เตรียมตัวรับ วันเปิดเทอม

เตรียมตัวรับ วันเปิดเทอม


สูตรสำเร็จลด 'ดื้อ!' เปิดเทอม

ใกล้ผ่านพ้นช่วงปิดเทอมปลายและอีกไม่นานบรรยากาศวันเปิดเทอมใหม่ที่คุ้นชินมี ทั้งรอยยิ้ม ความสนุกสนาน เสียงร้องไห้งอแงของเด็ก ๆ ที่ต้องปรับเปลี่ยนเข้าเรียนในสถานที่ใหม่ รวมทั้งมีเรื่องของการเดินทางที่ต้องวางแผนเตรียมความพร้อมกันไว้แต่เนิ่น ๆ สีสันวันเปิดเทอม เหล่านี้กำลังจะเริ่มขึ้น !!
   
แต่ก่อนถึงวันไปโรงเรียน เริ่มต้นการศึกษา นอกเหนือจากการเตรียมหนังสือ ชุด นักเรียน กระเป๋า รองเท้า  ค่าเทอม ฯลฯ อีกสิ่งสำคัญ  ที่คุณพ่อ คุณแม่ผู้ปกครอง  ไม่ควรมองข้ามก็เห็นจะเป็น การปรับตัวเตรียมความพร้อม ก่อนไปโรงเรียน
   
พญ.วิรัลพัชร กิตติธะระพันธุ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลยุวประสารทไวทโยปถัมภ์ ให้ความรู้แนะนำการเตรียมความพร้อมว่า การเตรียมตัวเตรียมใจก่อนไปโรงเรียนนอกเหนือจากลูกๆ คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเตรียมตัวเช่นกันซึ่งการมีความพร้อมเข้าใจถึงสภาพปัญหาของลูกวัยเรียนนั้นมีความสำคัญและปัญหาที่มักพบในลูกวัยเรียนบ่อยครั้งนั่นคือเรื่องของ การไม่ไปโรงเรียน ซึ่งพบประมาณ 4-5 เปอร์เซ็นต์ในเด็กทุกวัยโดยถ้าเกิดขึ้นในกลุ่มเด็กเล็กถือว่าปกติเป็นธรรมชาติ 
   
แต่หากเกิดกับเด็กโตจากที่เคยไปโรงเรียนมาตลอดแล้วไม่อยากไปโรงเรียน ผู้ปกครอง คุณครูควรให้ความช่วยเหลือเพราะอาจเกิดปัญหาร้ายแรงที่ซ่อนอยู่ได้ อย่างเช่น ซึมเศร้า ปัญหาบุคลิกภาพ การปรับตัวหรือความเครียดอย่างอื่น ขณะที่อีกปัญหาเป็นเรื่อง การเรียนรู้ของลูก เรียนไม่ค่อยได้ เรียนไม่รู้เรื่อง ซึ่งอาจมีปัญหาสมาธิสั้น
   
“การไปโรงเรียนแม้จะเป็นหน้าที่ของเด็ก ๆ แต่อย่างไรแล้วการไปเรียนของเด็กบางกลุ่มบางคนอาจมีความเครียด ความวิตกกังวลปะปนอยู่ เช่น เด็กอนุบาลที่กำลังจะเริ่มเข้าโรงเรียนยังมีภาวะติดผู้ปกครอง คุณพ่อ คุณแม่และยังมีความกลัวคนแปลกหน้า แถมซ้ำในบรรยากาศมีเพื่อนคนอื่นร้องไห้งอแง เด็กก็จะมีความรู้สึกกังวลทันทีที่ผู้ปกครองมาส่งโรงเรียน
   
บางคนอาจมีความตื่นตระหนกเกิดความกลัว รู้สึกอ้างว้าง ฯลฯ ก็อาจทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน ในบางครั้งอาจมีข้ออ้างการปวดหัว ปวดท้อง ฯลฯ ที่ทำให้ไม่ต้องไปโรงเรียนซึ่งสิ่งเหล่านี้นั้นจะหายไปได้ภายใน 2-4 สัปดาห์หลังจากโรงเรียนเปิดเทอม”


แต่อย่างไรก็ตามในการเตรียมตัวเตรียมความพร้อมก่อนถึงวันเปิดเทอม คุณพ่อ คุณแม่สามารถทำได้ด้วยการ สร้างบรรยากาศให้อยากไปโรงเรียนด้วยการพาลูกไปทำความรู้จักกับโรงเรียน พบคุณครูพร้อมกับแนะนำบอกเล่าถึงสิ่งดี ๆ สิ่งที่สนุกเมื่อไปโรงเรียนซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้กับเด็ก ๆ อย่างการเล่นกับเพื่อนวัยเดียวกัน อ่านหนังสือ ทำกิจกรรมที่สนใจและอีกสิ่งที่ต้องไม่มองข้ามคือ บอกลูกให้รู้ถึงเวลาที่จะมารับกลับบ้านซึ่งสิ่งนี้จะทำให้ไม่รู้สึกเดียวดาย ลดคลายความกังวลกับการไปโรงเรียนลงได้
   
“สาเหตุการไม่ไปโรงเรียนมีหลายสาเหตุต่างกันไป บางรายอาจมีปัญหาการปรับตัวที่ผิดปกติ อย่างกลัวโรงเรียน กลัวครู กลัวการต้องอยู่ที่โรงเรียน ฯลฯ และส่วนหนึ่งอาจมีผลมาจากปัญหาสุขภาพจิตและแม้มีเปอร์เซ็นต์พบ  ไม่มาก แต่ผลกระทบระยะยาวที่จะเกิดขึ้น มีความน่า เป็นห่วง
   
ทั้งนี้เพราะเด็กที่ไม่สามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้ก็จะทำให้ขาดโอกาสหลายอย่างไปในชีวิตไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิชาความรู้ การปรับตัวเข้ากับสังคมการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น  การเตรียมความพร้อมจึงมีความสำคัญ ผู้ปกครองควรดูแลใกล้ชิด”
   
นอกเหนือจากเด็กเล็กชั้นอนุบาล กลุ่มเด็กโต ที่กำลังศึกษาในชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา ปัญหาความไม่พร้อมไม่อยากไปโรงเรียนอาจมีความต่างกันไป ไม่ได้เกิดจากการต้องห่างไกลจากพ่อ แม่ ผู้ปกครอง แต่อาจเกิดจากความบกพร่องทางการเรียนรู้ เรียนไม่รู้เรื่อง มีปัญหาการอ่าน การเขียน การคำนวณ สมาธิสั้น ฯลฯ ซึ่งทำให้ท้อแท้หมดกำลังใจจะเรียนหนังสือต่อ
   
แต่อย่างไรก็ตามหากค้นพบว่าปัญหาการเรียนของลูกคือสิ่งใดและสามารถให้การช่วยเหลือ แก้ไขแต่เนิ่นๆสิ่งเหล่านั้นก็จะดีขึ้นทำให้เด็กสามารถปรับตัวดีขึ้น มีความสุขกับการไปโรงเรียน นอกจากนี้ในระดับมหาวิทยาลัยเองก็เกิดปัญหาไม่อยากไปเรียนได้เช่นกัน ทั้งนี้เพราะบางคนอาจยังปรับตัวไม่ได้ยังไม่เคยชินกับการเรียนในมหาวิทยาลัย ปีแรกของการเรียนมหาวิทยาลัยจึงพบปัญหาการรีไทร์ การเรียนในมหา วิทยาลัยจึงจำเป็นต้องปรับตัวดูแลตนเองมากขึ้น
  

“การเรียนรู้ของกลุ่มวัยรุ่นจุดหลักเป็นการค้นหาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของตนเองว่าอยากจะเป็นอะไร ชอบอะไรซึ่งเกราะที่จะช่วยป้องกันสร้างภูมิคุ้มกันให้กับพวกเขาควรจะต้องช่วยให้เขาค้นพบความสามารถ ความชอบของตนเองและเมื่อไหร่ที่รู้ว่าชอบอะไรก็จะเกิดแรงจูงใจอยากจะทำสิ่งนั้นให้ดี
   
คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะเป็นพี่เลี้ยงอยู่ข้าง ๆ เป็นผู้ช่วยดูแลแนะนำการเรียนให้ค้นเจอความชอบของตนเอง ซึ่งก็จะเป็นการต่อยอดเตรียมตัวสู่ระดับมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดความเครียดจากการสอบ ระบายความรู้สึกที่กดดันไม่ทำให้รู้สึกว่าอยู่  คนเดียว ซึ่งเมื่อไหร่ที่เขามีความทุกข์ก็จะรู้สึกว่าไม่ได้ ทุกข์คนเดียว”
   
ผู้ปกครองจึงควรมีความเข้าใจโดยเฉพาะ การพัฒนา การตามวัย ซึ่งธรรมชาติของเด็กแต่ละช่วงวัยมีอารมณ์และความต้องการที่แตกต่างกัน อย่างช่วงอายุ 3-6 ขวบ เด็ก ๆ จะซึมซับบทบาทของพ่อแม่ เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ฯลฯ แต่ผู้ปกครองมักมีความกังวลถึงการร้องไห้งอแง ไม่อยากไปโรงเรียนซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ อย่างที่กล่าวเด็กวัยนี้ยังมีความกังวลกับการที่ ต้องห่างจากพ่อแม่ แต่เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งก็จะเรียนรู้ปรับตัวปรับใจ
   
แต่ละช่วงวัยปัญหาจึงมีความต่างกัน เด็กเล็กเป็นเรื่องของการพลัดพราก ขณะที่ วัยประถมเป็นเรื่องของปัญหาการเรียนรู้ เด็กมัธยมเป็นเรื่องการได้รับการยอมรับจากเพื่อน ฯลฯ และจากที่กำลังศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของจิต วิทยาและระบบของการศึกษา จิตแพทย์ท่านเดิมบอกเล่าอีกว่า สิ่งหนึ่งที่จะเป็นคำตอบการศึกษาของเด็กคือ แรงจูงใจ เชื่อว่าถ้ารู้สึกดี ประทับใจกับอะไรก็อยากจะเรียนรู้ศึกษาสิ่งนั้น
   
การเรียนรู้ของแต่ละคนแม้จะต่างกันไป เก่งในวิชาที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ผู้ปกครองควรเพิ่มความสนใจคือ การมองข้อเด่นความถนัด ความสนใจของเด็ก ควรส่งเสริม สิ่งนั้นไม่ว่าจะเป็นด้านกีฬา ดนตรีหรือศิลปะ ฯลฯ ซึ่ง ทั้งหมดนี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้วัยเรียนสนุกไปกับการเรียนและดำรงชีวิตได้อย่างมีศักยภาพ
   
ช่วงเวลาของการเปิดเทอมจึงไม่เพียงแต่ลูกน้อยวัยเรียนที่ต้องเตรียมตัวกับการเข้าเรียน ผู้ปกครองก็ควรเตรียมตัวเช่นกันและอยากให้นึก  ถึงคำที่มีความหมาย เข้าใจ ห่วงใย ให้อภัยและให้โอกาส การเรียนรู้ของลูก แพทย์ท่านเดิมกล่าวและก่อนถึงวันเปิดเทอมช่วงเวลานี้ที่ยังพอมีเวลาเหลืออยู่เป็นอีกโอกาสดีที่ จะปรับตัวเตรียมความพร้อม ต้อนรับการไปโรงเรียนที่ใกล้จะมาถึง.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์