ศาลสั่งพธม.ชดใช้ 522ล.-คดียึดสนามบิน

ศาลสั่งพธม.ชดใช้ 522ล.-คดียึดสนามบิน


ศาลสั่งพธม.ชดใช้ 522ล.-คดียึดสนามบิน

สภาเลื่อน ถก"เจบีซี" ม็อบ500 ไม่เคลื่อน


ศาลแพ่งพิพากษาให้ 13 แกนนำพันธมิตร นำโดยจำลอง-สนธิสมศักดิ์-พิภพ-ยะใส ชดใช้ 522 ล้านบาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย คดีพาม็อบบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง ระบุเป็นการชุมนุมที่มิชอบ สร้างความเสียหายต่อประเทศอย่างร้ายแรง ม็อบเหลืองระดมได้ 500 คึกคักแต่เช้ารอแกนนำนำบุกรัฐสภา ทว่ารอถึงมืดก็ไม่กล้าเคลื่อน "ปู่ชัย"เซ็งเลื่อนประชุมร่วม 2 สภาเพื่อพิจารณารับรองเจบีซีมาตอนบ่าย หลังนัดสายๆ แต่ผู้ ทรงเกียรติมากันโหรงเหรง น้องวีระจี้มาร์คช่วยพี่ชายพ้นคุกเขมรใน 7 วัน ถ้าเหลวอาจหันไปพึ่ง"ทักษิณ"



ตร. 11 กองร้อยตรึงสภา

เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าก่อนประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณารับรองรายงานผลการศึกษาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) จำนวน 3 ฉบับ ซึ่งคณะกรรมาธิการ เจบีซีพิจารณาเสร็จแล้ว มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 11 กองร้อยวางกำลังดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวดทั้งภายในและนอกรัฐสภา ตามพ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เน้นตรวจเข้มรถที่มุ่งหน้ามารัฐสภา โดยพล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 อำนวยการด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้าไปภายในรัฐสภาต้องแสดงบัตรประจำตัวข้าราชการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน เพื่อป้องกันมือที่ 3 หรือผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามาก่อเหตุ เนื่องจากมีรายงานการข่าวว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะเดินทางมารัฐสภาระหว่างการพิจารณาเจบีซีวันนี้

เสื้อหลากสีค้านรับรองเจบีซี

เวลา 09.00 น.กลุ่มเสื้อหลากสียื่นหนังสือต่อนายเจริญ คันธวงศ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานเจบีซี นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว. กทม. และนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้สมาชิกรัฐสภามีมติไม่รับรองบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ และส่งคืนรัฐบาล หากรัฐสภารับรองบันทึกดังกล่าว ทางฝ่ายกัมพูชาจะอ้างเป็นหลักฐานว่ารัฐสภาไทยยอมรับว่าทหารไทย รุกล้ำดินแดนกัมพูชา และเกิดผลกระทบต่ออธิปไตยของไทยได้ หากรัฐสภารับรองทางกลุ่มจะเคลื่อนไหว

ภายหลังกลุ่มเสื้อหลากสียื่นหนังสือเสร็จ นายชัย ชิดชอบ เดินผ่านมาพอดี กลุ่มดังกล่าวจึงตรงรี่เข้าไปยื่นหนังสือ นายชัยต้องพูดเสียงดังขึ้นว่า "ยื่นไปแล้ว ถ้าจะรักชาติทำไมไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การจะรับรองบันทึกทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวหรือไม่ขึ้นกับมติของที่ประชุม ผมร่วมโหวตด้วยไม่ได้ พวกคุณเลือกส.ส.มาเป็นตัวแทนแล้วก็ควรเชื่อใจ ถ้าไม่เชื่อใจวันข้างหน้าก็ไม่ต้องไปลงคะแนนให้ ถือว่ารับทราบก็แล้วกัน"

ส.ว.โวยมาร์คไทยเหมือนลิเบีย

ต่อมาเวลา 09.00 น.นายชัย ในฐานะประธานรัฐสภา เป็นประธานประชุมพิจารณา เจบีซี 3 ฉบับ แต่มีสมาชิกอยู่ในห้องประชุมบางตา จนเวลา 09.30 น.มีสมาชิกลงชื่อเข้าประชุมเพียง 151 คน จาก 554 คน ไม่ครบองค์ประชุม 277 คน นายชัยจึงเปิดให้สมาชิกหารือเรื่องทั่วไป

นายมงคล ศรีกำแหง ส.ว.จันทบุรี กล่าวว่า ประชาชน ส.ส. ส.ว. ข้าราชการ เข้ามาสภาหรือทำเนียบรัฐบาลลำบากมาก มีด่านกั้น ประเทศไทยใกล้จะเป็นลิเบีย มีผู้ชุมนุมยึดถนน มีทหาร ตำรวจตั้งบังเกอร์แล้วจะไปเลือกตั้งได้อย่างไร นายกฯ มีฝีมือบริหารประเทศเท่านี้หรือ รวมถึงปัญหาข้าวยากหมากแพง นายกฯ และรัฐบาลทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ไม่แก้ปัญหา แล้วยังอยากจะกลับมาเป็นนายกฯ อีก ตนคิดว่าถ้าเจรจาไม่ได้ ขอพื้นที่คืนไม่ได้ ให้เอาดอกไม้ธูปเทียนไปขอแกนนำผู้ชุมนุมดีๆ เขาน่าจะให้ หรือให้นายชัยไปช่วยเจรจาก็ได้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี รีบลุกขึ้นชี้แจงทันทีด้วยสีหน้าไม่พอใจว่า เข้าใจว่าสมาชิกไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง และอาจมีอารมณ์บ้าง แต่ฟังคำพูดแล้วไม่ค่อยสบายใจ ไม่ทราบว่าพูดได้อย่างไรว่าเหมือนลิเบีย เพราะแนวทางที่รัฐบาลบริหารขณะนี้เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย และทำด้วยความพอดี หากจะใช้ความเด็ดขาดก็ทำได้ แต่จะทำให้สถานการณ์ลุกลาม รัฐบาลให้เกียรติเจ้าหน้าที่ที่ขออำนาจพิเศษตามกฎหมาย เมื่อรัฐบาลประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงแล้วเจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจมากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่ แต่ต้องมีเป้าหมายเพื่อความสงบ เวลานี้ส.ส.ไปเลือกตั้งได้หมด ส.ว.ไม่ต้องมาห่วง เพราะไม่ได้ไปเลือกตั้งเหมือนส.ส. ฉะนั้นถ้าไม่สะดวกบ้างขอให้อดทน เพราะต้องอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

อนาถรัฐสภาประชุมล่ม

หลังจากเปิดให้สมาชิกหารือนาน 1 ช.ม. แต่สมาชิกยังไม่ครบองค์ประชุม ส.ว.บางส่วน และส.ส.ฝ่ายค้านเริ่มไม่พอใจ นายวิทยา อินาลา ส.ว.นครพนม วิปวุฒิฯ กล่าวว่า ขณะนี้การประชุมล่าช้าไปช.ม.ครึ่งแล้ว หากประชุมไม่ได้ต้องรออีก 3 วัน กรอบการเจรจาระหว่างประเทศจะเสร็จช้าไปอีกทำให้ประเทศเสียประโยชน์ จึงขอถามสมาชิกผู้ทรงเกียรติว่าความรับผิดชอบอยู่ตรงไหน

เวลา 10.50 น. นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย หารือว่า ตอนนี้ล่าช้ามาเกือบ 2 ช.ม.แล้ว ตามข้อบังคับการประชุมหากสมาชิกมาล่าช้าเกิน 30 นาที ประธาน สั่งเลื่อนประชุมได้ กระทั่งล่วงเลยมาถึงเวลา 11.15 น.ยังมีสมาชิกลงชื่อเข้าประชุมเพียง 261 คน นายชัยจึงแจ้งว่า เนื่องด้วยมีปัญหาทางเทคนิคเล็กน้อย จึงขอเลื่อนประชุมไปเวลา 13.00 น.

นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์กรณีอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ชะลอส่งทูตมาสังเกตการณ์ เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชาว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาทางเทคนิคว่าเราต้องให้ได้ข้อสรุปก่อนว่าจะให้สังเกตการณ์ที่ไหน อย่างไร และการจะอยู่ที่ไหนต้องได้รับการยอมรับทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชา หวังว่าการใช้กลไกของเจบีซีต้นเดือนเม.ย.นี้จะมีส่วนช่วยเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่าเรื่องทูตสังเกตการณ์จะต้องหารือในคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (จีบีซี) ก่อนหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่จำเป็น เพราะถ้าจีบีซียังประชุมกันไม่ได้ ก็ใช้การพบปะกันแบบทวิภาคีก็คงจะต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะเราต้องการให้อาเซียนสามารถมาดูได้ ดังนั้น ต้องรอให้ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน ซึ่งเราไม่ได้มีเจตนาที่จะไม่ให้มา เพียงแต่มาต้องอยู่ในพื้นที่ตกลงกันได้จะไม่ได้เกิดปัญหาแทรกซ้อน

ด้านนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ว่า ไทยพร้อมสำหรับประชุมเจบีซีที่อินโดนีเซียวันที่ 7-8 เม.ย.นี้

พธม.ระดมได้ 500 คึกกันใหญ่

สำหรับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถ.ราชดำเนินนอก ช่วงเช้ามีผู้ชุมนุมคึกคักกว่าทุกวันประมาณ 500 คน โดยส่วนหนึ่งทยอยเดินทางมาจากต่างจังหวัด และพักค้างคืนตั้งแต่เมื่อคืน เพื่อรอมติแกนนำว่าจะเคลื่อนไปรัฐสภาเพื่อประท้วงการประชุมเจบีซี หรือไม่ ท่ามกลางตำรวจปราบจลาจล พร้อมโล่ กระบองหลายร้อยนายดูแลพื้นที่

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรแถลงว่า กรณีรัฐสภาจะพิจารณารับร่างบันทึกเจบีซี 3 ฉบับนั้น ทราบว่าตอนเช้ายังไม่มีการประชุม เนื่องจากไม่ครบองค์ประชุม โดยมี ส.ส. หลายจังหวัดแจ้งพันธมิตรว่าจะไม่เข้าประชุม ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลพยายามพูดลักษณะว่า ร่างข้อตกลงชั่วคราวที่แนบเข้ามาในการประชุมนั้นไม่มีสถานภาพเป็นสนธิสัญญา จึงนำเสนอมาเพื่อทราบเท่านั้น อย่างไรก็ตามในส่วนนี้ถ้ารัฐสภาเห็นชอบจะเป็นการรับร่างข้อตกลงชั่วคราวไปด้วย ทำให้รัฐบาลกัมพูชาสามารถอ้างข้อความที่รัฐสภาไทยให้ความเห็นชอบนำไปใช้เจรจากับนานาชาติต่อไปได้ ฉะนั้นข้อตกลงนี้ควรส่งเรื่องคืนกระทรวงการต่างประเทศ โดยที่ประชุมสภาไม่ต้องให้ความเห็นชอบใดๆ ทั้งสิ้น

นายประพันธ์ คูณมี แกนนำพันธมิตร กล่าวว่า ยืนยันว่าการเคลื่อนไหวกดดันการประชุมรัฐสภายังมีอยู่ แต่จะรอดูผลการลงมติของรัฐสภาเสียก่อน เพื่อดูว่าบุคคลใดเป็นเป้าหมายที่จะประณามและคัดค้าน ซึ่งมวลชนพร้อมเคลื่อนไหวตลอดเวลา โดยแกนนำพันธมิตรจะสรุปท่าทีภายในวันนี้

ไชยวัฒน์รู้ตัวไม่เคลื่อนม็อบ

ส่วนที่เต็นท์เครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำเครือข่าย แถลงว่า ความคืบหน้าการช่วยเหลือนายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนไพบูรณ์ ที่ถูกศาลกัมพูชาตัดสินจำคุกนั้น วันนี้นายการุณ ใสงาม และม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ จะมีโอกาสเข้าเยี่ยมทั้งสองคน เนื่องจากสถานทูตไทยในพนมเปญยืนยันว่าจะได้พบ หลังจากผัดมาถึง 4 ครั้งแล้ว จะได้สอบถามถึงการต่อสู้คดีว่าตัดสินใจอย่างไร เนื่องจากมีข่าวว่าทั้งสองลงชื่อขอพระราชทานอภัยโทษแล้ว ครั้งนี้จะได้ยินจากปากนายวีระและน.ส.ราตรี

ส่วนการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาเจบีซีนั้น ทางเครือข่ายจะไม่นำมวลชนไปกดดันที่หน้ารัฐสภา เนื่องจากตนได้ทำหน้าที่ชี้แจงในรัฐสภาตามสิทธิ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว และยังนำข้อมูลแจกจ่ายต่อสมาชิกรัฐสภาด้วย เครือข่ายจะไปยื่นต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาวันที่ 28 มี.ค.เพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนอิสระชี้มูลความผิดสมาชิกรัฐสภาที่รับรองเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ หากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาชี้มูลความผิดก็จะส่งอัยการส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

น้องวีระจี้มาร์คช่วยพี่ใน 7 วัน

เวลา 11.50 น.นายปรีชา สมความคิด น้องชายนายวีระ สมความคิด พร้อมด้วยน.ส.วริสา ทองเงิน หลานสาวน.ส.ราตรี พิพัฒนไพบูรณ์ ยื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ ผ่านนายพนิช วิกฤตเศรษฐ์ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้เร่งรัดช่วยเหลือนายวีระและน.ส.ราตรี ภายใน 7 วัน นายปรีชากล่าวว่า นายวีระมีอาการป่วยหนัก ร่างกายทรุดโทรม แทบไม่มีแรง นายวีระจึงรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจและกดดันจนร่างกายทรุดโทรม จึงขอให้นายกฯ และนายพนิชช่วยเหลือเจรจากับรัฐบาลกัมพูชาภายใน 7 วัน ทั้งนี้ ขั้นตอน อุทธรณ์หมดเวลาไปแล้ว ทางเดียวที่จะช่วยเหลือคือขอพระราชทานอภัยโทษ และนายวีระก็ไม่ได้ปฏิเสธการขอพระราชทานอภัยโทษ

น้องชายนายวีระกล่าวอีกว่า หากครบ 7 วันรัฐบาลยังช่วยเหลือไม่ได้ อาจเทียบเคียงกับกรณีนายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ วิศวกรชาวไทยที่เคยถูกกัมพูชาจับกุมแล้วได้รับการอภัยโทษโดยไม่ต้องถูกกุมขัง

ผู้สื่อข่าวถามว่าแต่กรณีนายศิวรักษ์ได้รับความช่วยเหลือจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ใช้ความสัมพันธ์พิเศษกับสมเด็จฮุนเซน ครั้งนี้อาจไม่มีสายสัมพันธ์เช่นนั้น นายปรีชากล่าวว่า คงต้องใช้แนวทางของนายอภิสิทธ์ช่วยเหลือก่อน หากยังช่วยเหลือไม่ได้ตนก็ไม่ปิดกั้นแนวทางการช่วยเหลืออื่นๆ

ศาลปค.ยกม็อบเหลืองฟ้องผบ.ตร.

ที่ศาลปกครองกลาง นายอนุวัฒน์ ธาราแสวง ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง และคณะ มีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีที่นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน และนายสมบูรณ์ ทองบุราณ แกนนำเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ ยื่นฟ้องพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. ในฐานะผอ.ศอ.รส. สั่งการใช้กำลังตำรวจยึดพื้นที่การชุมนุมบางส่วนบริเวณสะพาน ชมัยมรุเชฐเพื่อเปิดทางการจราจรเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 มี.ค.โดยอ้างว่าจะใช้พื้นที่จัดงานกาชาดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีแนวโน้มว่าจะใช้กำลังสลายการชุมนุม จึงขอศาลพิพากษาสั่งให้ผบ.ตร.คืนพื้นที่การชุมนุมดังกล่าว และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครอง ห้ามมิให้มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายจน กว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

ทั้งนี้ ศาลเห็นว่าการใช้อำนาจดังกล่าวของผอ.ศอ.รส.เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ พ.ศ.2551 อีกทั้งการดำเนินการใดๆ ตามพ.ร.บ.นี้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ศาลปกครองไม่อาจรับฟ้องคดีนี้ไว้ได้ จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้อง

ศาลแพ่งสั่งหัวโจกพธม.ชดใช้522ล.

วันเดียวกัน เวลา 10.00 น.ที่ศาลแพ่ง ศาลมีคำพิพากษาให้พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสุริยะใส กตะศิลา นายสมศักดิ์ โกสัยสุข นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายนรัณยู หรือศรัญญู วงศ์กระจ่าง นายสำราญ รอดเพชร นายศิริชัย ไม้งาม นางมาลีรัตน์ แก้วก่า และนายเทิดภูมิ ใจดี แกนนำกลุ่มพันธมิตร จำเลยที่ 1-13 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจากการทำละเมิด กรณีร่วมกันนำผู้ชุมนุมบุกยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ให้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือทอท. เป็นเงิน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค.2551

คดีนี้ ทอท.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพล.ต.จำลอง และแกนนำพันธมิตร เป็นจำเลยที่ 1-13 สรุปว่า ระหว่างวันที่ 24 พ.ย.-3 ธ.ค.2551 จำเลยทั้ง 13 นำผู้ชุมนุมไปบุกยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง เพื่อประท้วงรัฐบาลและขับไล่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ขณะนั้น ทำให้การให้บริการต่างๆ ภายในท่าอากาศยานทั้งสองต้องหยุดลง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ขับไล่จำเลยทั้ง 13 นำกลุ่มผู้ชุมนุมออกจากท่าอากาศยานทั้งสอง และทำให้อยู่ในสภาพเดิม และขอให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยทั้ง 13 ให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ยื่นฟ้องคดีโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย การชุมนุมของจำเลยกับพวกได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ศาลแพ่งพิเคราะห์แล้วมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมาย และคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรมไม่ใช่ศาลปกครอง ที่จำเลยอ้างโจทก์ไม่มีเจตนาฟ้อง แต่คดีนี้โจทก์กล่าวหาจำเลยทั้ง 13 ร่วมกันกระทำละเมิด โจทก์ใช้สิทธิที่พึงมีฟ้องศาลได้ จึงเป็น การฟ้องโดยสุจริต

นำม็อบยึดสนามบินเจตนาร้าย

ประเด็นต้องวินิจฉัยต่อมาว่าจำเลยทั้ง 13 ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่าผู้ชุมนุมมาโดยสมัครใจและใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ท่าอากาศยานเป็นสถานที่สาธารณะ และนายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กก.ผอ.ใหญ่ ทอท. เป็นผู้ออกคำสั่งหยุดให้บริการสนามบินเอง แต่ปรากฏว่ากลุ่มพันธมิตรเข้าไปในท่าอากาศยานทั้งสองแห่ง แม้จะเป็นพื้นที่สาธารณะที่จะต้องเข้าไปใช้บริการอย่างหนึ่งอย่างใดเยี่ยงประชาชนทั่วไปที่ใช้บริการ แต่กลับใช้ชุมนุมกดดันรัฐบาล อีกทั้งกลุ่มพันธมิตรชุดแรกที่เข้าไปในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนมากสวมหมวกหรือผ้าปิดบังใบหน้า บางคนถือไม้ ท่อนเหล็ก มีดดาบ หน้าไม้ ส่งเสียงโห่ร้องอื้ออึง ปิดกั้นถนนสาธารณะทางเข้าออกท่าอากาศยานทั้งสองแห่ง ตรวจค้นรถยนต์ทุกคันก่อให้เกิดความเกรงกลัวต่อบุคคลอื่นว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัย

นอกจากนี้โจทก์ยังมีพยานและภาพถ่ายหลักฐานว่า ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ หนึ่งในผู้ชุมนุมนำกลุ่มพันธมิตรเข้ายึดหอบังคับการบิน ซึ่งเป็นเขตหวงห้ามบุคคลภายนอกเข้า อันเป็นการแสดงเจตนาอย่างชัดเจนว่าประสงค์จะให้การให้บริการการบินและการพาณิชย์หยุดชะงักลง ถือได้ว่าเป็นการแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามคำจำกัดความของอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ที่ระบุว่า หมายถึงการใช้กำลังบุกรุกอากาศยานที่กำลังจะทำการบิน บุกรุกท่าอากาศยานหรือบริเวณที่ตั้งของสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการบิน ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม นอกจากนั้นยังกำหนดให้โจทก์ต้องยึดถือความปลอดภัยของผู้โดยสาร ลูกเรือ เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินและสาธารณชนเป็นอันดับแรก การกระทำของจำเลยทั้ง 13 และกลุ่มพันธมิตร ทำให้โจทก์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาดังกล่าวได้ จนเป็นเหตุให้นายเสรีรัตน์ออกคำสั่งหยุดให้บริการสนามบิน เนื่องจากเกรงว่าพนักงานและประชาชนจะไม่ได้รับความปลอดภัย

ประเทศเสียหายอย่างรุนแรง

คดีนี้การเข้าไปชุมนุมในพื้นที่สนามบินของจำเลยกับพวกมีวัตถุประสงค์ปิดท่าอากาศยานทั้งสองแห่งให้หยุดให้บริการ เพื่อยกระดับกดดันรัฐบาล เป็นผลให้ท่าอากาศยานทั้งสองแห่งไม่สามารถให้บริการได้ ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายในหมู่ผู้โดยสารทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ตลอดจนผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างรุนแรง จึงเป็นวัตถุประสงค์ให้เกิดความไม่สงบภายในบ้านเมือง ซึ่งนอกจากจะไม่เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธแล้ว ยังใช้สิทธิเสรีภาพการชุมนุมเกินสัดส่วน จำเลยทั้ง 13 จะอ้างความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญย่อมมิได้ การกระทำของจำเลยทั้ง 13 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์

ประเด็นสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อการกระทำของจำเลยทั้ง 13 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ตามมูลค่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับทางกายภาพ เช่น ประตู กระจก เครื่องสุขภัณฑ์ กล้องวงจรปิด เครื่องหมายบอกทางจราจร อุปกรณ์ต่างๆ และค่าเสียหายเชิงพาณิชย์ อาทิ ค่าเสียหายจากการหยุดให้บริการการบิน ค่าธรรมเนียมการใช้เส้นทาง ค่าเช่าพื้นที่ต่างๆ ดังนั้นเห็นควรให้จำเลยทั้ง 13 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จากการบุกยึดสนามบินดอนเมือง รวม 12 ล้านบาทเศษ และชดใช้ค่าเสียหายจากการบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิ รวม 510 ล้านบาทเศษ เมื่อคำนวณความเสียหายของสนามบินทั้งสองแห่งแล้วเป็นเงิน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2551 จนกว่าจะชำระเสร็จ รวมทั้งให้จ่ายค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์เป็นเงิน 80,000 บาทด้วย

รอถึงบ่ายรัฐสภาได้ฤกษ์ประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า เมื่อถึงเวลา 13.00 น. นายชัย ประธานรัฐสภา เปิดประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้ง มีสมาชิกลงชื่อเข้าประชุม 308 คน ครบองค์ประชุม นายเจริญ คันธวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาเจบีซี ชี้แจงว่า ผลการศึกษามีข้อสังเกต 5 ข้อ คือ 1.การสำรวจและการจัดทำหลักเขตแดนตามเอ็มโอยูปี 2543 เป็นข้อตกลงที่จัดทำเพื่อแก้ปัญหาทวิภาคี และแสวงหาความร่วมมือโดยสันติ และเอ็มโอยู 2543 ไม่ได้มีถ้อยคำใดแสดงว่า ไทยยอมรับแผนที่ระวางดงรัก 1 ต่อ 200,000 และทางการไทยยังเคยทำหนังสือถึงทางการกัมพูชาไม่ยอมรับแผนที่ดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2551 2.การจัดทำหลักเขตแดน ที่ผ่านมาไม่มีความคืบหน้า ไทยจึงควรใช้รูปแบบการเจรจาที่แตกต่างจากเดิม 3.พื้นที่พิพาทคือบริเวณปราสาทพระวิหาร ไทยควรเจรจาให้กัมพูชาเอาสิ่งปลูกสร้าง ประชาชน ทหารออกจากพื้นที่ เพื่อให้พื้นที่พร้อม จัดทำหลักเขตแดน

4.กรณีทางการกัมพูชามักกล่าวหาว่าไทยละเมิดดินแดนพิพาทนั้น ไม่เป็นความจริง คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่า ผู้แทนเจบีซีฝ่ายไทยควรโต้แย้งต่อไปหากมีกรณีทำนองนี้เกิดขึ้น 5.ร่างข้อตกลงชั่วคราวว่าด้วยปัญหาชายแดนบริเวณปราสาทพระวิหาร ฉบับล่าสุดที่แนบบันทึกการประชุมเจบีซี ไทย-กัมพูชา วันที่ 6 เม.ย.2552 ที่พนมเปญ ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้ และต้องเจรจาต่อไป ดังนั้น หนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ และการแนบร่างข้อตกลงชั่วคราว กับบันทึกการประชุมเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ มีวัตถุประสงค์เพื่อแจ้งให้ทราบ มิได้ขอความเห็นชอบ

อภิปราย6ช.ม.ก่อนเลื่อนไป29มี.ค.

น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. อภิปรายว่าทำไมเร่งรีบพิจารณาเรื่องนี้ รัฐบาลจะยุบสภาเดือนพ.ค. ควรให้รัฐบาลใหม่พิจารณา นอกจากนี้หากรัฐสภาเห็นชอบจะเท่ากับรับรองเจบีซีทั้ง 3 ฉบับเลยหรือไม่ เพราะเท่ากับยอมรับเอ็มโอยู 2543 ที่ยังมีปัญหาอยู่ ฉะนั้นควรถอนออกไปก่อน นายอภิสิทธิ์ชี้แจงว่า รัฐบาลไม่มีการเสนอเรื่องใดๆ มาให้สภาแล้วจะมีผลต่ออธิปไตยและดินแดน ขอปฏิเสธว่าไม่ได้เร่งรีบนำเรื่องนี้เข้าสภา เพราะเจบีซีประชุมเมื่อปี 2551 และ 52 ตอนนี้กัมพูชาพยายามจะให้ปัญหาไทย-กัมพูชายกระดับนานาชาติ ถ้าทิ้งเรื่องนี้ไว้ใครจะบอกได้ว่าจะไม่มีต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง ตนไม่ต้องการให้สหประชาชาติหรืออาเซียนเข้ามาพิจารณาเรื่องเขตแดน ซึ่งจะยิ่งยากขึ้นเพราะต้องคุยกับหลายประเทศ เวลานี้ดีที่สุดที่จะร่วมประกาศจุดยืนของประเทศ

ที่ประชุมร่วมรัฐสภาอภิปรายอย่างกว้างขวางกว่า 6 ช.ม. ส่วนใหญ่เป็นห่วงการรับรองเจบีซี จะทำให้ไทยเสียดินแดน กระทั่งนายชัย ประธานที่ประชุมเห็นว่าใช้เวลาอภิปรายมาพอสมควรแล้ว ประกอบกับมีสมาชิกอยู่ในห้องประชุมน้อย จึงเลื่อนไปพิจารณาต่อวันที่ 29 มี.ค.

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์