โรคแผลในกระเพาะอาหาร เรื่องธรรมดา...ที่ไม่ธรรมดา

โรคแผลในกระเพาะอาหาร เรื่องธรรมดา...ที่ไม่ธรรมดา


โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Peptic Ulcer)

หรือ โรคที่เรียกกันติดปากว่าโรคกระเพาะอาหาร เป็นโรคที่พบได้บ่อยและก่อให้เกิด ความรำคาญและทุกข์ทรมาน เนื่องจากมักจะมีอาการปวดท้องเป็นๆหายๆในบางราย อาจมีอันตรายจากโรคแทรกซ้อน เช่น การตกเลือดในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะทะลุ โรคแผลในกระเพาะอาหาร อาจจะเกิดแผลในกระเพาะอาหาร (Gastric Ulcer) sหรือแผลบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenal Ulcer) ก็ได้ เนื่องจากอาการปวดจะเหมือนกันและสาเหตุของการเกิดโรคก็จะคล้ายกัน จึงมักจะเรียกรวมๆกันว่าเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร(Peptic Ulcer)

โรคแผลในกระเพาะอาหารเกิดจากอะไร

สาเหตุของการเกิดแผลในกระเพาะ อาหาร มีมากมาย แต่ที่เป็นสาเหตุหลักเชื่อว่าเกิดจากความไม่สุมดุลกันระหว่ากรดในกระเพาะ อาหารและเยื่อบุกระเพาะอาหารที่อ่อนแอลง

  1. กรดในกระเพาะอาหาร การที่มีกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น จะทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารได้ง่าย เช่น ความเครียด วิตกกังวล การดื่มชา กาแฟ การทานอาหารไม่ตรงเวลา
  2. การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobactor Pylori หรือที่เรียกสั้นๆว่า H.Pylori เป็นแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญ ของการเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร ติดต่อจากคนสู่คนทางปากโดยการกิน เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะฝังตัวอยู่บริเวณเยื่อเมือกที่คลุมอยู่บนผิวกระเพาะ อาหาร ทำให้มีการอักเสบและเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
  3. การทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร เช่น จากยาแอสไพริน ยาแก้ปวดกระดูกหรือข้ออักเสบ การดื่มสุรา การรับประทานอาหารเผ็ดจัด

อาการ โรคแผลในกระเพาะอาหาร

  1. ปวดท้อง เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด อาการปวดท้องจะเป็นบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือหน้าท้องส่วนบน ลักษณะอาการปวดจะปวดแสบร้อน จุกแน่นท้อง มักจะเป็นเวลาท้องว่างหรือเวลาหิว อาการปวดมักจะเป็นๆหายๆ
  2. จุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องร้องโกรกกราก มีลมในท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
  3. อาการของโรคแทรกซ้อน เช่น อาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายดำ เนื่องจากมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร อาการปวดท้องอย่างรุนแรงเนื่องจากแผลในกระเพาะอาหารทะลุ

การวินิจฉัย โรคแผลในกระเพาะอาหาร

  1. การเอ็กซเรย์กลืนแป้ง (Upper GI Study) เป็นการตรวจด้วยเอ็กซเรย์ ทำได้ง่าย สะดวกสบาย ราคาถูก แต่ไม่ละเอียดพอและไม่สามารถจะนำชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติมได้
  2. การส่องกล้องกระเพาะอาหาร (Gastroscopy) เป็นวิธีการตรวจที่ละเอียดสามารถมองเห็นรายละเอียดของกระเพาะอาหารได้ชัดเจน และยังสามารถนำเนื้อเยื่อไปตรวจเพิ่มเติมได้ ปัจจุบันการส่องกล้องกระเพาะอาหารเป็นวิธีที่นิยมและทำได้อย่างปลอดภัย ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้ยานอนหลับร่วมด้วย
การตรวจหาเชื้อ Helicobactor Pylori สามารถทำได้หลายวิธีดังนี้ 
  1. โดยการตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันติดเชื้อ
  2. การเป่าลมหายใจ (Urea Breath Test)
  3. การตัดชิ้นเนื้อโดยการส่องกล้อง และนำเนื้อเยื่อมาตรวจเชื้อ ทำได้ 3 วิธีดังนี้
    1. นำเนื้อเยื่อมาทำปฏิกริยา
    2. นำเนื้อเยื่อมาส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อตรวจหาเชื้อ
    3. นำเนื้อเยื่อไปเพาะเชื้อ

การรักษา โรคแผลในกระเพาะอาหาร

  1. การรับประทานยายับยั้งการหลั่งกรด เพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหารติดต่อกันนาน 6-8 สัปดาห์
  2. การกำจัดเชื้อ เฮลิโคแพคเตอร์ ไพโลโร (H.Pylori)
  3. การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการเกิดโรคกระเพาะอาหาร กินอาหารให้ตรงต่อเวลา
  4. กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย
  5. หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของดอง น้ำอัดลม
  6. งดบุหรี่ และงดดื่มสุรา
  7. งดการใช้ยาแอสไพริน และยาแก้ปวดข้อปวดกระดูก (NSAID)
  8. หลีกเลี่ยงความเครียดและวิตกกังวล


โรงพยาบาลสมิติเวช

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์