รักษ์หัวใจ ในที่ทำงาน ให้ปลอดโรค

รักษ์หัวใจ ในที่ทำงาน ให้ปลอดโรค


 สมาพันธ์หัวใจโลก องค์กรระดับโลกที่ทำหน้าที่รณรงค์ต่อสู้โรคหัวใจและอัมพาตให้แก่ชาวโลก ได้ถือเอาวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนกันยายนเป็น “วันหัวใจโลก” มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 และเพื่อฉลองครบรอบ 10 ปีของการจัดงานวันหัวใจโลกในประเทศไทย มูลนิธิหัวใจฯ สมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ โรงพยาบาลและเครือข่ายต่างๆ จึงได้ร่วมกันจัดงานวันหัวใจโลกขึ้น เพื่อรณรงค์ในหัวข้อเรื่อง “รักษ์ หัวใจ ในที่ทำงาน” ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น มาหาคำตอบกัน


ความจริงเกี่ยวกับโรคหัวใจ

1. ต้องหมั่นดูแลรักษาหัวใจ เพราะ
             
คนไทยตายด้วยโรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มขึ้น จาก 7.9 คน/ประชากรแสนคนในปี 2542 เป็น 21.2 คนในปี 2551
             
คนไทยป่วยด้วยโรคหัวใจขาดเลือดมากขึ้น จาก 81.9 คน/ประชากรแสนคนในปี 2542 เป็น 276.83 คน ในปี 2551
             
ทุกปีคนไทยจะป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือดอย่างน้อย 2-3 คน/ประชากร 1,000 คน โดยในจำนวนนี้จะมีคนตายจากโรคหัวใจขาดเลือดอย่างน้อย 2 คนทุก 10 ปี
             
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตายหรือขาดเลือดเป็นสาเหตุการตายอันดับ 4 ของผู้ชายไทยในปี 2548 หรือเท่ากับร้อยละ 7.3 ของการตายทั้งหมด และเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ในผู้หญิงไทย หรือเท่ากับร้อยละ 8.6 ของการตายทั้งหมด

2. คนทำงานที่ป่วยหรือตายจากโรคหัวใจ
             
แต่หากพิจารณาเฉพาะคนทำงานพบว่า เกือบทุกปีคนไทยวัยทำงาน 1,000 คนจะตายจากโรคหัวใจขาดเลือด 1 คน หรือภายในเวลา 17 ปี คือตั้งแต่ปี 2528-2545 คนไทยวัยทำงาน 1,000 คนจะตายจากโรคหัวใจขาดเลือด 15 คน ส่วนผลการศึกษาพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ 3,317 คน พบอัตราการตายจากโรคหัวใจขาดเลือดถึง 50 คนในระยะเวลา 17 ปี หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของการตายทั้งหมด

สาเหตุการตายจากโรคหัวใจ  
             สำหรับสาเหตุที่ทำให้คนไทยป่วย หรือตายจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้น ก็เนื่องจากว่าคนไทยเป็นเบาหวาน ความดัน(โลหิตสูง) ไขมัน(ผิดปกติ) (สูบ)บุหรี่ และอ้วนพีมีพุง เพิ่มขึ้น โดยในปี 2547 ชายไทยร้อยละ 28.8 มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวตั้งแต่ 2 ปัจจัยขึ้นไป ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 29.4 ในปี 2552 ส่วนหญิงไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21.3 เป็น 25.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน

             โดยน้ำตาลในเลือดสูงจากเบาหวานจะทำให้หลอดเลือดหัวใจอักเสบ ไขมันสูงจะไปพอกหลอดเลือดหัวใจที่อักเสบให้ตีบลง ขณะที่ความดันโลหิตสูงจะกระแทกหลอดเลือดที่ตีบจนปริแตกเป็นแผล เกิดก้อนเลือดมาปิดปากแผล ส่วนบุหรี่และความอ้วนทำให้เลือดข้นมากขึ้น ก้อนเลือดจึงมีขนาดใหญ่ขึ้นจนปิดรูหลอดเลือดหัวใจ ทำให้หัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย บางครั้งหัวใจเกิดการเต้นผิดปกติรุนแรง จนเสียชีวิตเฉียบพลันได้

ส่วนสาเหตุที่ทำให้คนไทยเป็นเบาหวาน ความดันสูง ไขมันสูง สูบบุหรี่ และอ้วนมากขึ้น ก็เนื่องมาจาก 7 อ. คือ

            
1. อ. อาหาร : อร่อยเกิน ทั้งจากอาหาร
                  - หวานเกิน รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบันคนไทยกินน้ำตาลเฉลี่ยถึงวันละ 23 ช้อนชา สูงกว่าคนอเมริกันที่กิน 22 ช้อนชา ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วคนไทยไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 6-8 ช้อนชาต่อวัน
                  - ไขมันเกิน มีชายไทยที่มีคอเลสเตอรอล (ไขมันไม่ดี) สูงเกิน 240 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรมีอยู่ร้อยละ 13.7 ในปี 2547 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 16.7 ในปี 2552 ขณะที่ตัวเลขของหญิงไทยที่มีคอเลสเตอรอลสูงเกิน อยู่ที่ร้อยละ 17.1 และ 21.4 ในช่วงเวลาเดียวกัน6 นอกจากนี้ ในปี 2552 ชายไทยร้อยละ 34.9 และผู้หญิงไทยร้อยละ 57.8 ยังมีระดับไขมันดี (เอชดีแอล) อยู่ในเกณฑ์ต่ำอีกด้วย
                  - เกลือเกิน คนไทยโดยเฉลี่ยกินเกลือโซเดียมกว่า 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนคนไทยที่ความดันโลหิตสูงจะกินมากกว่า 7,000 มิลลิกรัมต่อวัน ทั้งๆ ที่ฝรั่งตัวโตๆ ได้รับคำแนะนำว่าไม่ควรกินเกลือโซเดียมเกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวันเท่านั้น
                  - กินผักน้อยเกิน ชายไทยกินผักผลไม้ตามคำแนะนำ (คือมากกว่า 5 ส่วนหรือ 5 ฝ่ามือต่อวัน) เพียงร้อยละ 20 ในปี 2547 ก่อนที่จะลดลงเหลือร้อยละ 16.9 ในปี 2552 ส่วนหญิงไทยที่กินผักผลไม้อย่างพอเพียง ก็มีจำนวนลดลงจากร้อยละ 24 เหลือร้อยละ 18.5 ในช่วงเวลาเดียวกัน

            
2. อ. อิริยาบถ : สบายเกิน เพราะขาดการออกกำลังกาย โดยประมาณ 1/4 ของคนกรุงเทพ หรือคนไทยในเขตเทศบาลมีกิจกรรมทางกายไม่พอเพียง คือ มีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางไม่ถึงครึ่งชั่วโมงต่อวัน
            
3. อ. อ้วน : เอวเกิน โดยชายไทยอ้วนมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 22.5 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 28.4 ในปี 2552 ส่วนหญิงไทยอ้วนมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.4 เป็นร้อยละ 40.7 ในช่วงเวลาเดียวกัน 
            
4. อ. อารมณ์ : เครียดเกิน ความเครียดจากภาวะซึมเศร้าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และเป็นภาระโรค ๑๐ อันดับแรกของคนไทยในปี 2552 โดยในปี 2550-2551 คนไทยวัยทำงานมีภาวะซึมเศร้าร้อยละ 2.2-4.1 
            
5. อ. อากาศ : เป็นพิษเกิน จากการสูบหรือดมควันบุหรี่ และมลพิษในเมือง โดยในปี 2552 ชายไทยร้อยละ 38.7 สูบบุหรี่เป็นประจำ ส่วนหญิงไทยสูบบุหรี่เพียงร้อยละ 2.1 แต่ว่าคนไทยเกือบร้อยละ 80 ต้องดมควันบุหรี่จากผู้อื่น (สูบบุหรี่มือสอง) อยู่บ่อยๆ
            
6. อ. เอื้ออาทรไม่พอ : เห็นแก่ตัวเกิน ปัจจุบันสังคมมีความเห็นแก่ตัวมากเกินไป จนขาดความเอื้ออาทร ขาดการดูแลซึ่งกันและกันของคนในครอบครัวและผู้คนรอบข้าง ทำให้คนรู้สึกโดดเดี่ยวหรือเกิดความเครียด 
            
7. อ. เอื้ออำนวย : สิ่งแวดล้อม บริโภคนิยมเกิน เพราะสิ่งแวดล้อมที่เน้นการบริโภค ขาดการสนับสนุนให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ทำให้เกิดความเครียดและการบริโภคเกินตามมา



ทำไมต้องใส่ใจหัวใจในที่ทำงาน    
             หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วทำไมต้องมาใส่ใจหัวใจในที่ทำงาน รอให้เป็นโรค(หัวใจ)ก่อน แล้วค่อยรักษาไม่ดีกว่าหรือ คงต้องบอกว่าไม่ดีแน่ เพราะ “ป้องกัน ดีกว่าแก้ ป่วยแล้วมักแก้ไม่ทัน” และจากสถิติพบว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลันร้อยละ 30-50 “ตาย” ก่อนถึงโรงพยาบาล ส่วนคนไทยที่รอดตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันร้อยละ 17 ไม่ได้ออกจากโรงพยาบาล (คือตายในโรงพยาบาล)

             นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยในการรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน 1 รายในโรงพยาบาลรัฐบาลจะอยู่ที่ประมาณ 46,000 บาท แต่ถ้าต้องฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจและรักษา ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มเป็นกว่า 150,000 บาท และมีค่าดูแลรักษาในปีแรกอีกกว่า 120,000 บาท

             ขณะที่การลดปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ (ก่อนป่วย) ช่วยยืดชีวิตคนอังกฤษได้มากกว่าการรักษาโรคหัวใจ (เมื่อป่วยแล้ว) ประมาณ 4 เท่า และผลจากการที่ผู้บริหารบริษัทมากมายในอเมริกาได้ลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยน พฤติกรรมสุขภาพให้แก่บุคลากรในองค์กรเพื่อลดโอกาสการเกิดโรคเรื้อรังพบว่า สามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและเพิ่มผลผลิตจากการไม่ขาดงานได้ถึง 700 ดอลลาร์/คน/ปี หรือประมาณ 400 ปอนด์ในประเทศอังกฤษ นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยเฉลี่ยอีกประมาณ 2.5 เท่า ช่วยลดการลาออกจากงานของบุคลากร 4 เท่า และช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมของบุคลากรอีก 3.5 เท่าด้วย

รักษ์หัวใจในที่ทำงานได้อย่างไร  


             สำหรับบุคลากรในองค์กร ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ
             กินให้ดี คือ กินพืชสด กินผักมากกว่า 2 ฝ่ามือต่อมื้อ ผลไม้สด 15 คำต่อวัน
                  ลดเกลือ หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูป อาหารปรุงแต่ง ไม่ควรกินน้ำปลาเกินครึ่งช้อนโต๊ะต่อมื้อ หรือหากกินเกลือโซเดียมน้อยลง 1 ช้อนโต๊ะ/วัน จะลดอุบัติการณ์โรคหลอดเลือดหัวใจได้ร้อยละ 6-9 และลดการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ร้อยละ 7-12
                  เนื้อน้อย เพราะทุกครั้งที่กินเนื้อสัตว์ปรุงแต่ง 50 กรัมจะเพิ่มโอกาสการเป็นโรคหัวใจถึงร้อยละ 37
                  ด้อยมัน หลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ ซึ่งมีมากในมาการีน (เนยขาว เนยเทียม) ขนมประเภทเบเกอรี อาหารทอดที่ใช้น้ำมันซ้ำ และลดการกินไขมันอิ่มตัว (ไขมันสัตว์)
                  น้ำตาลต่ำ กินน้ำตาลไม่เกิน 6-8 ช้อนชาต่อวัน โดยพยายามหลีกเลี่ยงการเติมน้ำตาลในอาหาร เครื่องดื่ม 

            
เดินให้ไว สมาคมหัวใจสหรัฐอเมริกาให้ข้อมูลว่า การออกกำลังกายด้วยการเดินเร็ว 1 ชั่วโมงจะทำให้อายุยืนขึ้น 2 ชั่วโมง แต่หากไม่มีเวลา ก็อาจจะใช้วิธีการเดินเร็วติดต่อกันครั้งละ 10 นาที โดยรวมเวลาแล้วควรเดินเร็วให้ได้ครึ่งชั่วโมงต่อวัน หรือเดินให้ได้ 9,999 ก้าวต่อวันโดยใช้เครื่องนับก้าว (pedometer)

            
หายใจช้า เพราะการหายใจช้ากว่า 10 ครั้งต่อนาทีเป็นเวลา 15 นาทีต่อวัน จะช่วยลดความดันโลหิตได้เท่ากับกินยาลดความดันโลหิต 1 ชนิด หรืออาจจะฝึกสมาธิ ซึ่งจะช่วยให้ลมหายใจช้าลงและคลายเครียด

            
สั่งลาพุง ชายไทยที่ใส่กางเกงเกินเบอร์ 36 นิ้วขึ้นไป หรือหญิงไทยที่ใส่กางเกงเอวใหญ่กว่า 32 นิ้ว ควรลดน้ำหนัก ลดรอบเอว ด้วยการลดอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล อาหารหวาน มันและอาหารทอด ออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น รวมถึงลดความเครียดและอารมณ์ซึมเศร้า ซึ่งเป็นสาเหตุของการกินอาหารแก้เครียด หรือการปล่อยตัวให้อยู่เฉยๆ โดยไม่ยอมขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว

             
มุ่งปรับพฤติกรรม เช่น หยุดสูบบุหรี่ ไม่ดมควันบุหรี่ อยู่ในที่อากาศบริสุทธิ์ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ควบคุมความดันโลหิตตัวบนไม่ให้เกิน 140 ตัวล่างไม่เกิน 90 มิลลิเมตรปรอท ควบคุมน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหาร 8 ชั่วโมงไม่ให้เกิน 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร


ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจากHealth Today



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์