ทำไมซูเปอร์ไม่ปิดประตูตู้เย็น

ทำไมซูเปอร์ไม่ปิดประตูตู้เย็น


ทำไมซูเปอร์ไม่ปิดประตูตู้เย็น


เมื่อพูดถึงการลดใช้พลังงาน ลดเสพทรัพยากร และลดปล่อยคาร์บอน คนจำนวนไม่น้อยปฏิเสธทันทีว่าลดไม่ได้จนกว่าเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนจะถูกลง หรือจนกว่ารัฐบาลจะลุกขึ้นจัดการระบบระเบียบ สร้างแรงจูงใจต่างๆ นานาที่จะช่วยให้ปัจเจกชนและผู้ประกอบการทั้งหลายมีวิถีชีวิตสีเขียวได้สะดวกสบายขึ้น

ไม่เถียงว่าปัญหาก้อนใหญ่อยู่ที่รัฐบาลไม่ทำหน้าที่  แต่ถ้าเรามองไปรอบๆ ตัว พนันได้เลยว่าต้องเห็นแนวทางแก้ปัญหาการใช้พลังงานฟุ่มเฟือยที่สามารถทำได้ง่ายๆ ทันที วันนี้ เดี๋ยวนี้เลย อาทิเช่น
การติดตั้งประตูตู้เย็นในซูเปอร์มาร์เก็ต

ว่ากันว่าในบรรดาพื้นที่ประกอบธุรกิจทั้งหลาย ซูเปอร์มาร์เก็ตใช้พลังงานสูงสุดต่อพื้นที่ เฉลี่ยราว 77 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตารางเมตร(รายงานนี้คงไม่ได้นับลานสเก็ตน้ำแข็ง)  โดยที่พลังงานครึ่งหนึ่งหมดไปกับตู้เย็นและตู้แช่แข็ง  ตู้เย็นจำนวนไม่น้อยไม่มีประตูปิด เช่น ตู้วางผัก ผลไม้ ไส้กรอก นม เนย

เมื่อครู่นี้ผู้เขียนเข้าไปเยี่ยมชมซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้านตรงปากซอยสุขุมวิท 41 ซึ่งเป็นซูเปอร์ขนาดกลาง มีตู้เย็นเปิดรวมทั้งหมดยาว 50 เมตร  ตู้ยาว 8 เมตรเย็นธรรมดาเอาไว้วางผักนุ่มๆ อย่างผักสลัด  อีก 4 เมตรเย็นฉ่ำเอาไว้วางผักแข็งๆ อย่างฝักข้าวโพด หัวไชเท้า ดอกกะหล่ำ  ที่เหลือ  38 เมตรเปิดอุณหภูมิเย็นจัด วางไส้กรอก แฮม เนื้อสัตว์ ขนมหวาน นม เนย ฯลฯ  นอกจากนี้ยังมีตู้แช่แข็งขนาดประมาณ 2.5 x 1 เมตรที่ไม่มีฝาปิดด้านบน ใส่สัตว์แช่แข็งโป๊ก

ซูเปอร์บางแห่ง เช่น ดิเอ็มโพเรียม เปิดตู้เย็นจนหนาวสั่น ต้องงัดผ้าออกมาห่มก่อนเดินเข้าไปหยิบของ

มีการประเมินว่าหากซูเปอร์ติดตั้งประตูตู้เย็น จะสามารถลดพลังงานได้มากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ทันที  ถ้าคิดเป็นค่าไฟที่ต้องจ่ายก็เยอะโขอยู่  แล้วทำไมเหล่าซูเปอร์จึงไม่คิดติดประตูตู้เย็น?

อันนี้เป็นคำถามที่ชาวยุโรปหลายประเทศตั้งประเด็นต่อซูเปอร์มาร์เก็ตกันมาพักหนึ่งแล้ว (พักหนึ่งหมายถึงหลายปีแล้ว) เพราะซูเปอร์ใช้พลังงานถึง 5 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานที่ใช้ทั้งประเทศอังกฤษ โดยไม่นับค่าขนส่งสินค้า พวกซูเปอร์ยักษ์ใหญ่ก็รับปาก แต่จนบัดนี้ก็ไม่ทำกัน ยกเว้น Asda สาขาตัวอย่างสาขาเดียว

คำตอบก็ไม่ต่างจากบรรดาห้างในเมืองไทย คือเดี๋ยวลูกค้าหยิบของไม่สะดวก ถ้าชั้นทำคนเดียว ชั้นจะขายของได้น้อยลง และลูกค้าจะหันไปช้อปกับซูเปอร์คู่แข่งที่ไม่ติดประตูตู้เย็น เพราะฉะนั้น หากจะให้ชั้นทำ ก็ต้องให้รัฐบาลออกกฎระเบียบบังคับผู้ประกอบการทุกเจ้าให้ลุกขึ้นปฏิบัติโดยพร้อมเพรียงกัน 1-2-3-เอ้า อึ้บ! ติดประตู ประมาณนั้น

ถามต่อว่า ถ้างั้นทำไมเหล่าธุรกิจซูเปอร์จึงไม่รวมตัวสร้างข้อตกลงร่วมกันล่ะ ไหนว่ารักสิ่งแวดล้อมกันมากมาย เป็นห่วงโลกร้อนกันเหลือเกินไงล่ะ นี่ว่าตามคำโฆษณาของทั่นๆ ทั้งหลายหรอกนะ

ถ้าให้เดา คำตอบก็คงเพราะกลัวลูกค้าจะซื้อของน้อยลงถ้าต้องยกมือเปิดประตูตู้เย็น ซึ่งว่าไปแล้วก็อาจเป็นความจริงก็ได้ อันนี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการกลัวที่สุด  วิถีชีวิตเขียวแบบเดียวที่ซูเปอร์และห้างเข้าใจได้คือการช้อปผลิตภัณฑ์เขียว ไม่ใช่การจับจ่ายข้าวของน้อยลง คอนเซ็พนี้ต้องห้าม

แต่นับวัน ผู้บริโภคที่ต้องการสนับสนุนธุรกิจที่ใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมจริงๆ เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ  แม้แต่ในสังคมไทยที่เราบ่นว่ากันทุกวัน

เมื่อเดือนตุลาคม 2552 ห้างเอ็มโพเรียมจับสัตว์ป่ามาขังกรงแคบๆ ท่ามกลางแสงสีเสียงดังลั่น เพื่อเรียกลูกค้าอย่างไร้รสนิยม ไร้การศึกษา และไร้เมตตาธรรมต่อสัตว์ร่วมโลก โดยอ้างว่าเป็นการศึกษาส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติ  ลูกค้าขาประจำตัวจริงที่อาศัยอยู่แถวนั้นหลายคนพร้อมใจกันบอยคอตเอ็มโพเรียม  ลูกค้าเหล่านี้เป็นพวกพลังเงียบ การศึกษาสูง และมีกำลังซื้อ

แน่นอนว่าคนเหล่านี้เป็นคนกลุ่มน้อยในกรุงเทพฯ แต่เขาพร้อมที่จะแห่ไปอุดหนุนผู้ประกอบการใดก็ตามที่ลุกขึ้นทำตัวเป็นทางเลือกขึ้นมา  เป็น "ม็อบแคร์ร็อต"-- รวมพลังอุดหนุนธุรกิจดีๆ ในสังคม

ในปีที่ผ่านมา มีการรณรงค์ปฏิบัติการ "๑๐:๑๐"ลดปล่อยคาร์บอน 10 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2010  เพื่อก้าวไปสู่การบรรเทาไม่ให้โลกร้อนถึงจุดที่เราจะปรับตัวไม่ได้ใน 10 ปีหน้า สิ่งหนึ่งที่ปัจเจกชนสามารถทำได้นอกเหนือไปจากการลดใช้พลังงานส่วนตัว คือการอุดหนุนธุรกิจที่มีมาตรการลดพลังงานในการประกอบการ  คิดดูสิ ซูเปอร์ไหนลุกขึ้นติดประตูตู้เย็น แค่นี้เองก็ลดได้ 10 เปอร์เซ็นต์แล้ว

ใครคิดทำแถวย่านสุขุมวิทก็บอกด้วย ฉันจะขี่รถถีบไปจ่ายตลาดอาหารฝรั่งเมดอินไทยแลนด์เก็บในตู้เย็นมีประตูปิด  คงพอลดรอยตีนคาร์บอนอาหารสำหรับคนติดนมเนยได้บ้างล่ะนา

บทความโดยดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์
ที่มา มูลนิธิโลกสีเขียว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์