บันทึกและบอกเล่าสะท้อนบริบทวิถีชีวิตในสังคม อีกด้านหนึ่งก็จะเห็นได้ว่าพัฒนาการของปฏิทินมีความเคลื่อนไหว อย่างเช่นจากตัวเขียนแบบโบราณ เลขไทย มาถึงเลขอารบิค ต่อเนื่องมาถึงการออกแบบ ฯลฯ เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เห็นภาพของสังคม
   
“ทุกวันนี้จะเห็นว่าปฏิทินพัฒนารูปแบบไปไกลมาก ต่างจากสมัยก่อนซึ่งจะเห็นได้ทั้งในด้านการพิมพ์จากขาวดำเป็นการพิมพ์ที่มีสีสัน ในคุณภาพกระดาษสมัยก่อนก็ไม่เทียบเท่ากับยุคปัจจุบัน อีกทั้งยังมีการใช้วัสดุอื่น ๆ เข้ามาช่วยสร้างเสน่ห์ให้กับปฏิทิน อย่างเช่น พิมพ์ลงบนพลาสติก กระดาษถนอมสายตา ฯลฯ
   
ในด้านเทคนิคการพิมพ์ก็ก้าวไกลไปกว่าเดิมมาก มี พัฒนาการที่ชวนติดตาม วิธีการนำเสนอในเรื่องของการออกแบบก็มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นซึ่งก็ทำให้เกิดความน่าสนใจ ยิ่งขึ้น”
   
อีกสิ่งที่คงไม่อาจลืมได้ ปฏิทินนั้นเป็นสื่อหนึ่งที่มีอายุยาวอย่างน้อยก็จะอยู่กับเราไปตลอดช่วงเวลาหนึ่งปีเต็ม ๆ ไม่ว่าจะปรากฏอยู่บนโต๊ะทำงาน ที่บ้านหรือในกระเป๋าสตางค์ ในสมุดจด ฯลฯ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่น่าทบทวนว่าจะสร้างสรรค์อย่างไรให้ปฏิทินเหล่านี้ถูกเลือกนำมาใช้งานตรงกับความต้องการเหมาะกับผู้ใช้ อย่างบางกลุ่มชื่นชอบปฏิทินที่มีตัวเลขใหญ่ ๆ มองเห็นชัด ขณะที่บางกลุ่มอาจชื่นชอบปฏิทินที่บอกระบุข้างขึ้นข้างแรม มีวันพระ
   
ขณะที่ปฏิทินของกลุ่มนักธุรกิจอาจมีความต้องการที่จะเห็นตัวเลขพร้อมไปกับช่องที่สามารถบันทึก วันเวลา บอกรายละเอียดของงาน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอีกรายละเอียดเป็นเสน่ห์การสร้างสรรค์ปฏิทิน ส่วนถ้าย้อนกลับไปถึงการใช้ปฏิทินของไทยนั้นพบว่ามี ปรากฏมายาวนานกล่าวกันว่ามีมาแต่สมัยสุโขทัย
   
จวบปัจจุบันก็มีการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่งซึ่งกว่าจะปรากฏเป็นสิ่งที่บอก บันทึกวันเวลาได้นั้นคงต้องเริ่มจากความตั้งใจของผู้ที่จะผลิต  ซึ่งหากแบ่งให้เห็นชัดขึ้นก็อาจมีในกลุ่มปฏิทินที่มอบเป็นของขวัญที่ระลึก อีกส่วนหนึ่งก็เป็นปฏิทินที่จัดจำหน่าย  แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตามปฏิทินนั้นได้แสดงให้เห็นถึงการส่งมอบความประทับใจเพื่อให้ผู้รับได้มีความพึงพอใจเลือกนำไปใช้งานได้โดยสะดวก
   
“แม้จะถูกมองว่าคุณค่าน้อยนิดแต่ถ้าถามว่าชีวิตเราห่างหายไปจากปฏิทินหรือไม่ ก็คงปฏิเสธไม่ได้ ปฏิทินไม่ว่าจะปรากฏในที่ใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นหน้าจอโทรศัพท์มือถือ หน้าจอคอมพิวเตอร์ ฯลฯเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นปฏิทินยังคงใช้ในเรื่องการกำหนดวันนัดหมาย วันหยุด วันสำคัญ ฯลฯ อย่างทุกวันนี้ที่เราบันทึกเรื่องราววันสำคัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตก็มีพื้นฐานมาจากวันในปฏิทินทั้งสิ้น”
   
ขณะที่ปฏิทินถือเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ที่ทำหน้าที่ในการถ่ายทอดบ่งบอกเรื่องราวซึ่งก็อาจจะมีหลากหลาย สิ่งที่มีความสำคัญในการสร้างสรรค์ก็คงจะมีในส่วนของภาพ วันที่ที่บ่งบอกเนื้อหาและในเรื่องของวิธีการออกแบบความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ
    
แต่ละภาพจะเป็นสื่อ สัญลักษณ์ซึ่งที่ผ่านมาภาพที่ปรากฏในปฏิทินมีความหลากหลาย สิ่งที่ควรพิจารณาก็คงต้องดูถึงจุดมุ่งหมายในการนำเสนอ อีกทั้งมีความเหมาะสมหรือไม่ที่จะนำมาเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์
   
ปฏิทิน สิ่งนี้เสมือนเป็นสื่อความรู้ที่มีอยู่ที่บ้าน เป็นสื่อที่ช่วยสร้างความผ่อนคลาย จากที่ผ่านมาในการจัดประกวด ปฏิทินซึ่งสมาคมฯ ให้ความสำคัญกับปฏิทินในแง่ของการเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ที่จะให้ความรู้ก่อเกิดจากประโยชน์กับสังคมมากกว่าการบอกวันเวลา ทุก ๆ ปลายปีจะเปิดรับผลงานให้ทุกภาคส่วนได้ส่งปฏิทินร่วมประกวดโดยในช่วงต้นปีก็จะมีการมอบรางวัลและจัดแสดงนิทรรศการซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าเราทุกคนใกล้ชิดกับปฏิทินอย่างแท้จริงและหลายหน่วยงานก็ให้ความสำคัญกับการผลิตปฏิทิน
   
ขณะเดียวกันก็มีปฏิทินที่น่าสนใจผลิตออกมาให้เลือกหากันไม่น้อยจะเห็นว่าเรามีปฏิทินสวยงามหลากหลายและแม้จะใช้ประโยชน์จากปฏิทินได้จากสื่อต่าง ๆ มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นสื่อสมัยใหม่ทางมือถือ คอมพิวเตอร์ แต่อย่างไรก็ตามในแต่ละปีมูลค่าของการผลิตปฏิทินนั้นมากมายซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าสังคมมีความจำเป็นในการใช้ปฏิทิน
   
ดังที่กล่าวปฏิทินเป็นสื่อที่มีความยาวนานเป็นดั่งคลังความรู้ที่เข้าถึงได้ง่ายเป็นเสมือน หนังสือเล่มหนึ่งซึ่งมีทั้งภาพ คำบรรยาย การออกแบบที่สวยงามซึ่งถือได้ว่าเป็นความล้ำค่า
   
อีกทั้งยังถ่ายทอดและบันทึกความเคลื่อนไหวของวันเวลาทั้งที่ผ่านเลยมาและบอกกล่าวถึงอนาคตได้อย่างสมบูรณ์.

กำเนิดปฏิทินไทย

คำว่า “ปฏิทิน” ในภาษาไทยมาจากภาษาบาลี คำว่า “ปฏิ” หมายถึง “เวียนกลับ” และ “ทิน” หมายถึง “วัน” เมื่อนำทั้ง 2 คำมารวมกันมีความหมายว่า “แบบสำหรับดู วัน เดือน ปี” ซึ่งมีทั้งที่จารึกบนก้อนหิน หรือ ขีด เขียน และพิมพ์บนกระดาษ มีทั้งชนิดเป็นแผ่น ตั้งแต่ 1-12 แผ่น และชนิดพิมพ์เป็นเล่ม
   
จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ การพิมพ์ปฏิทินในไทยมีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 1842 (ปลายสมัยรัชกาลที่ 3) ซึ่งสามารถตรวจสอบและค้นคว้าหาหลักฐานได้จาก ไมโครฟิล์ม หนังสือบางกอกคาเลนเดอร์ ปี ค.ศ. 1870 หน้า 5 ในหอสมุดแห่งชาติ หรือค้นคว้าได้จากหนังสือต้นฉบับ ที่หอสมุดดำรงราชานุภาพ ซึ่งหมอบรัดเลย์ ได้เขียนไว้ว่า “14 First Calendar print in B. 1842” (ไม่บอกว่าใครเป็นผู้พิมพ์ แต่คาดหมายว่า คือ หมอบรัดเลย์ ซึ่งเป็นเจ้าของโรงพิมพ์ ผู้มีผลงานทางหนังสือมากมาย)

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์