โรคที่มากับสายฝน

โรคที่มากับสายฝน


โรคที่มากับสายฝน

นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ศัลยแพทย์สมองและระบบประสาท และผู้เชี่ยวชาญกฎหมายการแพทย์

      อากาศระยะนี้ยังคงมีฝนตกอยู่ หลายคนอาจชอบเพราะนอนหลับสบาย แต่หลายคนคงต้องลำบากกับการไปทำงานท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาแบบไม่ลืมหูลืมตา โดยเฉพาะคนที่ต้องพึ่งพารถสาธารณะ ซึ่งอาจจะถึงที่ทำงานหรือกลับบ้านในสภาพเปียกปอน อีกอย่างที่พึงระวังคือโรคภัยไข้เจ็บที่มาพร้อมกับสายฝน

โรคที่มากับอากาศ

      โรคที่มากับอากาศที่รู้จักกันดีก็คือ หวัด ทั้งในรูปแบบของหวัดธรรมดาหรือไข้หวัดใหญ่ แต่ถ้าจะให้ทันสมัยหน่อยก็ต้องไข้หวัดนก (avian flu) ซึ่งมีความรุนแรงขนาดทำให้คนที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอกว่าปกติเสียชีวิตได้ เหตุผลที่ทำให้คนเรามีอาการเป็นหวัดได้ง่ายเมื่อถูกฝน ก็เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจากร้อนชื้นกลายมาเป็นอากาศเย็นอย่างรวดเร็ว ร่างกายจึงไม่สามารถปรับตัวตามอุณหภูมิที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจึงอ่อนแอลง หากเราหายใจเอาเชื้อโรค (เชื้อไวรัส) ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศเข้าไป ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายกว่าในภาวะปกติ ดังนั้นหากเราเปียกฝนก็ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางคนหมู่มาก หรือในบริเวณที่มีโอกาสได้รับเชื้อมากกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่ๆ อากาศไม่มีการถ่ายเท เพราะหากมีคนไอหรือจาม โอกาสได้รับเชื้อและติดเชื้อก็จะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าปกติ
แต่เราสามารถป้องกันโรคหวัดได้ด้วยการปฏิบัติตัวดังนี้

      1. หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างรวดเร็วและกะทันหัน
      2. หลีกเลี่ยงการอยู่ร่วมกับคนหมู่มาก โดยเฉพาะในบริเวณที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
      3. หากต้องตากฝน ให้รีบเปลี่ยนเสื้อผ้าที่เปียกออกโดยเร็ว และเช็ดตัวให้แห้ง แต่ต้องระมัดระวังอย่าให้อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลงจากเย็นเป็นร้อน เร็วเกินไป

     
 


โรคที่มากับสายฝน


โรคที่มากับอาหารและน้ำ

       โรคในกลุ่มนี้มักเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค แต่ถ้ามีระบบสุขอนามัยพื้นฐานถูกต้องแล้วมักไม่ค่อยมีปัญหา ยกเว้นในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ซึ่งทำให้สุขอนามัยพื้นฐานมีปัญหา และมีเชื้อโรคปนเปื้อนในอาหารตามมาได้ ที่พบได้บ่อยๆ คือ อหิวาตกโรค หรือที่เป็นข่าวดังก็คือลำไส้อักเสบรุนแรงจากเชื้ออีโคไล ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายปนมูกเลือดอย่างรุนแรง เสียน้ำมากจนอาจเกิดอาการช็อก หรือติดเชื้อในกระแสโลหิตได้
การป้องกันและหลีกเลี่ยงทำได้โดย

      1. ดื่มน้ำสะอาดที่ต้มสุกหรือผ่านการกรองอย่างถูกต้อง
      2. ล้างมือให้สะอาดก่อนใช้มือรับประทานอาหาร หรือปรุงอาหาร
      3. หลีกเลี่ยงการซักเสื้อผ้าหรือล้างจานชามในแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อน หรือแหล่งน้ำสาธารณะที่ไม่แน่ใจในความสะอาด
      4. ทำความสะอาดของเล่นหรือสิ่งของที่ใช้งานบ่อยๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ โดยเฉพาะของเล่นที่เด็กต้องใช้ร่วมกัน เช่น ในสวนสาธารณะ ในโรงเรียน เป็นต้น
      5. เก็บอาหารและภาชนะให้ห่างจากสัตว์นำเชื้อโรค เช่น แมลงวัน หนู

   


โรคที่มากับสายฝน


โรคติดต่อที่มากับแมลง


      โรคติดต่อที่มากับแมลงที่มีการระบาดมากที่สุดในหน้าฝนคือโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไข้เลือดออกที่อาจทำให้ผู้ป่วยเด็กถึงแก่ชีวิตได้ โดยการป้องกันนับเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมโรคไข้เลือดออก ซึ่งองค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำไว้ดังนี้
 

      1.อย่าปล่อยให้บริเวณบ้านมีน้ำขัง รวมทั้งในแจกันดอกไม้ อ่างน้ำ ขวดเปล่า เพราะน้ำนิ่งๆ จะเป็นที่ซึ่งยุงชอบมาวางไข่ไว้ ทำให้บ้านพักอาศัยของเรากลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่มากัดคนในบ้านเอง โดยตำแหน่งที่คนนึกไม่ถึงและอาจเป็นที่เพาะพันธุ์ยุงได้ก็คือ หลังคาหรือระเบียงบ้านที่มีน้ำขังและคนในบ้านไม่เคยสำรวจ

      2.ติดตาข่ายหรือมุ้งลวด กันยุงบริเวณประตูหน้าต่าง

      3.หากต้องอยู่ในที่ๆ มียุงมากๆ เช่น ที่มืด มีน้ำขัง ให้สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว

      4.หากมีผู้ป่วยไข้เลือดออกในบ้าน ให้แยกผู้ป่วยออกจากคนรอบข้าง และป้องกันมิให้ยุงมากัดผู้ป่วย เพราะเชื้อโรคจะอาศัยยุงเป็นตัวแพร่เชื้อ เมื่อยุงไปกัดคนอื่นๆ ในบ้านต่อ

      5.หากคนในบ้านมีอาการคล้ายหวัด หรือเป็นไข้โดยไม่ทราบสาเหตุแน่นอนเกิน 2-3 วัน ร่วมกับมีผื่นหรือจุดเลือดออกเล็กๆ ตามลำตัว ให้สงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออกเสมอ 
      6.หากไม่แน่ใจว่าป่วยเป็นไข้เลือดออกหรือไม่ ให้ไปพบแพทย์โดยเร็วโดยช่วงอันตรายที่สุดของไข้เลือดออกคือช่วงที่ไข้ลง เพราะจะเป็นช่วงที่มีอาการแทรกซ้อนเกี่ยวกับภาวะเลือดออกผิดปกติ และอาจทำให้ผู้ป่วยช็อกได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็ก หรือคนที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ เช่น คนชรา


โรคที่มากับสายฝน


โรคผิวหนัง

      ปกติแล้วผิวหนังมีหน้าที่หลักในการป้องกันเชื้อโรคมิให้ผ่านเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย แต่ในขณะเดียวกันผิวหนังเองก็เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคแหล่งหนึ่ง โดยเฉพาะในบริเวณที่มีความอับชื้นหรือเป็นซอกหลืบ เช่น เล็บ เมื่อผิวหนังต้องแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานานๆ จะทำให้เชื้อโรคสามารถแทรกซึมผ่านผิวหนังได้โดยง่าย และอาจเกิดปัญหาเชื้อราตามมา การป้องกันทำได้โดยไม่ปล่อยให้ผิวหนังเปียกชื้นเป็นเวลานานๆ ติดต่อกัน โดยเฉพาะบริเวณง่ามเล็บเท้า ขาหนีบ ข้อพับต่างๆ เมื่อต้องลุยน้ำเป็นเวลานานๆ ให้รีบล้างทำความสะอาดเท้าและเช็ดให้แห้งโดยเร็ว


โรคที่เกี่ยวกับหนังศีรษะ

      หนังศีรษะจัดเป็นผิวหนังแบบหนึ่ง จึงสามารถเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคได้ไม่ต่างกับผิวหนังทั่วไป แต่การอักเสบของหนังศีรษะจะยุ่งยากกว่าบริเวณอื่นของผิวหนัง เพราะที่หนังศีรษะจะมีรากผมอยู่ด้วย คนที่ป่วยด้วยโรคผิวหนังบริเวณหนังศีรษะจึงมักมีปัญหาผมร่วงเนื่องจากรากผมถูกทำลายโดยรังแคของหนังศีรษะมักเกิดจากการติดเชื้อราที่หนังศีรษะ ทำให้มีอาการคันและผมร่วงผิดปกติ การสระผมด้วยแชมพูชนิดพิเศษร่วมกับไม่ปล่อยให้ผมเปียกแฉะอยู่เป็นเวลานาน จะช่วยลดอาการคันจากรังแคของหนังศีรษะได้ และหากต้องสระผมบ่อยๆ ควรเลือกใช้แชมพูอ่อนๆ ที่ไม่ระคายเคืองหนังศีรษะมากเกินไป


โรคภูมิแพ้

      โรคภูมิแพ้พบได้บ่อยขึ้นในช่วงหน้าฝนรวมทั้งหน้าหนาวที่กำลังจะมาถึง เพราะอากาศที่เย็นชื้นจะกระตุ้นให้มีอาการมากกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก ซึ่งมักจะพบปัญหานี้ได้บ่อย และหากไม่ได้รักษาให้หายดี ปล่อยให้เป็นเรื้อรัง จะทำให้กลายเป็นไซนัสอักเสบ หอบหืด ตามมาในที่สุด


รู้อย่างนี้แล้วต้องรับมือกับสายฝนกันให้ดี


โรคที่มากับสายฝน


โรคที่มากับสายฝน


โรคที่มากับสายฝน

ขอบคุณที่มา : healthtoday.net


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์