คำถามที่อยากรู้...ก่อนทำเลสิก

คำถามที่อยากรู้...ก่อนทำเลสิก


เลสิก หรือ LASIK ย่อมาจาก Laser in Situ Keratomileusis เป็นชื่อของการผ่าตัดแก้ไขสายตาที่ผิดปกติวิธีหนึ่ง ทำโดยการเปิดกระจกตา (Cornea) ด้านผิวบนออก แล้วใช้ลำแสงเลเซอร์ปรับเปลี่ยนความโค้งของกระจกตาในชั้นลึกลงไปตามที่จักษุแพทย์คำนวณไว้แล้ว จากนั้นปิดแผ่นกระจกตาที่เปิดไว้กลับลงดังเดิม เพื่อให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนเหมือนเวลาที่สวมแว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์อยู่ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้

ทราบได้อย่างไรว่าทำเลสิกได้หรือไม่

         คำถามนี้ จักษุแพทย์จะเป็นผู้ตอบหลังจากที่ได้ทำการตรวจสภาพดวงตาของคุณโดยละเอียดแล้ว ซึ่งการตรวจที่สำคัญได้แก่ การตรวจสภาพของกระจกตาและดวงตาโดยใช้กล้องขยายพิเศษสำหรับตรวจตา (Slit lamp) การตรวจแผนภูมิความโค้งของกระจกตา (Corneal topography) การวัดความหนาทั้งหมดของกระจกตา (Pachymetry) การวัดสายตาเพื่อให้ได้ค่าความผิดปกติของสายตาที่ถูกต้องแม่นยำ รวมทั้งทำการหยอดยาขยายรูม่านตาเพื่อตรวจจอประสาทตาด้วย 

       มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และมีระดับสายตาคงที่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนกำลังของเลนส์แว่นสายตา หรือคอนแทคเลนส์มาอย่างน้อย 1 ปี
       มีปัญหาหรือข้อจำกัดในการใช้แว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์อันเนื่องจากสุขภาพตา การประกอบอาชีพ หรือกิจกรรมสันทนาการต่างๆ 
       ไม่มีโรคของกระจกตาหรือดวงตาใดๆ ที่จะมีผลต่อกลไกการสมานแผลของกระจกตา เช่น โรค SLE หรือภาวะตาแห้งที่รุนแรง คนที่เป็นเบาหวานก็ทำได้หากคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้แล้ว 
       ไม่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร 
       มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถ่องแท้ และมีความคาดหวังที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลของการทำเลสิก เช่น เข้าใจว่าเลสิกไม่สามารถแก้ไขภาวะสายตาผู้สูงอายุ (Presbyopia) เนื่องจากการสูญเสียความสามารถในการปรับโฟกัสของเลนส์ตาและกล้ามเนื้อภายในลูกตาได้ ดังนั้นถ้าได้รับการแก้ไขสายตาผิดปกติชนิดสั้น ยาว และเอียงโดยเลสิกไปแล้วเมื่อมีอายุถึงกว่า 40 ปีขึ้นไป คุณจะยังคงจำเป็นต้องใช้แว่นสายตาช่วยในการทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตาในระยะใกล้ เช่น การอ่านหนังสือ

    การทำเลสิกมีภาวะแทรกซ้อนอะไรได้บ้าง

        การเห็นแสงไฟกระจายเป็นแฉก (Glare) หรือรัศมีรอบดวงไฟในเวลากลางคืน (Halo) หรือมองเห็นไม่ชัดเจนในที่มีแสงสว่างน้อย (Night vision problem) โดยเกิดขึ้นได้กับบางคนหลังจากทำเลสิก ส่วนมากมักพบในผู้ที่มีรูม่านตาขนาดใหญ่ หรือมีระดับสายตาผิดปกติมากก่อนการรักษา ซึ่งภาวะนี้จะเป็นอุปสรรคในการขับรถยนต์ยามค่ำคืน แต่โดยทั่วไปปัญหานี้มักดีขึ้นได้เองจนไม่เป็นปัญหาภายในช่วง 2-3 เดือนแรก ซึ่งจะมีคนส่วนน้อยมาก (< 1%) ที่ปัญหานี้เป็นอย่างถาวร 
       ภาวะตาแห้ง (Dry eyes) จะทำให้รู้สึกแสบ เคือง ระคายตา ตามัวเป็นๆ หายๆ โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้สายตาต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานๆ ภาวะนี้อาจจะรุนแรงได้ในรายที่มีตาแห้งอยู่เดิมตั้งแต่ก่อนการทำเลสิก แต่มักจะดีขึ้นได้ภายหลัง 2-3 เดือนแรก แต่ก็มีน้อยคนที่ประสบปัญหาตาแห้งอย่างถาวร ภาวะนี้บรรเทาได้ดีเพียงใช้น้ำตาเทียมหยอดตาเมื่อมีอาการตามที่จักษุแพทย์แนะนำ และหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้อาการตาแห้งเป็นมากขึ้น เช่น ระวังอย่าให้ลมจากช่องแอร์หรือพัดลมเป่าบริเวณใบหน้าโดยตรง ทั้งนี้อาการตาแห้งหลังทำเลสิกนี้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ต่อดวงตาหรือการมองเห็น
       ปัญหาในการแยกชั้นกระจกตาด้านผิวบนพบได้ราว 1% ของทั้งหมด ปัญหานี้อาจจะทำให้ต้องปิดกระจกตาที่แยกชั้นออกแล้วกลับลงดังเดิมก่อน ซึ่งจะไม่เกิดความเสียหายใดๆ กับดวงตา รอให้กระจกตาปรับตัวสู่สภาพเดิมอีกประมาณ 3 เดือน แล้วจึงลงมือทำเลสิกอีกครั้ง 
       สายตาไม่คมชัดในบางขณะ พบได้น้อยกว่า 2% ของทั้งหมด เป็นอยู่เพียงระยะสั้นๆ หลังการรักษาและจะค่อยๆ ดีขึ้นได้เองในที่สุดหลังจากที่ดวงตาคืนสู่สภาพปกติ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติมใดๆ 
       การอักเสบบริเวณรอยเชื่อมระหว่างชั้นกระจกตาด้านผิวบนและด้านล่าง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสมานแผล โดยทั่วไปจะมีปฏิกิริยาน้อยมาก และจะค่อยๆ หายไปเองโดยไม่ต้องรักษา อย่างไรก็ดีพบว่ามีผู้ป่วยส่วนน้อย (< 1%) ที่พบการอักเสบชนิดนี้ในระดับรุนแรง จนจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยใช้ยาหยอดตาบรรเทาการอักเสบ หรือแม้กระทั่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขพิเศษจากจักษุแพทย์ 
       การติดเชื้อของแผลที่กระจกตา เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อยมากเช่นกัน แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็สามารถก่อให้เกิดความเสียหายกับกระจกตาได้ แต่ปัญหานี้สามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงปฏิบัติตามคำแนะนำของจักษุแพทย์อย่างเคร่งครัดภายหลังการรักษา หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝุ่นละอองมาก และป้องกันไม่ให้น้ำเข้าตาเป็นเวลา 1 สัปดาห์ รวมทั้งงดว่ายน้ำหรือกีฬาทางน้ำชนิดอื่น เป็นเวลา 2 สัปดาห์ กลับมาตรวจตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง และใช้ยาหยอดตาตามที่แพทย์แนะนำโดยเคร่งครัด หลังจากที่แผลหายเรียบร้อยแล้ว ความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อของดวงตาจะไม่แตกต่างจากดวงตาที่ไม่เคยทำเลสิก 

    อะไรคือการปรับแต่งเพิ่มเติม หรือ Enhancement ของการทำเลสิก
         โดยปกติแล้วการตอบสนองของเนื้อเยื่อของเราต่อปัจจัยภายนอก จะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยมีขอบเขตของการผันแปรอยู่ช่วงหนึ่ง ในการทำเลสิกขอบเขตของความผันแปรมักจะมีเพียงเล็กน้อย ดังนั้นภายหลังการทำเลสิกส่วนใหญ่จะมองเห็นได้ชัดเจนโดยการรักษาเพียงครั้งเดียว แต่ในบางรายการตอบสนองจะมีขอบเขตที่กว้างทำให้ต้องการการปรับแต่งและรักษาเพิ่มเติมชดเชย เพื่อให้ได้ผลของการมองเห็นดีที่สุดตามที่คำนวณไว้ ซึ่งจักษุแพทย์ผู้ทำการรักษาจะทำการพิจารณาความเป็นไปได้ร่วมกับความต้องการของผู้ที่มารักษาตามความเหมาะสม 

    เจ็บมากไหมเวลาทำเลสิก
         ไม่เจ็บ เพราะเลสิกเป็นการรักษาที่ทำได้โดยใช้ยาชาชนิดหยอดเท่านั้น ไม่ต้องฉีดยาชาแต่อย่างใด แต่ในขณะที่จักษุแพทย์กำลังทำการเปิดกระจกตาโดยใช้เครื่องแยกชั้นกระจกตา (Microkeratome) อาจรู้สึกคล้ายมีแรงกดบนดวงตาอยู่นานประมาณ 15-20 วินาที แต่จะไม่รู้สึกเจ็บ 

     ทำไมเลสิกจึงเป็นที่นิยมในปัจจุบัน
        จริงอยู่ที่การผ่าตัดแก้ไขสายตาที่ผิดปกติมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน แต่เลสิกมีข้อดีเหนือวิธีอื่น คือ สามารถรักษาสายตาผิดปกติได้แม่นยำและถาวรในระดับที่ยอมรับได้ในวงการจักษุแพทย์ทั่วโลก ใช้เวลาในการผ่าตัดและพักฟื้นสั้น แผลหายเร็ว สามารถมองเห็นได้ชัดเจนในเวลารวดเร็ว ไม่ต้องฉีดยาชา เพียงใช้ยาชาชนิดหยอด และไม่มีการเย็บแผล 

    เตรียมตัวอย่างไร ถ้าจะทำเลสิก
         ต้องไปรับการตรวจสภาพตาโดยละเอียดจากจักษุแพทย์ก่อน เพื่อดูว่าดวงตาของคุณอยู่ในสภาพที่เหมาะสมจะทำผ่าตัดหรือไม่ โดยคนที่ใช้คอนแทคเลนส์อยู่จะต้องงดใช้เลนส์อย่างน้อย 3 วัน ถ้าเป็นเลนส์ชนิดนิ่ม (Soft lens) และงดอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ถ้าเป็นเลนส์ชนิดแข็ง (Hard lens) แล้วสวมแว่นสายตาแทนในช่วง เพื่อให้เวลาแก่กระจกตาในการคืนรูปร่างตามธรรมชาติ ผลการตรวจวัดสายตาและแผนภูมิความโค้งของกระจกตา รวมทั้งความหนาของกระจกตา จึงจะถูกต้องแม่นยำ




ขอบคุณ : HealthToday

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์