มอง”น้ำ”เห็น”เมือง” เบื้องหลังน้ำท่วมใหญ่กทม.

มอง”น้ำ”เห็น”เมือง” เบื้องหลังน้ำท่วมใหญ่กทม.

ปริญญา ตรีน้อยใส

(ในอดีต เมื่อน้ำเหนือไหลบ่า น้ำทะเลหนุน คนกรุงต่างดีใจ แต่วันนี้”น้ำเหนือ”และ”น้ำทะเลหนุน”กลายเป็นความทุกข์ใหญ่ของคนเมืองกรุง   ปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้ล้วนมี”ที่มา” 

“ปริญญา  ตรีน้อยใส”ดัดแปลงบทความวิชาการที่เคยเสนอในการประชุมที่ต่างประเทศมาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้  เขานำ”ประวัติศาสตร์”ของกรุงเทพมหานครมาเชื่อมโยงกับมุมมองด้านสถาปัตย์ ในฐานะคณบดีคณะสถาปัตยกรรม แล้วจะเข้าใจว่าทำไม”ความดีใจ”ในอดีต
จึงกลายเป็น”ความทุกข์”ในปัจจุบัน.....    )
                                   
                                                (1)

ทันทีที่บ้านเราเข้าสู่ฤดูมรสุม   น้ำฝนที่ตกลงมาบนผืนแผ่นดินไทย จะมีปริมาณ
เกินกว่าพื้นดินบนดอยดูดซับไว้ จึงไหลหลากตามทางน้ำ เอ่อล้นท่วมหมู่บ้านในที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขา ผ่านมาสู่ชุมชนสองฝั่งทางน้ำสายต่างๆ จนถึงที่ราบลุ่มในภูมิภาคต่างๆของประเทศ ก่อนไหลลงสู่อ่าวไทย
 

สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จังหวะที่น้ำเหนือหลากไหลบ่าตามแม่น้ำสายหลัก   หากประจวบเหมาะกับปริมาณน้ำฝนตกลงในพื้นที่มาก และระดับน้ำทะเลขึ้นสูงน้ำเค็มจะไหลย้อนขึ้นมาสมทบ  
   


กรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทยที่อยู่ไม่ห่างจากปากแม่น้ำจะกลายสภาพเป็นเมืองบาดาลทันที ส่งผลให้การจราจรติดขัด ธุรกิจการค้าหยุดชะงัก และการอยู่อาศัยยากลำบาก  
  


“น้ำท่วม”จึงเป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายต่อเนื่องตลอดมา
 

งานวิจัยของทิวา ศุภจรรยา ที่อาศัยหลักฐานเมืองโบราณในสมัยทวาราวดี อย่างเช่น นครนายก อู่ตะเภา ลพบุรี สุพรรณบุรี อู่ทอง นครปฐม คูบัว เป็นต้น   สรุปไว้ว่า แนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยนั้น   เดิมอยู่ห่างจากแนวปัจจุบันขึ้นไปทางเหนือไกลถึง 140 กม.
  

นั่นหมายความว่า พื้นที่ตั้งของกรุงเทพมหานครเคยอยู่ใต้น้ำมาก่อน


น้ำหลากจะนำดินตะกอนที่อุดมสมบูรณ์จากป่าเขาภาคเหนือ มาทับถมเป็นเวลาหลายร้อยปี   ระดับดินค่อยๆ สูงขึ้น กลายสภาพเป็นทะเลตม หรือที่ราบอันเกิดจากโคลนตะกอนที่สายน้ำพัดมา   เมื่อรวมกับปริมาณน้ำฝนที่พอเหมาะ ก็จะเป็นพื้นที่เหมาะกับการเกษตรยิ่งนัก  


ผู้คนพากันมาตั้งถิ่นฐานหาเลี้ยงชีพ กลายเป็นชุมชนและเมือง

ในเวลาต่อมา   โดยเฉพาะพื้นที่สองฟากฝั่งแม่น้ำหลักสี่สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีน ที่เป็นแหล่งรวมน้ำ ที่หลากมาจากทางภาคเหนือของประเทศ   ส่วนแม่น้ำบางปะกงและแม่น้ำแม่กลอง จะเป็นน้ำที่หลากมาจากเทือกเขาทางด้านตะวันออกและตะวันตก ตามลำดับ
 


ตามสภาพธรรมชาติ พื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีระดับสูงกว่าพื้นที่ฝั่งตะวันออกเล็กน้อย   เป็นเหตุให้ฝั่งตะวันตกมีสภาพเหมาะแก่การเพาะปลูกประเภทพืชสวน   และเป็นที่มาของการเรียกขานว่า บาง เช่น บางกอก บางบำหรุ บางบัวทองบางมด บางแวก บางปะกอก เป็นต้น  
  


ส่วนฝั่งตะวันออกที่มีระดับต่ำกว่า มีสภาพเป็นทุ่ง เหมาะแก่การทำนา เช่น ทุ่งแสนแสบ ทุ่งวัวลำพอง ทุ่งพญาไท ทุ่งสามเสน ทุ่งมักกะสันทุ่งรังสิต ทุ่งดงละคร เป็นต้น    บางพื้นที่จะมีน้ำท่วมขังเป็นประจำ เป็นหนองบึง เช่น หนองจอก บึงกุ่ม เป็นต้น   หรือเป็นที่ลาด(ลุ่ม) เช่น ลาดพร้าว ลาดกระบัง ลาดหลุมแก้ว ลาดยาว ลาดปลาเค้า เป็นต้น
 


ในช่วงฤดูฝน น้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ จะไหลไปตามสภาพพื้นที่ เกิดเป็นทางน้ำขนาดเล็กมากมาย กระจายทั่วพื้นที่   ก่อนจะไหลรวมลงบาง ทุ่ง หนอง หรือคู คลอง สู่แม่น้ำสายหลักทั้งสี่สาย ก่อนที่จะไหลลงสู่อ่าวไทย   ท้องร่องและคูคลองที่เชื่อมต่อกันเป็นระบบทั่วทั้งพื้นที่นั้น เป็นที่มาของรูปสัณฐานของกรุงเทพ ที่พัฒนาต่อเนื่อง
จนกลายเป็นมหานครในปัจจุบัน



แม่น้ำเจ้าพระยาที่คดเคี้ยวอ้อมไปมานั้น มาจากสภาพพื้นที่ราบริมอ่าวไทย   จึงมีการขุดเชื่อมต่อเป็นคลองลัด เพื่อย่นระยะเดินทาง   ดังที่เคยมีบันทึกไว้ว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานีของสยามประเทศนั้น มีการขุดคลองลัด
แม่น้ำเจ้าพระยาหลายแห่ง เช่น คลองลัดบางกอกใหญ่ ทำให้แนวแม่น้ำเดิมกลายเป็นคลองบางกอกน้อย และคลองบางกอกใหญ่ ในปัจจุบัน
   


หรือกรณีคลองลัดนครเขื่อนขัณฑ์ ตรงบริเวณบางกระเจ้า ก็เคยขุดมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ต้องยกเลิกไป   ด้วยเกิดผลเสียหายจากน้ำทะเลหนุนขึ้น สร้างความเสียหายให้กับสวนผลไม้  
  


จนในรัชสมัยปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้รื้อฟื้น คลองลัดโพธิ์ ขึ้นมาใหม่   โดยติดตั้งประตูน้ำ เพื่อรักษาระดับน้ำ และป้องกันการไหลย้อนของน้ำทะเลในฤดูแล้ง   และเพื่อระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาออกทะเลได้ในฤดูมรสุม



แม่น้ำหลักสี่สาย คือ เจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง และแม่กลอง   ยังเป็นโครงข่ายคมนาคมขนส่งสำคัญในอดีต   ชาวบ้านใช้เป็นทางสัญจรติดต่อระหว่างชุมชนที่อยู่ริมน้ำ   ร่วมกับทางน้ำธรรมชาติที่เดิมเคยคดเคี้ยว แต่เปลี่ยนสภาพไป เมื่อมีผู้คนใช้สัญจรผ่านไปมาอยู่เสมอ อย่างเช่น คลองช่องนนทรี คลองสามเสน คลองลาดพร้าว เป็นต้น

              


มอง”น้ำ”เห็น”เมือง” เบื้องหลังน้ำท่วมใหญ่กทม.

    (2)

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ หน้าดินที่มาพร้อมน้ำหลาก เมื่อตกตะกอนจะเป็นสารบำรุงให้พืชพันธุ์ไม้ขึ้นงอกงามตามธรรมชาติ   ฝนที่ตกตามฤดูกาล ทำให้คนไทยมีผลผลิตจากธรรมชาติให้บริโภคตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องลงแรงมากนัก   แม้แต่พืชพันธุ์ไม้ที่เจริญงอกงามรอบบ้าน ก็พอเพียงกับการประกอบอาหารแต่ละมื้อ   จะมีแต่ชาวจีน
ที่อพยพเข้ามาขุดคูยกร่องปลูกผักผลไม้บางชนิดที่ไม่มีในพื้นถิ่น   มีคำเรียกขานพื้นที่ปลูกผักผลไม้นี้ว่า ไร่จีนหรือสวนจีน 
   

 ชาวจีนยังนำวิธีการเกษตรที่ต่างไปจากการทำนาทำไร่แบบเดิม มาช่วยเพิ่มผลผลิต   จนกลายเป็นสินค้าส่งออกของไทย อย่างเช่น ข้าว อ้อย พริกไทย เป็นต้น

ชาวจีนยังทำหน้าที่พ่อค้า รวบรวมผลผลิตทางเกษตรในพื้นที่   มาแลกเปลี่ยนในชุมชน หรือรวบรวมเพื่อส่งออกบริเวณท่าเรือปากแม่น้ำ   จึงเกิดการขุดคลองเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำ เช่น คลองภาษีเจริญ คลองเปรมประชากร คลองแสนแสบ คลองเขื่อนขัณฑ์ เป็นต้น   จนเป็นโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทางน้ำ ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของไทยในยุคหลังสนธิสัญญาบาวริง
 

ยิ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราโชบายนำเอาเทคโนโลยีมาส่งเสริมการเพาะปลูก   นอกจากจะช่วยเพิ่มผลผลิต ให้พอเพียงกับการบริโภคภายในประเทศ ที่จำนวนประชากรเมืองเพิ่มมากขึ้น   ยังเหลือเป็นสินค้าส่งออก นำรายได้เข้าประเทศ   ซึ่งเป็นไปตามกระแสโลก ยุคที่กิจการค้าระหว่างประเทศคึกคักด้วยกองกำลังทางเรือของมหาอำนาจยุโรปครอบคลุมไปทั่วโลก  

พื้นที่เกษตรกรรมแบบใหม่ หรือที่เรียกว่า สวนฝรั่งหรือสวนหลวงเกิดจากการผสมผสานระหว่างทางน้ำตามธรรมชาติดั้งเดิม และทางน้ำที่มนุษย์ขุดขึ้นมาใหม่ อย่างเป็นระบบ เพื่อส่งน้ำเข้าและระบายน้ำออกให้มีปริมาณน้ำเหมาะสมกับการเพาะปลูก   ยังมีการทำเขื่อนและประตูน้ำตามเทคโนโลยีการชลประทาน เช่น ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ คลองรังสิต คลองหนึ่ง สอง สาม สี่ และอื่นๆ เป็นต้น   ล้วนเป็นผลมาจากการวางแผนพัฒนาพื้นที่เพื่อการเกษตรในบริเวณตอนเหนือของกรุงเทพฯ

การขุดคลองใหม่ ทั้งเพื่อการสัญจรหรือการส่งน้ำเพื่อการเกษตร ยังได้ดินมาถมพื้นที่สองฝั่งคลองให้สูงพอควบคุมระดับน้ำ   ดินที่อัดแน่นและเป็นแนวตรง กลายเป็นถนนด้วยการสัญจรทางบกเริ่มเป็นที่นิยมมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4  การขุดคลองลัดจากคลองเตยมาถึงตลาดน้อย (ทางทิศใต้ของย่านคนจีน) เพื่อลดเวลาในการอ้อมคุ้งน้ำ   ทำให้เกิดถนนตรง (ถนนพระราม 4) เป็นต้น   ในทางกลับกัน การตัดถนนใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ทำให้เกิดคลองคู่ขนานกันไป เช่น ถนนสาทรเหนือและใต้ ทำให้เกิดคลองสาทร   ถนนทำให้เกิดคลองราชดำริ และคลองพญาไท   ถนนอังรีดูนังต์ ทำให้เกิดคลองอรชร เป็นต้น 
 

คลองใหม่ที่เกิดขึ้น เมื่อรวมกับคลองเดิมที่มีอยู่ ทำให้กรุงเทพฯ มีลักษณะพิเศษ จนได้ชื่อว่า เวนิสแห่งตะวันออกไกล
 

อิทธิพลจากตะวันตกในยุคนั้น ยังส่งผลให้วิถีชีวิตชาวสยามเปลี่ยนไปมากมาย   โดยเฉพาะรูปแบบการอยู่อาศัย   จากเรือนไม้ใต้ถุนสูง อันเหมาะกับสภาพพื้นที่และภูมิอากาศ จนกลายเป็นแบบอย่างสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นหรือแบบประเพณี ที่เป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมในปัจจุบัน   เริ่มเปลี่ยนเป็นแบบอย่างยุโรป   จากพระราชฐาน วัดวาอาราม กระทรวง ทบวง กรม และสถาบันการศึกษา   จนมีผู้ปรับรูปแบบไปใช้กับอาคารพักอาศัย   
 

 พอบ้านแบบฝรั่งเป็นที่นิยม คนไทยในอดีตก็ฉลาดพอ รู้จักปรับรูปแบบให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและวัสดุที่มีอยู่   จากอาคารก่ออิฐถือปูนก็ปรับมาเป็นอาคารไม้ที่ตกแต่งให้ดูคล้ายตึก หรือการผสมโครงสร้างคอนกรีตและไม้ กลายเป็นบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้

ในเวลาต่อมา   มีการยกพื้นให้มีใต้ถุนที่ก่อปิดด้วยผนังอิฐใต้อาคาร   รวมทั้งการเพิ่มระเบียง มีหลังคาคลุมที่ชั้นบน   เกิดเป็นแบบอย่างเฉพาะบ้านไทยในยุคต่อมา
 

เช่นเดียวกับสภาพพื้นที่ลุ่มและดินอ่อน จึงต้องขุดดินในบริเวณบ้านให้เป็นบ่อน้ำ สระน้ำ หรือเป็นคูน้ำล้อมรอบบริเวณ   ดินที่ขุดได้ จะนำมาถมและบดอัดแน่นพอรับน้ำหนักอาคารได้   พื้นรอบบ้าน กลายเป็นสนามหญ้า ที่สัมพันธ์กับบ่อน้ำสระน้ำ   จนดูคล้ายคฤหาสน์ในยุโรป   เช่น การขุดสระน้ำขนาดใหญ่ในเขาดินที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน ก็เพื่อจะได้ดินสำหรับก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม   สระน้ำรูปวงกลมและคลองน้อยใหญ่ในเขตพระราชวังดุสิต ก็เพื่องานก่อสร้างหมู่พระที่นั่งต่างๆ
 

วิธีก่อสร้างแบบนี้ยังเป็นที่นิยมในรัชสมัยต่อมา อย่างเช่น การตัดถนนและคลองพุทธมณฑลทุกสาย หรือสนามหญ้าหน้าหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มาจากสระน้ำที่อยู่ริมถนนพญาไท ที่ปัจจุบันกลายเป็นภาพลักษณ์อันงดงามของมหาวิทยาลัย

.....จะเห็นได้ว่า การปรับเปลี่ยนบ้านเมืองแบบใหม่ แม้จะทำลายระบบระบายน้ำตามธรรมชาติที่มีอยู่เดิมบ้าง   แต่ก็มีคู คลอง บ่อน้ำ เพิ่มมากขึ้น   ช่วยทำหน้าที่แก้มลิงกักเก็บน้ำและระบายน้ำในฤดูฝน จึงไม่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมแต่อย่างใด.....  

                           


มอง”น้ำ”เห็น”เมือง” เบื้องหลังน้ำท่วมใหญ่กทม.

                   

(3)

ต่อมาการใช้เรือเดินทางไม่เป็นที่นิยม ส่งผลให้ความต้องการถนนจึงเพิ่มมากขึ้น
ทั้งถนนหลักและถนนรอง 
  

นับตั้งแต่มีการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม วิศวกรสมัยใหม่เลือกวิธีการขยายผิวจราจร โดยการถมคลองที่อยู่ด้านข้าง และฝังท่อระบายน้ำขนาดเล็กแทน   เช่นเดียวกับรถบรรทุกที่ประสิทธิภาพดีขึ้น   นอกจากจะช่วยขนส่งสินค้าได้สะดวกรวดเร็วกว่าทางรถไฟ ยังช่วยขนดินจากแหล่งอื่นมาถมที่   เกิดเป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่องและขยายวงออกไปโดยรอบกรุงเทพฯ   ทำให้วิธีการขุดคลองเพื่อทำถนนแบบเดิมหายไป  
  

คลองในกรุงเทพฯจึงหายไปพร้อมกัน   ส่งผลให้คลองขนาดเล็กและคูน้ำที่เคยต่อเนื่องเป็นระบบ ตื้นเขินเน่าเสีย   ยังมีการเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมเป็นที่พักอาศัย สถานที่ประกอบธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรม   เกิดตรอกเล็กซอยน้อยไปทั้งเมือง   การสัญจรทางเท้ารถจักรยานยนต์ และรถยนต์ได้เข้ามาแทนที่เรือ  กรุงเทพฯจึงสูญเสียความเป็นเวนิสแห่งตะวันออกไปในที่สุด
 

เช่นเดียวกับ เทคนิคการก่อสร้างที่เปลี่ยนไป   การก่ออิฐถือปูนและโครงสร้างคอนกรีตหรือเหล็กเริ่มเป็นที่นิยม   ด้วยความคงทนแข็งแรงกว่าไม้   ช่างทำงานง่ายและรวดเร็วยังมีประสิทธิภาพรับน้ำหนักอาคารเพิ่มมากขึ้น   การตอกเสาเข็มเข้ามาแทนที่การถมดินแม้ไม่มีผลใดกับโครงสร้าง แต่ได้กลายเป็นเพียงความคุ้นเคยหรือค่านิยมผิดๆการสร้างบ้านบนที่ดินแปลงเล็ก เลียนแบบการสร้างถนน   มีการขนดินมาถม  
  

ยิ่งบ้านบนดินตรงกับต้นแบบบ้านบนที่สูงในต่างประเทศ จึงเกิดการแข่งขันถมดินระหว่างบ้าน และระหว่างบ้านกับถนน   เป็นการต่อสู้ที่ผลัดกันแพ้และแพ้ในทุกวันนี้

เช่นเดียวกับระบบระบายน้ำที่นำแบบอย่างมาจากต่างประเทศ   แต่ด้วยงบประมาณจำกัด ท่อระบายน้ำส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก และไม่ได้ปรับแก้ขยายตามความหนาแน่นของชุมชน   เมื่อรวมกับสภาพดินอ่อน ทำให้ท่อน้ำแตกร้าวทรุดตัว ไม่ต่อเนื่อง กลายเป็นปัญหาในการไหลของน้ำ 
 

ที่สำคัญ ไม่มีการแยกท่อระบายน้ำฝนออกจากท่อระบายน้ำเสีย ทำให้ของเสียกั้นขวางการไหลของน้ำในท่อระบายน้ำ   กลายเป็นกิจกรรมของการขุดลอกท่อประจำปีของนักโทษชั้นดี ที่จะมีโอกาสออกมาสู่โลกภายนอกได้ โดยแลกกับการทำงานสกปรก คล้ายกับการลงโทษบริการสังคมในประเทศตะวันตก

การก่อสร้างทางหลวงสายต่างๆ ตามแผนพัฒนาประเทศ   ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายของถนนขนาดใหญ่ ที่เชื่อมต่อระหว่างเมือง หรือทางอ้อมเมืองหรือวงแหวนชานเมือง   ล้วนมาจากการถมอัดด้วยดินลูกรัง จนมีระดับสูงกว่าระดับน้ำสูงสุดในรอบหลายสิบปี  
 

 ทางหลวงทั่วประเทศจึงมีสภาพเป็นเหมือนเขื่อน กันไม่ให้น้ำระบายไปมาตามสภาพพื้นที่   แม้จะมีการสร้างสะพานและท่อลอด แต่ก็มีขนาดเล็กหรือแคบ   รวมทั้งจำนวนไม่มากพอรองรับปริมาณน้ำในฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลากได้   จึงไม่แปลกที่ชุมชนเมืองภายในถนนวงแหวน กลายเป็นเหยื่อน้ำท่วมทุกปี

ชุมชนริมน้ำโบราณ ที่ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่เมือง ก็อาศัยความก้าวหน้าทางด้านวิศวกรรม สร้างเขื่อนคอนกรีตลงเสาเข็มแข็งแรงสามารถต่อต้านกระแสน้ำได้ทั้งปี เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนที่เดิมอยู่ริมน้ำหรือในน้ำ แนวเขื่อนจึงสร้างห่างออกมา
  

ความกว้างของแม่น้ำเจ้าพระยา เช่นเดียวกับแม่น้ำสายอื่นจึงมีขนาดเล็กลง   ส่งผลให้มวลน้ำที่เคยหลากลงมา ก่อตัวยกระดับสูงขึ้น จนเอ่อล้นข้ามสันเขื่อนท่วมบ้านเรือน   แต่ที่สำคัญเขื่อนกันน้ำกลายเป็นแนวกันน้ำกลับลงสู่แม่น้ำ ยามเมื่อปัญหาน้ำคลี่คลายลง
 

แนวคิดเรื่องเขื่อนกันน้ำนี้ยังกลายเป็นแบบแผนมาตรฐาน บ้านเรือนแต่ละหลัง
ต่างสร้างทำนบกันน้ำ
   หมู่บ้านจัดสรรก็สร้างแนวกำแพงกันน้ำโดยรอบ   เช่นเดียวกับ ศูนย์การค้า โรงงาน สถานที่ราชการ และนิคมอุตสาหกรรม   อีกทั้งใช้วิธีสูบน้ำออกนอกพื้นที่ยามที่ฝนตกลงมา  
  

น้ำที่เคยหลากไหลไปตามสภาพระดับดินเดิมมาช้านาน เริ่มไม่คุ้นเคยกับเนินดินที่เกิดจากการถมที่หรือแนวกำแพงกันน้ำ   เมื่อรวมกับน้ำที่สูบพ่นออกมา   นอกจากจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น ยังงงงวยไหลวกวนไปมา   กว่าจะหาทางลงสู่อ่าวไทยได้ก็ใช้เวลานานหลายวัน
 

.....น้ำท่วมที่เคยเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ทุกคนรอคอย   เกษตรกรต่างรอฝนจากฟ้า ที่เพาะกล้าให้เจริญงอกงาม   ชาวนาต่างรอน้ำเหนือ นำพาอาหารหรือปุ๋ยโอชะให้ต้นไม้เจริญเติบโต   ชาวสวนต่างรอน้ำทะเลหนุน ที่จะนำพาความเค็มมาผสมกับน้ำที่ไหลลงมา   กลายเป็นสูตรลับทำให้ผลไม้ไทยมีรสชาติถูกปาก คุณภาพถูกใจตลอดมา
 

จึงไม่แปลก ทันทีที่น้ำเหนือหลากลงมาถึงภาคกลาง น้ำเริ่มเต็มตลิ่ง   สัญญาณการเฉลิมฉลองเทศกาลลอยกระทง โมงยามแห่งการคารวะและแสดงความขอบคุณเจ้าแม่คงคาก็จะเริ่มขึ้น

 แต่เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยนไป ธรรมชาติแวดล้อมเปลี่ยนไป   โดยเฉพาะเมื่อโลกเปลี่ยนไปฝนตกไม่ตามฤดูกาล ปริมาณมากขึ้น 
  

น้ำเลยกลายเป็นภัยพิบัติของประเทศ ด้วยประการฉะนี้.....


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์