สำรวจพฤติกรรมตัวเอง-อายุยืน 100 ปี จะอยู่ถึงมั้ย

สำรวจพฤติกรรมตัวเอง-อายุยืน 100 ปี จะอยู่ถึงมั้ย


ใครๆก็คงอยากจะมีอายุยืนด้วยกันทั้งนั้น แต่การใช้ชีวิตในยุคสมัยที่รอบตัวเต็มไปด้วยมลพิษและสิ่งยั่วยวนให้ออกนอกลู่นอกทางได้ง่ายอย่างในปัจจุบันดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายสักเท่าไหร่ หลายคนจึงยอมทุ่มเงินมหาศาลไปกับทั้งเวชกรรมและเวชกรรมด้วยความหวังว่ามันจะช่วยยืดอายุออกไปได้บ้างไม่มากก็น้อย 
 
อย่างไรก็ตาม ดร. โทมัส เพิร์ลส์ นักวิทยาศาสตร์ของอังกฤษเปิดเผยว่า ความจริงแล้วการจะมีอายุยืนยาวแค่ไหนนั้น มันก็ขึ้นอยู่ที่พฤติกรรมของแต่ละคนนั่นแหละที่เป็นตัวชี้วัด นั่นก็คือ .....

1. ความเครียด
          เป็นที่รู้กันดีว่าการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบันทำให้เราต้องเผชิญหน้ากับปัญหาในรูปแบบต่างๆมากมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความน่าสนใจจึงอยู่ที่ว่า เรารับมือปัญหาที่เกิดขึ้นได้ดีแค่ไหนและปัญหาเหล่านั้นสร้างความตึงเครียดกับเราได้มากแค่ไหน

 ดร. เพิร์ลส์กล่าวว่า การหายใจลึกๆ และถอยออกมาจากปัญหาสักครู่จะช่วยให้เรารับมือกับปัญหาได้ดีกว่าการพยายามหาทางแก้ปัญหาให้ได้ในเดี๋ยวนั้น ซึ่งก็จะลดความเสี่ยงในการป่วยด้วยโรคหัวใจ มะเร็งและอัลไซเมอร์ได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นการเรียนรู้วิธีการควบคุมลมหายใจ การเล่นไท้เก๊กและโยคะ จะช่วยลดความเครียดให้เราได้เป็นอย่างดี 

แล้วคุณล่ะ จากการประเมินตัวเอง รับมือกับความเครียดได้ดีแค่ไหน ถ้ารับมือได้ดีบวกไป 5 ปี แต่ถ้าไม่ลบไป 5 ปี


2. พันธุกรรม
          "ถ้าในครอบครัวของคุณมีสมาชิกที่เสียชีวิตตอนอายุ 80 หรือน้อยกว่านั้น คุณควรจะเข้ารับการตรวจร่างกายเพื่อหาสิ่งผิดปกติอย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าหากในครอบครัวของคุณมีสมาชิกที่เสียชีวิตตอนอายุ 90 ไปแล้ว ก็ขอให้ดีใจได้ว่า คุณมีแนวโน้มที่จะอายุยืนได้เท่านั้นหรือมากกว่า ... แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะสามารถใช้ชีวิตได้สุดเหวี่ยงอย่างที่หวัง เช่น การสูบบุหรี่" ดร. เพิร์ลส์กล่าว

ถ้าคุณมีสมาชิกในครอบครัวของคุณเสียชีวิตตอนอายุ 90 เศษหรือมากกว่านั้น บวกไปอีก 10 ปี


3. ออกกำลังกาย
         " สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับการออกกำลังกายก็คือ การทำให้ได้เป็นประจำสม่ำเสมอ และสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรลืมในการออกกำลังกายก็คือควรให้ร่างกายได้มีความยืดหยุ่นและแข็งแกร่งไปในเวลาเดียวกัน เพราะเราจะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อไป 1/3 ปอนด์ในทุกปีหลังจากที่เราอายุ 30 ปีไปแล้ว แต่ร่างกายก็จะสามารถสร้างมวลกล้ามเนื้อที่หายไปขึ้นมาใหม่ได้ ถ้าหากคุณออกกำลังกายอย่าสม่ำเสมอ"  ดร. เพิร์ลส์กล่าว

คุณออกกำลังกายวันละ 30 นาทีต่อวัน อาทิตย์ละ 5 วันหรือเปล่า ถ้าใช่ ให้บวกเพิ่มไปอีก 5 ปี ถ้าไม่ลบไป 5 ปี

4. ฝึกสมอง
          "มีหลักฐานยืนยันว่าการฝึกสมองจะช่วยพัฒนาเรื่องความจำของคุณได้มาก และอาจจะลดความเสี่ยงการป่วยเป็นอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย" ดร. เพิร์ลส์กล่าว

 คุณได้ฝึกสมองด้วยการเล่นต่อคำหรือคิดเลขเป็นประจำหรือไม่ ถ้าฝึกให้บวกเพิ่มไปอีก 5 ปี

5. ควบคุมอาหาร
          "น้ำหนักตัวที่มากเกินไป หรือพูดง่ายๆ ว่าอ้วน เป็นบ่อเกิดที่นำมาซึ่งโรคต่างๆมากมาย เพราะฉะนั้น ลดปริมาณอาการในแต่ละมื้อลง อย่ากินระหว่างมื้อ มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีน้ำหนักตัวมากเพราะพฤติกรรมการกินที่มากเกินไป เพราะฉะนั้นอย่ากินให้อิ่ม หยุดกินซะก่อนที่จะอิ่มจะดีที่สุด" ดร. เพิร์ลส์กล่าว

คุณควบคุมอาหารอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ ถ้าไม่ทำลบไป 5 ปี แต่ทำอยู่ก็ดีแล้ว แต่ไม่ต้องบวกอายุเพิ่ม

6. สูบบุหรี่
          ในข้อนี้คงไม่ต้องพูดอะไรกันมาก ทุกคนคงเคยได้ยินพิษภัยของการสูบบุหรี่มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่สรุปก็คือ การสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณมากกว่าการปล่อยตัวให้อ้วนเสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่สูบบุหรี่ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ 

ถ้าคุณสูบบุหรี่ลบออกไป 15 ปี แต่ถ้าไม่ ก็ไม่ต้องบวกเพิ่ม


คงจะทำให้แต่ละคนได้รู้แล้วว่าการใช้ชีวิตแบบที่เป็นอยู่มีความเสี่ยงจะอายุสั้นมากแค่ไหน เมื่อรู้แล้ว ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ ก็ยังไม่สายที่จะทำให้คุณมีอายุยืนยาวที่แม้จะไม่ถึงร้อยปี แต่ได้อยู่กับคนที่เรารักให้นานที่สุด .... ก็น่าจะพอ   
 


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์