4 สมุนไพรต้านพิษโลหะหนัก


 การใช้ชีวิตประจำวันของเราในปัจจุบันดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก กับการได้รับพิษโลหะหนัก เช่น ปรอท ตะกั่ว สารหนู แคดเมียม โคบอลต์ เป็นต้น ซึ่งโลหะหนักจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการทำงานของเซลล์ ทำให้เซลล์ตาย เกิดความผิดปกติทางพันธุกรรม ตัวการของการก่อมะเร็ง หากได้รับทีละน้อยจะสะสมอยู่ในร่างกาย และทำให้เกิดความผิดปกติของระบบต่าง ๆ ความรุนแรงของพิษโลหะหนักในแต่ละอวัยวะ ขึ้นอยู่กับชนิดของโลหะหนัก ปริมาณที่ได้รับ ช่องทางที่เข้าสู่ร่างกาย รวมถึงปัจจัยทางร่างกายของผู้ได้รับสารพิษ

โลหะหนักที่ตรวจพบได้มากและมีอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตสูง ได้แก่ 

ปรอท (Mercury) : มักพบพนเปื้อนอยู่ในอากาศ น้ำ ดิน ของโรงงานอุตสาหกรรมที่มีปรอทเป็นวัตถุดิบ พบในเครื่องสำอาง เช่น ครีมหน้าขาว และอาหาร ซึ่งปรอทจะเข้าสู่ร่างกายได้โดยการหายใจ การรับประทาน การสัมผัส และยังสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และกระจายไปอวัยวะต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว

ในทางตรงกันข้าม ปรอทจะถูกขับออกจากร่างกายได้น้อยมาก และยังเป็นตัวการสำคัญที่เข้าไปทำลายเนื้อเยื่อสมอง และส่วนควบคุมการมองเห็น ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญที่เกิดจากพิษของปรอท คือ การเกิดโรคมินามาตะ ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีสาเหตุมาจากการกินปลาที่มีสารปรอทปนเปื้อนในปริมาณสูง การได้รับสารปรอททีละน้อย แต่ได้รับมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีอาการสั่น ชัก ปวดปลายมือปลายเท้า หงุดหงิด เหงือกบวมและมีเส้นทึบสีน้ำเงิน เลือดออกง่าย และเกิดภาวะเลือดจาง 

ตะกั่ว (Lead) : ผู้ที่มีความเสี่ยงจากการได้รับพิษตะกั่ว คือ คนงานเหมืองตะกั่ว โรงงานแบตเตอรี่ โรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ซึ่งพิษของตะกั่วมีผลต่อระบบประสาท ตับ ไต หัวใจ และทางเดินอาหาร ทำให้สมองเสื่อมจากพิษตะกั่ว ปวดกล้ามเนื้อ อัมพาต สารตะกั่วจะไปสะสมที่สมองส่วนฮิปโพแคมปัส (hippocampus) ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และความจำ ซึ่งเด็กจะสามารถดูดซึมพิษของตะกั่วได้มากกว่าผู้ใหญ่ และหากได้รับพิษเป็นเวลานานจะมีผลทำให้พัฒนาการทางสมองช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน และทำให้สมองสูญเสียอย่างถาวร

 แคดเมียม (Cadmium) : มักพบในแหล่งทำเหมือง อุตสาหกรรมยาสูบ บุหรี่ พลาสติก ยาง และปนเปื้อนในอาหาร น้ำ และอากาศ เมื่อร่างกายได้รับจะดูดซึมเข้าสู่ทางเดินอาหารและแพร่กระจายไปที่ตับ ม้าม และลำไส้ เมื่อสะสมในปริมาณมากจะทำให้เกิดมะเร็งได้ และหากได้รับเป็นเวลานานจะเกิดการอุดตันภายในปอด หลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง ซึ่งโรคที่เกิดจากพิษของแคดเมียม เรียกว่า โรคอิไต-อิไต

“ทางการแพทย์แผนไทยมีสมุนไพรหลายชนิดที่สามารถมาใช้ในการต้านพิษโลหะหนักได้ อาทิ

 รางจืด : หมอยาพื้นบ้านใช้ในการแก้พิษยาเบื่อ ยาสั่ง ยาฆ่าแมลง พืชพิษ เห็ดพิษ สุราและยาเสพติด รวมทั้ง พิษงู แมลงป่อง ตะขาบ โดยวิธีใช้ในผู้ที่ได้รับพิษรุนแรง ใช้กินใบเพสลาด (ใบที่ไม่อ่อนไม่แก่จนเกินไป) 10 – 12 ใบ ตำคั้นกับน้ำซาวข้าว หรือรากสดที่อายุ 2 ปีขึ้นไป เพียง 1 ราก โขลกหรือฝนกับน้ำซาวข้าวจนขุ่นข้นประมาณครึ่งแก้ว – 1 แก้ว ดื่มเฉพาะน้ำให้หมดทันทีที่มีอาการ หรืออาจใช้รางจืดแห้ง 300 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร ต้มน้ำดื่มครั้งละ 1 แก้ว โดยให้ดื่มขณะอุ่นจะได้ผลดี หรือนำใบหรือรากมาหั่นฝอย ผึ่งลมให้แห้ง บดเป็นผงทำเป็นเม็ดลูกกลอน กินครั้งละ 5 กรัม โดยให้กินทุกหนึ่งชั่วโมงครึ่ง หรือ 2 ชั่วโมง จนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ มีรายงานการวิจัยพบว่าสารสกัดใบรางจืดสามารถลดพิษที่เกิดจากสารตะกั่ว ซึ่งส่งผลต่อความจำและการเรียนรู้ของหนูทดลอง ลดการตายของเซลล์ประสาทโดยผ่านกลไกต้านออกซิเดชั่นและรักษาระดับเอนไซม์ caspase-3 ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการดังกล่าว โดยไม่มีผลลดระดับสารตะกั่วในเลือดและที่สมอง 

ขมิ้นชัน : ขมิ้นชันอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ คือ สารเคอร์คูมิน(curcumin) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และการเกิดพิษจากโลหะหนักหลายชนิดที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับกลไกต้านอนุมูลอิสระดังกล่าว มีการศึกษาพบว่า ขมิ้น ดีกับระบบการป้องกันพิษของแคดเมียมต่อลำไส้ ป้องกันพิษตะกั่วและแคดเมี่ยมต่อสมอง พิษของแคดเมี่ยมต่อไต โดยสารเคอร์คูมินมีผลลดการทำลายโครงสร้างเนื้อเยื่อบริเวณผนังลำไส้ บริเวณเลือดออกลดลง รักษาสมดุลของการหลั่งเมือกในลำไส้ ดังนั้น ผู้ที่อยู่ภายใต้สภาพมลภาะควรหาขมิ้นกินให้ได้ทุกวัน ครั้งละ 1 ช้อนชา วันละครั้ง

 กระเทียม : มีรายงานการศึกษาพบว่า การทดลองกระเทียมมีฤทธิ์ป้องกันและรักษาแคดเมี่ยม และตะกั่วไม่ให้ไปมีผลต่อไต และอวัยวะต่าง ๆ ของหนูทดลอง และช่วยปรับระดับภูมิคุ้มกันในหนูที่มีระดับภูมิคุ้มกันต่ำหลังจากที่ได้รับตะกั่วและแคดเมียม ดังนั้น เราจึงควรรับประทานกระเทียม อย่างน้อยวันละ 7 - 8 กลีบ

 มะขามป้อม : มะขามป้อมเป็นผลไม้ที่มีฤทิ์ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งมีการใช้เป็นยาอายุวัฒนะและบำรุงร่างกายมาอย่างยาวนาน ทั้งยังช่วยแก้ไอได้ดี มีรายงานการวิจัยพบว่า การให้ผลมะขามป้อมบดในขนาด 50 กรัมต่อน้ำหนักตัวหนู 1 กิโลกรัม พร้อมอาหาร มีผลลดการเกิดพิษของตะกั่วต่อตับและไตในหนูทดลองได้ นอกจากนี้ มะขามป้อมยังป้องกันการเกิดสารอนุมูลอิสระที่เกิดจากการได้รับปรอท ดังนั้น การรับประทานมะขามป้อมเป็นประจำวันทุกวันนั้นเหมาะอย่างยิ่งกับผู้ที่อยู่กับมลพิษ”


สำหรับ สมุนไพรที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างของสมุนไพรที่เราคุ้นเคย หาง่าย รับประทานง่าย คงพอที่จะช่วยได้บ้างในสถานการณ์ปัจจุบันที่สภาวะแวดล้อมรอบๆ ตัวเราเต็มไปด้วยมลพิษจากโลหะหนัก






ที่มา ... โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

4 สมุนไพรต้านพิษโลหะหนัก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์