จะเครียดไปใย มาหัวเราะพุงกระเพื่อมกับคลาสหัวเราะบำบัดดีกว่า

จะเครียดไปใย มาหัวเราะพุงกระเพื่อมกับคลาสหัวเราะบำบัดดีกว่า


การบำบัดความเครียดด้วยวิธีหัวเราะบำบัดกำลังได้รับความนิยมในหมู่ชาวฮ่องกงท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยความเครียด

นายดิ๊ก หยู วัย 35 ปี นักสะกดจิตบำบัด เจ้าของชมรมหัวเราะบำบัด 11 แห่งในฮ่องกงตั้งแต่ปี 2007 เปิดเผยว่า ชาวฮ่องกงไม่ค่อยหัวเราะ เนื่องเขามีชีวิตอยู่ท่ามกลางแรงกดดันที่ต้องหาเงินให้เยอะขึ้น เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

เขากล่าวว่า คนเดี๋ยวนี้วิตกกังวลง่ายขึ้น เนื่องจากโดนรุมเร้าด้วยปัญหาราคาบ้านแพง ค่าครองชีพสูงขึ้น และความมั่นคงในอาชีพการงาน

หยูก่อตั้งชมรมหัวเราะบำบัดแห่งแรกของฮ่องกงขึ้นเมื่อปี 2007  หลังจากเข้าค้นพบแนวคิดการบำบัดที่เรียกว่า"โยคะหัวเราะ" ซึ่งริเริ่มโดยมาดาน คาทาเรีย นักจิตวิทยาชาวอินเดีย เมื่อปี 1995 และนับตั้งแต่นั้นมา ก็มีชาวฮ่องกงจำนวนมาก ที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

หยูกล่าวหลังจากร่วมกิจกรรมบำบัดเป็นเวลา 1 ชม.ว่า การบำบัดด้วยการฝึกหัวเราะจะช่วยทำให้รู้สึกมีความสุขและทำให้มองโลกในแง่ดี และเรื่องต่างๆก็จะดีขึ้นเอง และกล่าวว่า เขายังมีแผนจะเปิดชมรมหัวเราะบำบัดให้แพร่หลายทั่วฮ่องกงโดยหวังว่าจะช่วยให้สังคมมีความสุขมากขึ้น

กลุ่มบำบัด ซึ่งประกอบด้วยประชาชนจากหลากหลายวัย จำนวนราว 30 คน ได้ผสมผสานการออกกำลังกายเข้ากับการสูดลมหายใจลึกตามรูปแบบโยคะ และการทำท่าทางแปลกๆเพื่อให้เกิดการผ่อนคลาย การกระทำเช่นนี้จะส่งผลกระทบด้านจิตวิทยาอย่างมาก กระทั่งทำให้ทราบได้ว่าใครกำลังแสร้งหัวเราะหรือมีความสุขจริงๆ

นักวิจัยต่างยืนยันคำกล่าวที่ว่า "การหัวเราะคือยาอายุวัฒนะที่ดีที่สุด" สอดคล้องกับผลจากงานวิจัยที่ระบุว่าการหัวเราะจนหน้าท้องกระเพื่อมเป็นผลดีต่อสุขภาพหัวใจ โดยช่วยขยายหลอดเลือดและทำให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น ลดฮอร์โมนความเครียด และกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

ผลการศึกษาของอังกฤษเมื่อปีที่แล้วชี้ว่า การหัวเราะเพียง 15 นาที ก็สามารถเพิ่มระดับของความทนทานต่อความเจ็บปวดได้ราวร้อยละ 10 เนื่องจากมันช่วยกระตุ้นให้มีการหลั่งสารแอนดอร์ฟีน ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาแก้ปวดตามธรรมชาติ

ด้านหนึ่งในผู้เข้ารับการบำบัดเปิดเผยว่า การพยายามแสร้งหัวเราะในช่วงแรกอาจเป็นเรื่องน่าเคอะเขินอยู่บ้าง แต่เมื่อฝึกไปได้สักครู่ก็จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น  ขณะที่อีกรายหนึ่งกล่าวว่า แต่เดิมเขาเป็นคนที่เครียดกับงานอย่างมาก เนื่องจากมีปัญหาสารพันรุมเร้า แต่คลาสบำบัดนี้ช่วยเขาได้มาก 

อย่างไรก็ดี เขาชี้ว่า นอกเหนือจากงานแล้ว ความเครียดของชาวฮ่องกงนั้น เกิดจากบรรยากาศภายในฮ่องกงเองเป็นตัวผลักดัน  เนื่องจากคนทั่วไปอาศัยอยู่ในบรรยากาศการแข่งขันสูง และเต็มไปด้วยกำแพงล้อมรอบอีกทั้งยังขาดทักษะการใช้ชีวิตร่วมกัน  เมื่อต้องพบปะกัน จึงไม่ทราบว่าจะแสดงสีหน้าอาการอย่างไร

ตามรายงานของสำนักโรงพยาบาล ระบุว่าตัวเลขผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดทางจิตในโรงพยาบาลของทางการฮ่องกงเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ระหว่างปี 2007 และ 2011 อยู่ที่ 184,087 คน  เช่นเดียวกับตัวเลขการฆ่าตัวตาย ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก เมื่อปี 2009 ที่พบว่าขึ้นมาอยู่ที่ 14.6 รายต่อประชากร 100,000 คน อันเป็นตัวเลขที่สูงกว่าสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย  แต่ต่ำกว่าเกาหลีใต้

ด้านนายพอล ยิพ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและป้องกันการฆ่าตัวตาย มหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวว่า ความสำเร็จด้านวัตถุ มีความหมายต่อชาวฮ่องกงมากกว่าการมีสุขภาพใจที่ดี ชาวฮ่องกงต่างตกอยู่ในสภาพเร่งรีบกับทุกเรื่อง ต้องทำงานหนักขึ้น แต่ไม่ใช่เพราะพวกเขาต้องการมัน แต่เพราะพวกเขาจำเป็นต้องเอาตัวรอด และแม้ว่าพวกเขาจะไม่มีความสุข พวกเขาก็หนีไปไหนไม่ได้

ด้านนายหยูเผยว่า เขาอยากให้ชมรมหัวเราะบำบัด มีสาขามากเท่ากับร้านสะดวกซื้อ ที่พบได้ในทุกชุมชน เพราะเขาเห็นว่า หากทุกคนหัวเราะ สังคมก็จะมีความสุขตามไปด้วย




เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์