รู้จักอาการเจ็บหน้าอก ที่ไม่เกี่ยวกับหัวใจ

รู้จักอาการเจ็บหน้าอก ที่ไม่เกี่ยวกับหัวใจ


สาเหตุที่ทำให้คนเราส่วนใหญ่เกิดความกังวลเมื่อมีอาการเจ็บหน้าอกว่าจะเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ก็เนื่องจากโรคนี้อาจจะทำให้หัวใจวายเฉียบพลันและเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว แต่จริงๆ แล้วอาการเจ็บหน้าอกไม่จำเป็นต้องเกิดจากโรคหัวใจขาดเลือดเสมอไป เพราะอาจจะเกิดจากโรคของอวัยวะอื่นก็ได้

อาการเจ็บหน้าอกที่ไม่เกี่ยวกับโรคหัวใจมีอะไรบ้าง

 อาการเจ็บหน้าอกอาจจะเกิดจากโรคทางหลอดอาหาร (esophagus) ซึ่งเป็นทางที่อาหารไหลจากปากไปถึงกระเพาะอาหาร กล้ามเนื้อและกระดูกซี่โครงของหน้าอกหน้าหัวใจ กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี และตับอ่อน(ซึ่งอยู่ใกล้กับหัวใจ) อย่างเช่น อาการเจ็บแสบหน้าอกที่เกิดจากกรดไหลย้อน(GERD) จากกระเพาะอาหารขึ้นไประคายเคืองต่อหลอดอาหาร ซึ่งทำให้เกิดความกังวล เนื่องจากมันอยู่ใกล้กับหัวใจ และมีเส้นประสาทความรู้สึกร่วมกับหัวใจ ทำให้มีอาการคล้ายกัน โดยประมาณ 30 % ของผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกและตกใจจนต้องรีบไปตรวจหาความผิดปกติของหัวใจหลายอย่าง รวมทั้งการสวนหลอดเลือดหัวใจฉีดสีเอกซเรย์หลอดเลือดหัวใจ (cardiac angiogram) แต่กลับไม่พบอะไร เมื่อตรวจต่อไปจึงพบว่าที่จริงแล้วเกิดจากหลอดอาหาร 

อาการเจ็บหน้าอกจากกรดไหลย้อนที่ฝรั่งเรียกว่า heart burn นั้นอาจจะมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วยที่เราสามารถใช้ในการสังเกตได้ เช่น มีกรดเปรี้ยวๆ ขมๆ ย้อนขึ้นไปที่คอ ซึ่งแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินบางแห่งจะมีสูตรในการทดลองรักษาและวินิจฉัยที่เรียกว่า GI cocktail (เป็นส่วนผสมของยาลดกรดและยาแก้ปวด) ถ้าผู้ป่วยกินเข้าไปแล้วมีอาการทุเลา แพทย์ก็สามารถแยกโรคได้ แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น อาจจะทดสอบด้วยการใช้ยากดการหลั่งกรดของกระเพาะที่เรียกกันว่า proton pump inhibitor(PPI) เช่น omeprazole, lansoprazole โดยจะให้ทดลองกินดูสักหนึ่งสัปดาห์ ถ้าได้ผลก็ให้กินต่อไปเพื่อรักษากรดไหลย้อน ถ้าไม่ได้ผลก็ต้องตรวจหาสาเหตุต่อไป คือ

การตรวจว่ามีกรดไหลย้อนเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ด้วยการใช้เครื่องมือเล็กๆ คล้ายแคปซูลยา (ที่มีการส่งข้อมูลผ่านระบบไร้สายเข้าเครื่องตรวจมอนิเตอร์) สอดเข้าไป แล้วทำให้มันคาอยู่ที่หลอดอาหารเหนือกระเพาะอาหาร เพื่อคอยตรวจวัดความเป็นกรดในหลอดอาหาร โดยที่ผู้ป่วยยังสามารถใช้ได้ชีวิตตามปกติ ซึ่งวิธีการตรวจแบบนี้เรียกว่า ambulatory pH testing

หากการตรวจด้วยวิธีนี้สามารถยืนยันได้ว่ามีกรดไหลย้อนมากและเข้ากันได้กับอาการที่เกิดขึ้น ก็เชื่อได้ว่าอาการเจ็บหน้าอกเกิดจากกรดไหลย้อน แพทย์ก็ทำการรักษาโรคกรดไกลย้อนต่อไป คือรักษาทางยาก่อน ถ้ารักษาทางยาไม่ได้ผล ก็ต้องผ่าตัดโดยการเย็บกระเพาะอาหารส่วน fundus ให้ไปโอบรอบหลอดอาหารตรงเหนือรอยต่อกับกระเพาะอาหาร(fundoplication) ทำให้มีแรงรัดเป็นวาล์วกันกรดไหลย้อนได้

 การเจ็บหน้าอกเกิดร่วมกับการกลืนลำบาก แต่ในบางกรณีอาจจะมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมกับการกลืนลำบาก ก็จะต้องใช้การตรวจวินิจฉัยและรักษาที่แตกต่างออกไปจากที่กล่าวมา คือ

- การเอกซเรย์หลอดอาหารด้วยการกลืนสารเหลวทึบรังสี ซึ่งจะทำให้รังสีแพทย์มองเห็นความผิดปกติทางกายภาพและการทำงานบีบตัวขับเคลื่อนของหลอดอาหาร ทำให้วินิจฉัยโรคบางอย่างได้ เช่นมะเร็ง การเป็นแผลที่เยื่อบุหลอดอาหารจากการกินยาเม็ดใหญ่โดยไม่กินน้ำตาม แล้วมันไปครูดหลอดอาหาร (ทำให้เจ็บหน้าอก) การตีบแคบของหลอดอาหาร หรือการไม่คลายตัวของกล้ามเนื้อหูรูดตรงรอยต่อของหลอดอาหารและกระเพาะอาหารหรือ Achalasia (เอ-คา-เล-เซีย)

- การส่องกล้องตรวจ การใช้กล้องตรวจจะทำให้มองเห็นรายละเอียดของผิวเยื่อบุหลอดอาหารมากกว่าการทำเอกซเรย์ นอกจากนี้ยังทำให้สามารถตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อที่สงสัยว่าเป็นโรค (เช่นเป็นมะเร็ง) เพื่อเอาไปตรวจทางพยาธิวิทยา จะได้ให้การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องได้ เช่น ถ้าเป็นมะเร็งก็ต้องรักษาแบบมะเร็ง ถ้ามีแผลเป็นตีบตันหลอดอาหารก็รักษาการตีบ เช่น ใช้บอลลูนถ่างขยาย ถ้ากล้ามเนื้อหูรูดไม่คลายตัวหรือ Achalasia ก็อาจจะรักษาโดยการฉีดยาคลายกล้ามเนื้อที่เรียกว่า botulinum toxin (หรือที่คนไทยคุ้นหูว่าโบท็อกซ์) หรือการผ่าตัด

ส่วนสาเหตุอย่างอื่นที่ทำให้เกิดอาการเจ็บแถวหน้าอกนอกจากหลอดอาหารคือ

 โรคของกระเพาะอาหาร เช่น กระเพาะเลื่อนขึ้นสู่อก (hiatal hernia) หรือโรคของถุงน้ำดี เช่น นิ่วในถุงน้ำดี ถุงน้ำดีอักเสบ หรือตับอ่อนอักเสบ เพราะโรคเหล่านี้ก็ทำให้มีอาการปวดใกล้หัวใจ บางครั้งจึงแยกกันยาก

 โรคของกล้ามเนื้อและกระดูกอกไก่และซี่โครงตรงหน้าอกหน้าหัวใจ โรคนี้อาจเกิดจากการกระแทก ซึ่งบางกรณีทำให้รอยต่อของกระดูกซี่โครงแยกจากกระดูกอกไก่ หรือมีการอักเสบของรอยต่อ หรือรอยต่อของกระดูกซี่โครงอ่อนกับซี่โครงแข็งแยกหรืออักเสบ(costochondritis) จึงมีอาการปวดจี๊ดๆ หรือกดเจ็บบริเวณที่อักเสบ การรักษาโรคนี้จะรักษาตามอาการ ซึ่งหากแพทย์อธิบายให้เข้าใจว่า กว่าจะหายปวดต้องใช้เวลาเป็นอาทิตย์ ก็จะช่วยลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยได้

 โรคของปอดหรือช่องอก(ที่ปอดอยู่) ก็ทำให้เจ็บหน้าอกได้ เช่น การอักเสบของปอด ลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดปอด หรือเยื่อหุ้มปอดอักเสบ หรือบางกรณีการหอบหืดก็ทำให้เจ็บแน่นหน้าอกได้

แต่ทางที่ดี และคลายความวิตกกังวล ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงจะดีที่สุด


ขอบคุณ : HealthToday

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์