อยู่อย่างไรกับ…ความเครียด

อยู่อย่างไรกับ…ความเครียด


อยู่อย่างไรกับ…ความเครียด (จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี)

โดย ผศ.จักรกฤษณ์ สุขยิ่ง

คำถามที่มักจะถูกถามอยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นจากผู้ป่วยเอง ญาติผู้ป่วยหรือแม้แต่คนที่รู้จักกันก็ตาม คือทำอย่างไรดีถึงจะหายเครียด หรือทำอย่างไรที่จะไม่ให้คิดมาก บางคนที่ถามก็อาจมีเรื่องราวเดือดร้อนใจหรือกลุ้มใจอยู่ก่อนแล้ว แต่บางคนก็ถามเพื่อเป็นข้อมูลที่เก็บเอาไว้ประดับความรู้ เพราะฉะนั้นคำตอบก็ย่อมแตกต่างกันไป

แน่นอนที่คำตอบนั้นคงจะต้องขึ้นกับเรื่องราวของแต่ละคนว่าเรื่องของความ กลุ้มใจนั้นเป็นอย่างไร ทำนองว่าเรื่องของใครก็เป็นเรื่องของคน ๆ นั้น แต่อย่างไรก็ตามก็พอมีหลักบางอย่างอยู่บ้าง ที่พอจะช่วยให้เราเตรียมตัวหรือรับมือกับความเครียดหรือเรื่องกลุ้มใจได้ดี ขึ้น

ก่อนที่จะพูดถึงแนวทางต่าง ๆ นั้น คงต้องขอบอกข้อมูลบางอย่าง เพื่อจะได้เป็นที่เข้าใจ ให้ตรงกันเสียก่อนเกี่ยวกับเรื่องความเครียดก็คือ อย่าง แรกความเครียดจะเกิดขึ้นกับคนเราได้อยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ ที่รู้สึกกันได้บ่อยก็คือ เรื่องที่ทำให้ทุกข์แต่จริงๆแล้วเรื่องที่ดูเหมือนจะทำให้มีความสุขนั้นก็จะ ทำให้เครียดได้เหมือนกัน

ไม่ว่าจะเป็นการถูกล๊อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง การสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ หรือแม้แต่การพักผ่อนหยุดงานเป็นระยะเวลานานๆเป็นต้น อีกเรื่องหนึ่งคือหลายคนมักจะพูดเชิงถาม ว่าทำอย่างไรดีถึงจะไม่ให้คิดหรือลืมเรื่องนั้น ๆ ไปได้ เพราะคิดถึงทีไรก็ไม่สบายใจทีนั้น ความจริงแล้ว คงลำบากที่จะทำแบบนั้นเพราะสมองคนเราไม่เหมือนเทป ที่จะสามารถลบข้อความหรือภาพบางอย่างที่เราไม่ต้องการได้ อย่างไรความทรงจำก็จะต้องมีอยู่ และเราก็ต้องมีชีวิตอยู่กับความทรงจำนั้นให้ได้ครับ เราจะต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ให้ได้ คงเป็นเรื่องที่ไม่ดีเอาเสียเลย ถ้าต้องมีชีวิตอยู่ไปแล้วก็ต้องขมขื่นไป เราคงต้องปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงบางอย่างในตัวของเรา เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ไม่ฟุ้งซ่าน

แนวทางต่าง ๆ ต่อไปนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยประคับประคองให้เราอยู่ได้ท่ามกลางความเครียด ความสับสน ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราก็เป็นเรื่องที่หลาย ๆ ท่านก็คงรู้อยู่ เพียงแต่จะพยายามรวบรวมให้เป็นหมวดหมู่เรื่องเดียวกันให้มากขึ้นเท่านั้น ลองพิจารณาดูนะครับ

 ตั้งสติกับตัวเองให้ได้ เวลาที่คนเราเกิดความเครียด หลายคนมักจะตั้งตัวไม่ทันปล่อยใจไปกับสิ่งเหล่านั้น คิดไปกับสิ่งเหล่านั้น ผลที่เกิดขึ้นก็คือในสมองจะมีแต่ความวิตกกังวล บางคนเป็นมากจนถึงกับดึงความคิดของตัวเองกลับมาไม่ได้ จมอยู่กับความเครียดนั้น ไม่มีสมาธิที่จะทำอะไร อันนี้คงต้องรีบบอกรีบเตือนตัวเอง ตั้งหลักตั้งใจกันใหม่ ค่อย ๆ คิดค่อย ๆ พิจารณา พยายามอย่าให้อารมณ์พาใจไปให้มากนักการค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ตั้งสติกับตัวเองนั้น จะเป็นการค่อย ๆ เริ่มเรียนรู้จักปัญหา ที่มาของปัญหา และแนวทางที่เราจะใช้แก้ปัญหาได้ดีขึ้น ค่อย ๆ พิจารณาดูว่าข้อดี ข้อเสียที่เรากำลังจะตัดสินใจทำลงไปนั้น มีอะไรบ้าง เรารับได้หรือไม่กับผลเสียที่จะตามมา ทำไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วจึงค่อย ๆ ทำลงไป อย่าปล่อยให้อารมณ์พาไปครับ

อยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด หลายครั้งที่ความเครียดเกิดจากความวิตกกังวลว่าอนาคต หรือวันต่อไปจะเป็นอย่างไร คิดว่าเรื่องแย่ ๆ หรือไม่ดีคงต้องเกิดขึ้น แล้วถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็คงจะต้องเกิดอย่างนี้และอย่างนี้ขึ้นตามมาอีก ยิ่งคิดก็ยิ่งฟุ้งซ่าน สงบสติและอารมณ์ของตนเองไม่ได้ นอนไม่หลับ ต้องรอจนเหตุการณ์มันผ่านไปเสียก่อน จึงค่อยสงบอารมณ์ลงได้ แต่ก็อีกไม่นานก็จะมีเรื่องใหม่ให้คิดตามมา เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ดูช่างเป็นชีวิตที่น่าเหนื่อยมาก
แต่ถ้าลองทบทวนเหตุการณ์ที่เคยคิดมาก ๆ ที่ผ่านไปแล้วก็มักจะพบว่าสิ่งที่เคยคิด สิ่งที่เคยกังวลมักจะไม่ค่อยตรงกับเรื่องจริงๆที่เกิดขึ้นสักเท่าไหร่ หรือถ้าตรงเราก็สามารถที่จะมีชีวิตยืนหยัดอยู่ได้จนถึงวันนี้ (เพื่อที่จะได้ไม่มาคิดมากต่อไปอีกในวันข้างหน้า) เพราะฉะนั้นอย่าเปลืองพลังงานสมองให้กับเรื่องเหล่านี้เลย อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิดไป อนาคตจะเป็นอย่างไรก็คงต้องปล่อยมันบ้าง รอไว้ให้มันเกิดขึ้นจริง ๆ ก่อนแล้วค่อยว่ากันอีกที ทำวันนี้ ตอนนี้ให้ดีที่สุด อยู่กับปัจจุบัน กับตัวเราให้มากที่สุดดีกว่าครับ

 อะไรที่ผ่านมาแล้วก็ให้มันผ่านไปเสียบ้าง มีหลายคนที่หมกมุ่นอยู่แต่กับอดีต กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นไปแล้ว คิด คิด คิด ราวกับว่าอยากจะเข้าไปลบอดีต แล้วเปลี่ยนมันเสียใหม่ อยากจะให้มันเป็นแบบนี้ ไม่อยากจะให้เกิดแบบนั้น คิดไปคิดมาจนไม่มีสมาธิในการทำงาน บางคนใจลอยหลงๆลืมๆ อดีตเป็นเรื่องที่ผ่านไปแล้ว เราไม่สามารถที่จะย้อนกลับไปหามันได้ ใช้มันให้เป็นบทเรียนที่มีค่าจะดีกว่า

หรือถ้าให้ดีก็เสียเวลาอีกหน่อย เพื่อมาคิดว่าพราะอะไรในตอนนั้น เราถึงตัดสินใจทำแบบนั้นลงไป ทำไปเพื่ออะไร แล้วผลตอบแทนที่ได้มันคุ้มกันหรือไม่ ถ้าไม่คุ้มก็คงต้องเตือนตัวเองไว้ว่าครั้งต่อไปจะตัดสินใจอย่างไร เข้าทำนองที่ว่าเจ็บแล้วก็ต้องจำเสียบ้าง

 ยืดหยุ่นกับชีวิตตนเองให้มากขึ้น คนเราจะมีความคาดหวังได้บ้าง เป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับบางคนให้ให้ความสำคัญกับความคาดหวังนั้นมากเป็นพิเศษ ชีวิตของฉันจะต้องเป็นอย่างนั้นครอบครัวของฉันจะต้องเป็นอย่างนี้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะต้องเป็นอย่างนี้ อะไรทำนองนี้ เป็นต้น ความคาดหวังเป็นสิ่งที่ทำให้เรากระตือรือร้น มีกำลังใจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ได้ แต่การยึดติดอยู่กับความคาดหวังมากเกินไป จะเป็นตัวบั่นทอนสุขภาพจิตเราได้ง่าย ๆ ชีวิตทุกคนก็มีสมหวัง ผิดหวังกันได้ สลับกันไป มีได้อย่างหนึ่งก็มักจะต้องเสียอย่างหนึ่ง จะให้ได้ทั้งหมดโดยไม่มีเสียเลยคงจะลำบาก เผื่อใจไว้บ้างกับความ ผิดหวัง ลองคิดดูให้ดีสิครับ ความผิดหวังคงไม่ทำให้ถึงกับชีวิตจะดำเนินต่อไปไม่ได้หรอก เพียงแต่อาจจะรู้สึกแย่ หรือเสียความรู้สึกบ้างเท่านั้นเอง

ลดคำถามที่ขึ้นต้นกับตนเองว่า “ทำไม” ให้น้อยลงบ้าง ทำไมเขาถึงทำกับเราแบบนี้ ทั้งๆที่เราก็ทำดีให้กับเขาทุกอย่างแล้ว ทำไมถึงต้องเป็นเราทำไม ต้องเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น อะไรทำนองนี้เพราะส่วนใหญ่ยิ่งถามก็จะยิ่งไม่มีคำตอบ แล้วก็จะวกวนอยู่กับคำถามเหล่านี้ เหนื่อยเปล่าๆครับคล้ายๆกับว่าเรากำลังถามว่าทำไมพระอาทิตย์ต้องขึ้นทางทิศ ตะวันออก แล้วตกทางทิศตะวันตก มันเป็นคำถาม ที่ไม่รู้จะตอบอย่างไร ทางที่ดีอาจจะลองหยุดคำถามเหล่านี้ แล้วลองถามกับตัวเองว่าแล้วทำไมสิ่งต่าง ๆ จะต้องเป็นแบบที่เราต้องการด้วย อาจจะดีกว่า อาจทำให้เข้าใจความต้องการของตัวเองได้มากขึ้น

มั่นใจในตัวเองให้มากขึ้น บางคนค่อนข้างกลัวในเรื่องเล็กๆน้อยๆไม่ค่อยกล้าทำอะไร กลัวว่าทำไปแล้วจะไม่ดี จะไม่เป็นที่ถูกใจของคนอื่น หรือถ้าไม่ทำแล้วคนอื่นจะไม่สบายใจ แต่ถ้าทำไปก็จะฝืนความรู้สึกของตัวเอง บางคนกังวลว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร ถ้าเราทำแบบนี้จนในที่สุดไม่กล้าที่จะทำใน สิ่งที่อยากจะทำแล้วต้องมานั่งอยู่กับความเครียดของตัวเอง มั่นใจในตัวเองให้มากขึ้นเถอะครับ

 ลดความรู้สึกอ่อนไหวต่อคนรอบข้างให้น้อยลง แล้วทำในสิ่งที่อยากจะทำลงไปบ้าง ถ้าสิ่งนั้นไม่ได้ก่อความเสียหายให้กับตัวเองหรือสังคมรอบข้าง จริง ๆ แล้วถ้าคิดกันให้ดี ๆ ว่าที่เรานั้นคอยกลัวอยู่เรื่อยว่าคนโน้นจะว่า อย่างนี้ คนนั้นจะว่าอย่างไรนั้น มันก็คือความกลัวต่อความคิดของเราเองทั้งสิ้น คิดเองแล้วก็กลัวเองอยู่ คนเดียว เอาชนะใจตัวเองให้ได้ครับ แล้วหลาย ๆ อย่างจะดีขึ้นตามมา

อีกเรื่องหนึ่ง ที่คิดว่ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าที่กล่าวไปข้างต้น ก็คือ การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากครับ จิตใจที่แจ่มใส พร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ นั้น มักจะอยู่คู่กับร่างกายที่สมบูรณ์ เป็นเสมือนภูมิต้านทานให้แก่กันและกัน การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การพักผ่อนให้เต็มที่ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงสิ่งต่า งๆ ที่จะมีผลเสียหรือเป็นโทษต่อร่างกายเหล่านี้จะช่วยให้สุขภาพสมบูรณ์ เป็นหลักที่มั่นคงสำหรับจิตใจ เพื่อที่จะเผชิญกับความเครียดในวันต่อไปข้างหน้าได้ครับ

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ก็หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ได้ไม่มากก็น้อยสำหรับทุกๆท่าน ความจริงแล้วยังมีอีกหลายแนวทาง ที่จะทำให้สุขภาพจิตนั้นดีขึ้นบางอย่างก็จะเหมาะกับคนบางคน บางคนก็รู้ดีอยู่ว่าอะไรคืออะไร แต่หักห้ามใจไม่ให้คิดไม่ได้ครับ ของอย่างนี้คงต้องใช้เวลากันบ้างในการ ที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดของเราเอง ขอให้ลองพยายามกันต่อไปครับเพื่อความสุขในชีวิตของเรา



ขอขอบคุณข้อมูลจาก : จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์