อุณหภูมิน้ำทะเลสูงกระทบการเจริญเติบโตของปลา

อุณหภูมิน้ำทะเลสูงกระทบการเจริญเติบโตของปลา



ผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าอุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในหลายๆ พื้นที่ของโลกอาจกระทบต่อปลาบางสายพันธุ์ ทั้งจำกัดจำนวน ชะลอการเติบโต เพิ่มความเครียด และความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ปลาได้

ผลการศึกษาดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสาร Nature Climate Change และจัดทำโดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย โดยเน้นศึกษาปลา Banded Morwong (เป็นปลากระดูกแข็ง อยู่ในอันดับปลากระพง – Perciformes) ซึ่งเป็นปลาสายพันธุ์อายุยืนและอาศัยอยู่ในทะเลทาสมัน (Tasman Sea) ระหว่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

คณะวิจัยใช้ข้อมูลของปลา Morwong ที่เก็บมาตั้งแต่ปี 2453 โดยเน้นไปที่โครงสร้างกระดูกที่เรียกว่า โอโตลิธ (Otoliths) ซึ่งอยู่ในหูชั้นใน ช่วยในการรับรู้การเปลี่ยนแปลงทิศทางทั้งแนวนอนและแนวตั้ง
โครงสร้างนี้มีวงปีคล้ายกับวงปีของต้นไม้

จากข้อมูลทั้งระยะยาวและที่เก็บในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์พบว่าการเจริญเติบโตของปลา Morwong ในบางพื้นที่ลดลงเนื่องจากในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลทาสมันสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดเกือบ 2 องศาเซลเซียส
ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดในบรรดามหาสมุทรในซีกโลกใต้

ผลการศึกษาดังกล่าวจึงส่อนัยว่าอุณหภูมิน้ำที่สูงและมีความเป็นกรดมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อแนวปะการังและปลาอีกหลายสายพันธุ์
รวมทั้งสายพันธุ์ที่จับเพื่อการค้ามูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่ต้องพึ่งพาแนวปะการังเหล่านั้นเช่นกัน

จากข้อมูลที่เก็บจากตัวอย่างปลาสายพันธุ์ต่างๆ ในทะเลทาสมัน คณะนักวิจัยพบการเจริญเติบโตของประชากรปลาที่เพิ่มมากขึ้นในบริเวณตอนกลางของถิ่นที่อยู่ในน่านน้ำออสเตรเลีย ที่แม้อุณหภูมิจะสูงขึ้นแต่ยังถือว่าเย็นอยู่ แต่พบว่าการเจริญเติบโตของปลานั้นช้าลงในบริเวณที่อุณหภูมิสูงขึ้นในส่วนริมขอบทางเหนือของถิ่นที่อยู่รอบๆ นิวซีแลนด์

รอน เธรเชอร์ นักนิเวศวิทยาทางทะเลประจำองค์การวิจัยทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ หรือ CSIRO ซึ่งสนับสนุนโดยรัฐบาลออสเตรเลีย กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วหากอุณหภูมิในสภาวะแวดล้อมสูงขึ้น สัตว์เลือดเย็นจะสนองตอบด้วยการเพิ่มอัตราการเจริญเติบโต แต่ทั้งนี้การเพิ่มดังกล่าวก็มีขีดจำกัด

“เมื่อตรวจสอบการเจริญเติบโตของปลาสายพันธุ์ต่างๆ ในขอบเขตที่พวกมันอยู่อาศัย เราพบหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการเจริญเติบโตที่ช้าลงและความเครียดที่มีผลต่อสภาวะสมดุลภายในร่างกายปลาที่มากขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้ปลาที่อาศัยอยู่ในบริเวณน้ำอุ่นในขอบเขตพื้นที่นั้นต้องใช้พลังงานมากขึ้นในกระบวนการเผาผลาญเพื่อดำรงชีวิต"

เธรเชอร์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมศึกษากับนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ในสถาบันการศึกษาทางทะเลและแอนตาร์กติก แห่งมหาวิทยาลัยทาสเมเนีย กล่าวเพิ่มเติมว่าบรรดาปลาที่มนุษย์จับเพื่อการค้าเป็นปลาที่มักไม่ค่อยว่ายไปที่อื่น และมีแนวโน้มที่จะกลับไปยังพื้นที่วางไข่ หรือเป็นพวกที่ชอบอยู่ตามแนวปะการังเดิม ซึ่งเป็นพวกที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะปลาอายุยืนอย่างปลา Banded Morwong ที่อยู่ได้เกือบร้อยปี หรือปลาที่อาศัยตามแนวชายฝั่ง และปลาน้ำตื้น

อย่างไรก็ดี ปลาบางสายพันธุ์อย่างปลาทูน่าสามารถโยกย้ายถิ่นฐานได้ง่ายกว่า และตอนนี้ก็กำลังอพยพลงใต้ในพื้นที่ที่น้ำทะเลเย็นกว่า

นักวิทยาศาสตร์พบว่าการเจริญเติบโตที่ลดลงอาจสัมพันธ์กับทั้งระดับความเครียดที่เพิ่มขึ้นของปลาจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ปริมาณการใช้ออกซิเจนที่เพิ่มขึ้น และความสามารถในการว่ายน้ำระยะไกลที่ลดลง

ที่มา: สำนักข่าวรอยเตอร์

เครดิต :
เครดิต : ที่นี่ดอทคอม บันเทิงดารา


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์