3 ข้อเท็จจริงของ โรคอ้วน ที่ควรรู้

3 ข้อเท็จจริงของ โรคอ้วน ที่ควรรู้

3 ข้อเท็จจริงของ 'โรคอ้วน' ที่ควรรู้


บางคนเข้าใจว่า คนอ้วนทุกคนเป็นโรคอ้วน และเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วก็มักจะป่วยด้วยโรคหัวใจ โรคเบาหวาน หากอยากรักษาจริงจังก็แค่ไปหาหมอเพื่อขอผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร...เหล่านี้ เป็นความเข้าใจที่ยังไม่กระจ่างชัด


สำหรับข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคอ้วนจากงานสัมมนา "แพทย์เตือนภัย...หยุดภาวะโรคอ้วน กรณีศึกษาจากประสบการณ์จริง" โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่ง พญ.กัญชนา ง้าวสุวรรณ อายุรแพทย์ เผยคำจำกัดความของโรคอ้วน คือ ต้องอ้วนก่อนเป็นโรค อ้วนแล้วเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา และมีภาวะไขมันในร่างกายเกินภาวะปกติ


แต่คนที่ดูอ้วนใช่ว่าจะเป็นโรคอ้วนทุกคน เนื่องจากบางคนแค่มีลักษณะโครงสร้างกล้ามเนื้อมากเท่านั้น จึงทำให้น้ำหนักตัวมากนั่นเอง


ส่วนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคแทรกซ้อนของคนที่เป็นโรคอ้วน ไม่ได้มีเพียงแค่โอกาสเสี่ยงป่วยโรคหัวใจ โรคเบาหวาน เท่านั้น
โดย พญ.กัญชนา เตือนว่า คนอ้วนน้ำหนักเกินมาตรฐานมากๆ เสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บได้ตั้งแต่หัวจรดเท้า


พญ.กัญชนา ไล่เรียงว่า มีทั้งไมเกรน เส้นเลือดสมองอุดตัน หยุดหายใจขณะหลับ ความดันโลหิตสูง ปัสสาวะผิดปกติ เส้นเลือดดำบกพร่อง ไขมันสะสมในเส้นเลือด ภาวะไขมันเกาะตับ(ของเสียสะสม) กรดไหลย้อน โรคข้อและเข่า ซีสต์ในรังไข่ เสี่ยงมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับอ่อน มะเร็งไต ทั้งนี้ หากสามารถลดความอ้วนได้ โรคแทรกต่างๆ ก็มีโอกาสหายได้สูง


สำหรับตัวชี้วัดน้ำหนักว่าอยู่ในเกณฑ์ใด นิยมใช้ดัชนีมวลกาย หรือ BMI (คิดคำนวณโดยนำน้ำหนักเป็นกิโลกรัม หารด้วยความสูงเป็นเซนติเมตรกำลังสอง) ทั้งนี้ รศ.นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญภาควิชาศัลยศาสตร์ ระบุว่า การรักษาโรคอ้วน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มค่า BMI ไม่เกิน 35 จะใช้วิธีควบคุมปริมาณอาหาร ลดแป้ง น้ำตาลและไขมัน ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม


แต่ผู้ที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 40 หรือ มากกว่า 35 ร่วมกับมีโรคแทรกซ้อน
เช่น เบาหวาน ความดัน การรักษาจะใช้วิธีศัลยศาสตร์ ด้วยหลัก ‘ลดขนาดกระเพาะ’ และ ‘ลดการดูดซึม’ ซึ่งทำการผ่าตัดได้ 3 วิธี คือ ‘รัดกระเพาะ’ โดยใช้ซิลิโคนทางการแพทย์รัดส่วนต้นของกระเพาะอาหาร ทำให้อิ่มเร็ว ‘การตัดกระเพาะส่วนใหญ่ที่ขยายได้ออก’ ให้เหลือเป็นหลอดของกระเพาะอาหารแทน และ ‘การตัดลดขนาดกระเพาะอาหารและบายพาสลำไส้’ ทำให้กระเพาะมีขนาดเล็ก ส่วนการทำบายพาสช่วยให้น้ำย่อยและอาหารพบกันในระดับที่ไกลลงไปอีก 150 เซนติเมตร


หากอ้วนแล้วเสี่ยงป่วยสารพัดโรคอย่างที่กล่าวไปนั้น ไม่ปล่อยตัวให้อ้วนคงจะดีเสียกว่า.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์