มหัศจรรย์ มะพร้าวไทย คุณภาพก้าวไกลโกอินเตอร์

คนไทยคุ้นเคยกับ “มะพร้าว” มาเป็นเวลาช้านาน ด้วยคุณสมบัติที่สามารถนำส่วนต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า

อีกทั้งยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้อีกหลากหลายประเภท มะพร้าวจึงเป็นพืชที่มีความผูกพันกับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนไทยนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
    
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงสนพระทัยส่งเสริมให้มีการปลูกมะพร้าว ศึกษาหาวิธีป้องกันแมลงทำลายต้นมะพร้าว รวมทั้งพระราชทานอาชีพเสริมให้ชาวบ้านแปรรูปมะพร้าวเพื่อการส่งออก ซึ่งทาง กรมวิชาการเกษตร ได้สนองพระราชดำริโดยมีการศึกษาค้นคว้า จนได้ มะพร้าวลูกผสมกะทิพันธุ์ชุมพร 84-1 ซึ่งเป็นมะพร้าวสายพันธุ์ใหม่ และรับรองเป็นพันธุ์แนะนำเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา
   
ลักษณะทั่วไปของมะพร้าว ดร.สมชาย วัฒนโยธิน นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ให้ความรู้ว่า เป็นพืชที่จัดอยู่ในตระกูลปาล์ม ใบเลี้ยงเดี่ยว โดยจะเจริญเติบโตทางด้านสูงอย่างเดียวไม่แตกกิ่งก้าน เป็นพืชยืนต้นที่มีอายุยืน ถ้าเป็นมะพร้าวพันธุ์ต้นสูงจะมีอายุร้อยกว่าปี ส่วนพันธุ์ต้นเตี้ยจะมีอายุราว 40 กว่าปี
    
มะพร้าวมีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยจึงถือว่าเป็นแหล่งหนึ่งของต้นกำเนิดมะพร้าวที่มีความหลากหลายทางสายพันธุ์ ซึ่งมะพร้าวที่ปลูกในประเทศไทยแบ่งออกเป็น  2 ประเภท คือ มะพร้าวต้นสูง คือ มะพร้าวใหญ่กับมะพร้าวขนาดกลาง อีกประเภทหนึ่ง คือ มะพร้าวต้นเตี้ย
    
“ในส่วนของมะพร้าวต้นสูงจะปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่เน้นผลผลิตที่เป็นผลแก่ โดยจะเอาส่วนเนื้อมาทำกะทิเป็นหลัก ในอดีตยังไม่มีการปรับปรุงพันธุ์ จึงไม่มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมะพร้าวใหญ่และมะพร้าวขนาดกลาง แต่หลังจากที่กรมวิชาการเกษตรได้มีการปรับปรุงพันธุ์แล้ว จึงมีการส่งเสริมให้ปลูกที่เป็นพันธุ์ลูกผสม ซึ่งตอนนี้มีทั้งหมด  5 สายพันธุ์ คือ พันธุ์สวีลูกผสม 1 พันธุ์ชุมพรลูกผสม  60 พันธุ์ลูกผสมชุมพร  2 พันธุ์ลูกผสมกะทิชุมพร 84-1 และพันธุ์ลูกผสมกะทิชุมพร 84-2 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ให้กะทิประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ โดยประเทศไทยนับเป็นประเทศหนึ่งที่มีการบริโภคมะพร้าวกันมาก โดยประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ ใช้ในครัวเรือน และอีก  25 เปอร์เซ็นต์ใช้ในอุตสาหกรรม” 
    

มหัศจรรย์ มะพร้าวไทย คุณภาพก้าวไกลโกอินเตอร์


ขณะที่มะพร้าวต้นเตี้ยจะปลูกเพื่อบริโภคผลอ่อนและดื่มน้ำ

ซึ่งได้แก่ มะพร้าวน้ำหอม ประเทศไทยก็ปลูกในเชิงเศรษฐกิจเช่นกัน โดยมะพร้าวน้ำหอมของไทยเป็นการกลายพันธุ์มาจากมะพร้าวพันธุ์ต้นเตี้ยสีเขียว ที่เรียกว่า หมูสีเขียว เนื่องจากได้มีการนำไปทดลองปลูกที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม แล้ว มะพร้าวหมูสีเขียวนี้กลายเป็นมะพร้าวน้ำหอมขึ้นมาจึงทำให้ไทยมีมะพร้าวสายพันธุ์น้ำหอมนี้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดียวในโลก จึงนับเป็นโอกาสดีที่เราจะได้เปิดตลาดในต่างประเทศ โดยมะพร้าวน้ำหอมที่ใช้ส่งออกนั้นสร้างรายได้ให้กับประเทศประมาณ 200-300 กว่าล้านบาทต่อปี
   
สำหรับประเทศไทย พื้นที่ที่เหมาะในการปลูกมะพร้าวน้ำหอม ดร.สมชาย กล่าวว่า จะเป็นพื้นที่ในภาคกลาง โดยเฉพาะในแถบ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม รวมทั้ง จ.สมุทรสาคร จ.ฉะเชิงเทรา จ.ราชบุรี จ.สมุทรสงคราม เนื่องจากสภาพแวดล้อมมีส่วนทำให้คุณภาพของมะพร้าวน้ำหอมยังคงลักษณะของความหอมอยู่ เพราะถ้านำไปปลูกในที่ห่างไกลออกไป ความหอมจะหายไปหรือจะมีความหอม
น้อยลง
   
ส่วน มะพร้าวต้นสูง พื้นที่ที่เหมาะ คือ ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด เพราะว่ามีปริมาณน้ำฝนสูงกว่า 1,500 มิลลิเมตรต่อปี
 
และมีการกระจายฝนที่ดี มีฤดูแล้งไม่เกิน 3 เดือน โดยจะมีการปลูกกันมากที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวมากที่สุดในประเทศไทย คือ ประมาณ 450,000 ไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.ทับสะแก ซึ่งได้มะพร้าวลูกใหญ่ ฉะนั้น เวลาประกาศขายมะพร้าว จึงใช้มาตรฐานของมะพร้าวที่ อ.ทับสะแก เป็นเกณฑ์ เพื่อให้กระทรวงพาณิชย์ประกาศราคา
   
แต่ในปัจจุบันเนื่องจากสภาวะโลกร้อน ทำให้อากาศมีการเปลี่ยนแปลงส่งผลให้ผลผลิตของมะพร้าวลดลงรวมทั้งมะพร้าวในช่วงหลังมีราคาตกต่ำ เกษตรกรจึงหันไปปลูกปาล์มและยางพาราแทน ทำให้พื้นที่ปลูกมะพร้าวลดลงจากเดิม 2.4 ล้านไร่ เหลือประมาณ 1.4 ล้านไร่
    
ในส่วนของเทคนิคการปลูกมะพร้าวให้ได้ผลดีจะต้องทำอย่างไร นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ อธิบายเพิ่มเติมว่า มะพร้าวจะให้ผลดีต้องมีการดูแลรักษาเป็นอย่างดี ถ้าจะปลูกแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ไม่มีการเอาใจใส่ก็จะไม่ให้ผลผลิตเท่าที่ควร ฉะนั้น เมื่อเข้าหน้าฝนจะต้องใส่ปุ๋ย สูตร 13-13-21 หรือ 12-12-17-2 เพื่อให้มะพร้าวสมบูรณ์ มีความต้านทานและทนต่อสภาพแห้งแล้ง    
   
เมื่อพูดถึงลักษณะเด่นของมะพร้าวไทย ดร.สมชาย ยิ้มพร้อมกล่าวว่า สำหรับมะพร้าวต้นเตี้ยถ้าพูดถึงมะพร้าวน้ำหอม ที่ใช้ส่งออก ลักษณะเด่นของเรา คือ ความหอม และน้ำที่มี รสชาติหวาน ซึ่งตรงนี้เราจะได้เปรียบประเทศอื่น เพราะประเทศอื่นไม่มีมะพร้าวพันธุ์นี้ แต่เขาจะใช้มะพร้าวอ่อนที่เป็นพันธุ์ที่นำมาทำกะทิส่งออกเป็นมะพร้าวน้ำหอมแทน
   
ส่วนมะพร้าวต้นสูง ทั้ง ๆ ที่ปลูกเหมือนกัน ในสภาพเหมือนกัน พอนำมาทำกะทิแล้ว กะทิของมะพร้าวไทยจะมีกลิ่นหอมและรสชาติอร่อยกว่ามะพร้าวในกลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
   
การดูแลรักษาและการเอาใจใส่สวนมะพร้าวของเกษตรกรขึ้นอยู่กับราคาของมะพร้าวเป็นหลัก ภาคอุตสาหกรรมต้องคำนึงว่า จะทำอย่างไรให้เกษตรกรอยู่ได้เมื่อปลูกมะพร้าว โดยมีการป้อนวัตถุดิบเข้าสู่โรงงาน ซึ่งหากสามารถรับซื้อได้ในราคาผลละไม่ต่ำกว่า 12 บาท เชื่อว่าเกษตรกรไทยจะหันกลับมาปลูกและดูแลมะพร้าวอย่างแน่นอน ฉะนั้น ถ้าปลูกในประเทศแล้วรับซื้อในราคาลูกละ 12 บาท กับนำเข้าโดยที่ต้องซื้อสูงกว่า 2-3 บาทต่อลูก ก็น่าจะส่งเสริมและให้การสนับสนุนเกษตรกรไทยดีกว่า.

สารพัดประโยชน์จากมะพร้าว


- น้ำมะพร้าวจากผลอ่อน ใช้เป็นเครื่องดื่มเกลือแร่ได้ อุดมไปด้วยโพแทสเซียม และน้ำ
   
- น้ำมันมะพร้าว ได้จากการบีบหรือต้มกากมะพร้าวบด นำไปใช้ในการปรุงอาหารหรือนำไปทำเครื่องสำอางก็ได้ และในปัจจุบันยังมีการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันมะพร้าวอีกด้วย
   
- เนื้อในของมะพร้าวแก่ นำไปทำกะทิ
   
- กากที่เหลือจากการคั้นกะทิ ยังสามารถนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ได้
   
- ยอดอ่อนของมะพร้าว หรือเรียกอีกชื่อว่า หัวใจมะพร้าว สามารถนำไปใช้ทำอาหารได้ ซึ่งยอดอ่อนนี้มีราคาแพงมาก เพราะเมื่อเก็บยอดอ่อนแล้วจะทำให้ต้นมะพร้าวตาย ด้วยเหตุนี้จึงมักเรียก ยำยอดอ่อนมะพร้าวว่า สลัดเจ้าสัว
   
- ใบมะพร้าว ใช้สานเป็นภาชนะใส่ของชั่วคราว ห่อขนม สานหมวกกันแดด สานเป็นเครื่องเล่นเด็ก และผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกรูปสัตว์ต่าง ๆ ของที่ระลึกประดับตกแต่ง
   
- ใยมะพร้าว นำไปใช้ทำฟูก เสื่อ หรือนำไปใช้ในการเกษตรได้
   
- กะลามะพร้าว มะพร้าวแก่จะมีความคงทนมาก ไม่หดตัวแม้ถูกน้ำ ถูกแดด แต่จะเปราะง่าย หักง่าย หากกระทบกับสิ่งที่แข็ง ๆ ใช้ทำผลิตภัณฑ์ ภาชนะ เครื่องประดับ เครื่องดนตรี ที่วางแก้วน้ำ กระบวยตักน้ำ ที่เขี่ยบุหรี่ เป็นต้น
   
- ก้านใบ หรือทางมะพร้าว ใช้ทำไม้กวาดทางมะพร้าว
   
- จั่นมะพร้าว (ช่อดอกมะพร้าว) ให้น้ำตาล.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์