นิสัย กับ สันดาน

นิสัย กับ สันดาน


           โบราณว่า "สันดอนขุดง่าย สันดานขุดยาก" บางคนอาจจะสงสัยว่า "สันดอน" ที่ว่าคืออะไร แล้วเหตุใดจึงเป็นคำพูดเปรียบเปรยกับคำว่า "สันดาน"

คำว่า สันดอน เป็นคำนาม หมายถึงดินหรือกรวดทรายเป็นต้นซึ่งน้ำพัดเอามารวมกัน ปรากฏนูนยาวอยู่ใต้น้ำ ทำให้สูงเป็นสันขึ้น

ส่วนคำว่า สันดาน เป็นคำนาม หมายถึง อุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิด เช่น มีสันดานดี มีสันดานเลว หากใช้ในภาษาปากมักใช้ไปในทางไม่สู้จะดี เช่น สันดานของเขาเป็นเช่นนี้ อย่าไปถือเลย เมื่อดูคำอธิบายทั้ง ๒ คำแล้ว คงเห็นภาพกันชัดเจนขึ้นว่าที่โบราณเปรียบไว้นั้นเพื่อให้เห็นว่า

การขุดลอกนำดินทรายที่มาทับถมอยู่ในน้ำออกไปทำได้ง่ายกว่าจะแก้อุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิด
 
          ที่กล่าวถึงคำว่า "สันดาน" ขึ้นมาก่อนนี้เพื่อจะโยงถึงคำอีก ๒ คำ คือคำว่า"นิสัย" และ "อุปนิสัย" 

คำว่า นิสัย เป็นคำนาม หมายถึง ความประพฤติที่เคยชิน เช่น เขาตื่นเช้าจนเป็นนิสัย คำว่า "นิสัย" ยังมีความหมายว่า ที่พึ่ง, ที่พักพิง, ที่อาศัยเช่น ผู้อุปสมบทขอฝากตัวเป็นศิษย์พระอุปัชฌาย์เรียกว่า ขอนิสัย แต่ในที่นี้จะไม่กล่าวถึงความหมายนี้

คำว่า อุปนิสัย เป็นคำนาม หมายถึง ความประพฤติที่เคยชินเป็นพื้นมาในสันดาน เช่น ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จไปเทศน์โปรดผู้ใดจะต้องทรงพิจารณาถึงอุปนิสัยของผู้นั้นก่อน และยังหมายถึง ความประพฤติที่เคยชินจนเกือบเป็นนิสัย เช่น นักเรียนคนนี้มีอุปนิสัยดี
 
ความหมายของคำ ๓ คำดังกล่าวที่ประมวลจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๔๒ มีความแตกต่างกัน จึงควร
พิจารณาเลือกใช้คำให้เหมาะสมกับบริบทและกาลเทศะ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์