อยู่กันฉันมิตร

อยู่กันฉันมิตร


เมื่อครั้งเยือนวิคตอเรีย

เมืองสวยบนเกาะชื่อเดียวกันริมฝั่งแปซิฟิกด้านตะวันตกของประเทศแคนาดา ดอกไม้สีสวยสดกำลังบานสะพรั่งในต้นฤดูร้อนนั้น เห็นเขาปลูกดอกไม้ประดับตามถนนหนทาง หลากสีหลายพันธุ์เอามารวมกันไว้ในกระเช้าห้อย เกิดเป็นองค์ประกอบที่สวยงาม

 จึงเกิดความคิดว่า

 “ดอกไม้หลายๆ อย่างก็เอามาปลูกรวมกันในกระถางเดียวได้”  บนเกาะมีสวนสาธารณะแห่งหนึ่งซึ่งจำลองสวนญี่ปุ่นมาไว้ โดยนำพันธุ์ไม้มาจากแดนอาทิตย์อุทัยไกลโพ้น แม้เป็นพืชพันธุ์จากคนละท้องถิ่นเมื่อนำมาปลูกในสวนกับไม้เมืองฝรั่ง ก็อยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี

 ต่อมา เมื่อท่องไปในป่าเมืองไทย

ขณะนั่งอยู่ท่ามกลางขุนเขาเขียวมองดูหมู่ไม้หลายหลากชนิดที่รายรอบ ซึ่งอยู่ด้วยกัน เป็นองค์ประกอบที่งดงามเกิดความคิดแบบเดียวกันว่า “ต้นไม้หลายๆ อย่าง ต่างอยู่รวมกันในป่าได้”   ต้นไม้อยู่ด้วยกันได้โดยง่าย ไม่รังเกียจเดียดฉันท์ ไม่มีปัญหา  แต่ทำไมคนเราจึงอยู่ด้วยกันยาก  ถ้าอยู่รวมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป มักจะเกิดความขัดแย้งเป็นเรื่องเป็นราวชวนให้ผิดใจกัน ไม่มากก็น้อย ไม่ช้าก็เร็ว ยิ่งในคนหมู่มาก ปัญหาก็ยิ่งมีมากตาม

      ถาม : “ทำไมคนเราจึงชอบทะเลาะกัน”
      ตอบ : “...”
      ถาม : “ทำไมคนเราจึงไม่อยู่กันด้วยความสงบ”
      ตอบ : “...”
      เงียบ : ต้นไม้ทั้งป่าไม่ตอบ

อ้อ! เพราะต้นไม้ไม่ตอบนั่นเอง จึงอยู่กันได้โดยไม่ทะเลาะเบาะแว้ง  คนเราถ้าจะเอาอย่างต้นไม้ ไม่ตอบ ไม่โต้ ไม่ต่อความ ไม่จองเวรสังคมมนุษย์คงพบความสงบสุขกว่าเดิมอีกมาก

ครั้งหนึ่ง นางมาคันทิยานารี บุตรีพราหมณ์

ผู้มีโฉมเลอเลิศเป็นที่หมายปองของบุรุษตระกูลสูงทั่วไป ผูกใจเจ็บเพราะสมณโคดมที่ไม่หลงรูปงามของตน ได้ว่าจ้างข้าทาสบริวารให้เที่ยวตามด่าพระศาสดาไปทั่วทุกมุมเมืองโกสัมพี ด้วยถ้อยคำเสียดสีผรุสวาทล่วงเกินอย่างรุนแรง แม้จนถึงพระคันธกุฎี ที่ประทับในวัดโฆสิตาราม

พระอานนท์ร้อนใจ

ทูลให้พระพุทธองค์เสด็จไปเสียจากเมืองนั้นแต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระมโนหนักแน่น สงบนิ่ง เยือกเย็นประหนึ่งช้างศึกกลางสนามรบ อดทนลูกศรจากทุกสารทิศ  “อานนท์... ผู้อดทนต่อคำล่วงเกินของผู้สูงกว่าก็เพราะความกลัว อดทนต่อคำล่วงเกินของผู้เสมอกัน ก็เพราะเห็นว่ากำลังพอกัน ยังอาจทำร้ายกันได้ แต่ผู้อดทนต่อคำล่วงเกินของผู้ต่ำต้อยกว่าตน เรียกว่า อดทนสูงสุด  ผู้มีความอดทนและมีเมตตาย่อมอยู่เป็นสุข เปิดประตูความสงบได้โดยง่าย และขุดมูลเหตุแห่งการทะเลาะวิวาทเสียได้”  พระพุทธองค์มิได้ทรงตอบ มิได้ทรงโต้ ทั้งมิได้ทรงหนี แต่ทรงระงับเหตุร้ายทั้งปวงด้วยพระปัญญา พระกรุณาและพระบริสุทธิคุณ  “คนพอใจอย่างไรก็พูดไปอย่างนั้น มนุษย์เราจะไม่ให้คนรักคนชังนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ อานนท์ ถ้าจะต้องหนีไปทุกที่ เราก็จะไม่มีแผ่นดินอยู่เรื่องเกิดที่ใด ควรให้ระงับลงที่นั้นเสียก่อน แล้วจึงค่อยไป”  ในที่สุด เสียงด่าว่าที่กระทบกับศิลาแท่งทึบที่ไม่หวั่นไหว ก็เงียบหายไปเอง สมดังที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ในคราวหนึ่งว่า  “จดหมายที่ส่งแล้วไม่มีผู้รับ ก็ยังเป็นของผู้ส่งฉันใด คำพูดด่าทอที่เราไม่รับ ก็ยังเป็นของผู้พูดฉันนั้น”

แน่นอน ต้นไม้ไม่มีความนึกคิดและถ้อยคำ


แต่เพราะคนเรามีจิตใจซ้ำยังต่างจิตต่างใจ จึงเกิดเป็นอารมณ์และความปรารถนาที่ซับซ้อน อันนำไปสู่วจีกรรมและกายกรรมอันยุ่งเหยิง ยากนักที่เราจะให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยดังใจ

โดยเฉพาะเมื่อดวงจิตที่ต่างความคิดกันนั้นยังเคลือบอยู่ด้วยโลภะโทสะ และโมหะ

คำพูดที่แฝงด้วยความไม่ปรารถนาดี และไม่มีสติปัญญาไตร่ตรอง จึงมักก่อความเดือดเนื้อร้อนใจให้ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น และเป็นมูลเหตุแห่งการทะเลาะวิวาทสืบเนื่อง

ผิดกับคำพูดที่มาจากกุศลเจตนา

มีเมตตากรุณา และมุทิตา ตั้งสติพิจารณาให้เหมาะควรก่อนพูด ย่อมยังความสงบสุขให้เกิดขึ้น ซ้ำยังพาให้เรื่องร้ายปิดฉากลง  จึงควรที่เราจะต้องรู้จักเลือกส่งและรับถ้อยคำอันเป็นสื่อที่สำคัญยิ่งแห่งความเข้าใจของมนุษย์
 
เลือกส่งคำพูด ว่าจะเป็นแบบใด

ระหว่างคำพูดหลอกลวงบิดเบือนกับคำสัตย์จริง คำพูดส่อเสียดยุยงกับคำปรองดองให้สมานฉันท์ คำพูดบ่นว่าด่าทอหยาบคาย มองโลกในแง่ร้าย กับคำไพเราะสร้างสรรค์ชวนให้มองกันในแง่ดีและคำพูดเพ้อเจ้อไร้สาระปราศจากการระมัดระวังใคร่ครวญ กับคำที่อุดมด้วยอรรถสาระประโยชน์

เลือกรับคำพูด เมื่อเสียงกระทบหู

ย่อมก่อให้เกิดการรับรู้ทางโสตวิญญาณ อันนำไปสู่สังขาร-การนึกคิดปรุงแต่งแล้วกลายเป็นเวทนาอารมณ์-ความรู้สึกสุขทุกข์พอใจไม่พอใจก่อนตอบโต้กลับเป็นการกระทำและคำพูด

หากมีสติคุมจิต

ไม่นึกคิดปรุงแต่งเสียงก็เป็นสักว่าเสียงมากระทบเพียงเท่านั้น แล้วหยุดอยู่แค่การรับรู้ เมื่อไม่มีการปรุงแต่งก็ไม่เกิดเป็นอารมณ์สุขทุกข์ เสียงนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หากมีปัญญาใคร่ครวญได้ทัน ก็ยิ่งสามารถพิจารณาแยกแยะให้เห็นประโยชน์จากถ้อยคำนั้น ไม่ว่าจะเป็นคำพูดดีหรือเลว ถ้าเป็นคุณก็น้อมนำไปสู่การเรียนรู้ และตอบสนองด้วยกายกรรมและวจีกรรมที่เหมาะควร ถ้าไร้สาระก็วางเสียไม่ต้องตอบ ไม่ต้องโต้ ไม่ต้องเดือดร้อนวุ่นวาย

เหมือนต้นไม้หลายพันธุ์ที่อยู่ร่วมกันในป่า

ต่างก็ทำหน้าที่ของตนไปตามปกติ แม้จะแตกต่างกันในรูปทรงเทือกเถาเหล่ากอ แต่ก็อยู่ด้วยกันในที่เดียวได้โดยสงบ

คนเราอยู่รวมกัน หากต่างทำหน้าที่ของตน

ไม่ต้องรับคำพูดที่ไม่ควรรับ ไม่ต้องพูดคำที่ไม่ควรพูด ไม่เคลือบแฝงด้วยอกุศลเจตนาต่อกันถึงจะแตกต่างกันในพื้นฐานจิตใจ คนเราก็อยู่ร่วมกันได้โดยสันติสุข เหมือนดอกไม้หลายพันธุ์ในกระเช้า หรือหมู่พฤกษานานาพรรณในป่า ที่คอยประดับประดากันและกัน ให้เกิดเป็นองค์ประกอบของสังคมที่สวยงาม  ...อันเป็นการ “อยู่ฉันมิตร”

 แม้ต้นไม้จะกระทบกระเทือนเบียดเสียดกันบ้าง


ก็คงเป็นส่วนน้อยและเป็นไปโดยปราศจากมายา คนเราถ้ากระทบกันโดยไม่ตั้งใจ ก็ไม่มีแก่นสารอะไรที่ควรยึดถือ  ขอเพียงเราอยู่กันด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ขอเพียงเราไม่ตอบไม่โต้ไม่ต่อความ ไม่จองเวรเท่านั้นสังคมก็อยู่กันด้วยดี มีความสุข  หากใครเขายังไม่ “หยุด” เรา “หยุด” ได้ก็พอแล้ว


อยู่กันฉันมิตร


ขอบคุณที่มา

สังคมธรรมะออนไลน์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์