กว่าจะเป็นพระโคและเทพีคู่หาบ ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

กว่าจะเป็นพระโคและเทพีคู่หาบ ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ


เป็นที่ทราบกันดีว่า พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนั้นจะต้องใช้โค หรือพระโค
 
ในพระราชพิธีแรกนาขวัญ เพื่อใช้เสี่ยงทายก่อนฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกจะมาถึง แต่กว่าจะเป็นพระโคในพระราชพิธีพืชมงคล จะต้องมีการคัดเลือกอย่างไร หรือต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างไรนั้นยังเป็นที่สงสัยอยู่ไม่น้อย


ในปีนี้พระโคแรกนา ได้แก่ พระโคฟ้า และพระโคใส ส่วนพระโคสำรอง ได้แก่ พระโคเทิดและพระโคทูน

ข้อมูลระบุว่า พระโคในพระราชพิธีแรกนาขวัญ จะต้องดูท่วงท่าที่สง่างาม ไม่แสดงอาการตื่นตระหนกเมื่อต้องเผชิญกับผู้คนแปลกหน้า รูปร่างที่สมบูรณ์ และมีผิวพรรณสะอาดหมดจด ให้สมกับเป็นพระโคแรกนาขวัญ ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องอาศัยเวลาในการฝึกฝนอย่างมาก ส่วนในการเตรียมความพร้อมเพื่อให้มีการดูแลพระโคให้มีความสมบูรณ์ มีพลานามัยที่แข็งแรง ที่สำคัญต้องมีการฝึกซ้อมในเรื่องของการไถ

การคัดเลือกพระโคนั้น จะกระทำโดยการให้ปศุสัตว์จังหวัดแจ้งให้เกษตรกรทราบว่า เกษตรกรคนใดที่มีโคหรือโคคู่แฝด มีลักษณะดี ถูกต้องตามตำรา มีความประสงค์ และมีเจ้าหน้าที่ไปตรวจดู หากถูกต้องตามตำราจะถูกคัดเลือกเข้ามาน้อมเกล้าฯ ถวาย และฝึกซ้อมให้มีความพร้อม

พระโคที่ใช้ประกอบในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญส่วนมากจะเป็นโคพันธุ์ขาว ลำพูน เพราะได้รับการยอมรับว่าเป็นโคที่มีลักษณะดีตรงตามตำรา เช่น ขนสวยเป็นมัน เขาโค้งงามสีน้ำตาลส้ม ขนตา ขอบตา ผิว หาง จะเป็นสีขาว สูงไม่ต่ำ กว่า 150 ซม. น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 700 กก. มีอายุประมาณ 5-6 ปี และยังไม่ได้ทำหมัน เมื่อคัดเลือกพระโคแล้วจะมีการรีดน้ำเชื้อเก็บไว้ ที่มากกว่านั้นก็คือพระโคแต่ละคู่ต้องสีเหมือนกัน ซึ่งจะมีการคัดเลือกเพียงสองสีเท่านั้น คือสีขาวสำลีและสีน้ำตาลแดง

ลักษณะเด่นในการคัดเลือกพระโคจะมี 5 จุดที่สำคัญ จุดแรกคือ ขวัญที่หน้าผาก ต่อมาเป็น ขวัญที่โคนหู 2 ข้าง เรียกว่า ขวัญทัดดอกไม้ ส่วนขวัญที่หลังตรงหรือที่ใช้สะพายทับ เรียกว่าขวัญสะพายทับ อีกขวัญหนึ่งจะอยู่ที่กลางหลัง เรียกว่าขวัญจักรกะ จะเป็นขวัญที่ค่อนมาทางหัวไม่ไปทางด้านท้ายลำตัว เพราะถ้าไปทางท้าย จะเรียกว่าปัดตก ซึ่งเป็นลักษณะขวัญที่ไม่ดี ทั้งนี้จะต้องมีลักษณะที่ขาดไม่ได้ก็คือ หูดี ตาดี แข็งแรง เขาทั้งสองตั้งตรงสวยงาม


กว่าจะเป็นพระโคและเทพีคู่หาบ ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ


ในการฝึกไถจะนำพระโคที่มีอายุมากมาประกบหนึ่งต่อหนึ่ง ให้ไถไปด้วยกัน จากนั้นจะจับแยกคู่โดยจะให้ประกบคู่ของตนเองและซ้อมไถวันละประมาณ 20 รอบ
 
พอฝึกได้ 3 ปี จะได้เป็นพระโคสำรองก่อน และจากนั้นประมาณ 2 ปี จะได้เป็นพระโคตัวจริง ในปัจจุบันพระโคค่อนข้างจะหายาก หรือไม่ตรงกับคุณลักษณะที่ต้องการ และสิ่งที่แตกต่างจากโคทั่วไปก็คือการอาบน้ำ โดยพระโคจะอาบน้ำทุกวัน เพื่อช่วยลดกลิ่นเหงื่อไคล แมลงรบกวนน้อยลง ลดความอับชื้น ทำให้พระโคสบายตัวขึ้น นอกจากนี้พระโคจะฝึกซ้อมก่อนถึงวันพระราชพิธีประมาณ 2 เดือน จากนั้นจะนำพระโคมาอยู่ที่ท้องสนามประมาณ 10 วัน ก่อนถึงวันจริงเพื่อความเคยชิน

นอกจากการทำพิธีที่ต้องใช้พระยาแรกนา และพระโคแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้และเป็นที่สนอกสนใจของประชาชนในแต่ละปีก็คือ เทพีคู่หาบเงินและเทพีคู่หาบทอง

เทพีคู่หาบทองปีนี้ ได้แก่ นางสาวเดือนเพ็ญ ใจคง เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงานกรมหม่อนไหม และ นางสาวสรชนก วงศ์พรหม นายช่างโยธาชำนาญงาน กรมประมง ส่วนเทพีหาบเงิน ได้แก่ นางสาวศิริลักษณ์ สมสกุล นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ กรมชลประทาน และ นางสาวเจษฎาภรณ์ สถาปัตยานนท์ นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการ กรมสงเสริมสหกรณ์

การคัดเทพีคู่หาบจะเริ่มตั้งแต่การแจ้งรายละเอียด คุณสมบัติต่างๆ ซึ่งหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเป็นผู้รับผิดชอบ

ทำการคัดเลือกข้าราชการหญิงจำนวน 14 คน เป็นข้าราชการระดับ 3 ขึ้นไป เป็นผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แล้ว เป็นโสด เป็นกุลสตรี และมีสุขภาพแข็งแรง จากนั้นก็มีการสัมภาษณ์ พูดคุยถึงการปฏิบัติหน้าที่ในเบื้องต้น รวมถึงการทดสอบพละกำลังในการเดินหาบกระบุงข้าว และความสวยงามอ่อนช้อยในการถอนสายบัว และดูความกลมกลืนกับเทพีหาบคนอื่นๆ ด้วย ที่น่าสงสารก็คือว่าต้องหาบกระบุงที่หนักถึง 10 กิโลกรัมท่ามกลางแดดร้อน

ทั้งนี้ในการฝึกซ้อมจะใช้เวลาประมาณตั้งแต่ต้นปี และฝึกเรื่อยมา ทั้งนี้สาวที่เคยทำหน้าที่คู่หาบในพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจะมาเป็นซ้ำอีกไม่ได้ ที่สำคัญจะต้องเป็นคนที่ทุกคนเห็นชอบและยอมรับ และน่าเชื่อถือ ส่วนการจะเป็นเทพีคู่หาบทองได้นั้น จะต้องเป็นเทพีคู่หาบเงินในปีที่แล้วมาก่อน



กว่าจะเป็นพระโคและเทพีคู่หาบ ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์