ออกไซโทซิน ฮอร์โมนรักลดปวดหัว

ออกไซโทซิน ฮอร์โมนรักลดปวดหัว



ออกไซโทซิน ฮอร์โมนที่เชื่อกันว่าช่วยเพิ่มความไว้วางใจและสร้างสัมพันธภาพทางสังคมจนได้ชื่อว่า ฮอร์โมนแห่งความรัก อาจช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะเรื้อรังได้

เฮลท์นิวส์เดลี่ รายงานว่า นักวิจัยพบว่า 50% ของผู้ป่วยที่ได้รับฮอร์โมนดังกล่าวด้วยวิธีการพ่นจมูกระบุว่าปวดน้อยลงครึ่งหนึ่ง และอีก 27% บอกว่าหายปวดเป็นปลิดทิ้งหลังผ่านไป 4 ชั่วโมง ขณะที่ในกลุ่มผู้ได้รับยาหลอกมีเพียง 11% ที่รายงานว่าความปวดบรรเทาลง และไม่มีเลยที่อาการปวดหายไปอย่าง สิ้นเชิงหลังได้รับการพ่นยาเป็นเวลา 4 ชั่วโมง

ทั้งนี้ อาสาสมัครทุกคนที่เข้าร่วมการวิจัยครั้งนี้เป็นผู้มีอาการปวดหัวเรื้อรัง คือประสบกับความปวดอย่างน้อย 15 วันในหนึ่งเดือน และยังไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น

เดวิด ยีโอแมน ผู้อำนายการศูนย์วิจัยความเจ็บปวดแห่งวิทยาลัยแพทย์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัยอธิบายว่า ฮอร์โมนดังกล่าวทำงานโดยเข้าไปจับกับตัวรับที่อยู่บนเส้นประสาทไตรจีมีนอล ซึ่งทำหน้าที่ส่งผ่านข้อมูลความเจ็บปวดระหว่างใบหน้ากับศีรษะ แล้วขัดขวางการส่งสัญญาณความรู้สึก อาการปวดศีรษะจึงบรรเทาลง

ด้าน รศ.ดร.อีจีเลียส สไปเออริง แห่งวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ด ให้ความเห็นว่า เนื่องจากออกไซโทซินใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมงจึงจะออกฤทธิ์เต็มที่ ดังนั้นจึงเหมาะกับผู้ที่มีอาการปวดศีรษะเป็นประจำมากกว่าคนที่นาน ๆ เป็นที เนื่องจากคนกลุ่มหลังมักต้องการยาที่เห็นผลอย่างรวดเร็ว

สมองโตเต็มที่เมื่อถึงหลักสี่

ร่างกายคนเราอาจโตเต็มที่เมื่อย่าง 21 ปี แต่งานวิจัยชิ้นใหม่ชี้ว่ามันสมองจะไม่หยุดพัฒนาจนกว่าจะอายุ 40 ปลาย ๆ

เดลี่ เทเลกราฟ รายงานว่า ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสมองจะหยุดการเติบโตตั้งแต่วัยเด็ก แต่ขณะนี้พบหลักฐานใหม่ที่ชี้ว่าสมองยังคงเปลี่ยนแปลงไม่หยุดจนกระทั่งเข้าสู่วัยกลางคน

จากการสแกนสมองพบว่า สมองกลีบหน้าซึ่งเป็นส่วนที่อยู่หลังหน้าผากของมนุษย์ยังคงเปลี่ยนรูปทรงอยู่ตลอดแม้เข้าสู่วัยเลข 3 หรือเลข 4 การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นข้อมูลสำคัญเพราะกลีบหน้าถือเป็นส่วนหลักของสมอง และกล่าวกันว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนเราพัฒนากลายเป็นมนุษย์อย่างทุกวันนี้

ศาสตราจารย์ซาร่า-เจย์น แบล็กมอร์ นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน กล่าวว่า "เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เราทึกทักเอาว่าสมองจะหยุดการเติบโตในขณะที่เรายังเป็นเด็กเล็ก ๆ แต่ตอนนี้ภาพสแกนสมองทำให้เราเข้าใจใหม่ว่า ความเชื่อข้างต้นห่างไกลจากความเป็นจริง เพราะอวัยวะส่วนนี้ยังคงพัฒนาต่อไปอีกหลายทศวรรษ"

เธอยังชี้ด้วยว่า สมองกลีบหน้ามีหน้าที่สำคัญด้านการตัดสินใจ การวางแผน การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น และยังมีส่วนกำหนดบุคลิกภาพของแต่ละคนได้ ศ.แบล็กมอร์ ตั้งความหวังว่า "เนื่องจากสมองยังไม่หยุดพัฒนาดังนั้นการเพิ่มศักยภาพด้านต่าง ๆ ให้สมองจึงมีโอกาสประสบสำเร็จสูงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนนั้น ๆ ได้"

.............

ที่มา : คอลัมน์  เฮลท์ ทริกส์ นสพ.ประชาชาติธุรกิจ    


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์